‘เพื่อไทย’ปรับทัพ สู้สงครามสื่อ นักรบแอร์วอร์ ข้างกาย‘ นายกอิ๊งค์’
"พรรคเพื่อไทย" ปรับกระบวนทัพเพื่อสู้สงครามสื่อ เปิดขุนพล คีย์แมน นักรบ "แอร์วอร์" ข้างกาย นายกฯ "แพทองธาร ชินวัตร" ในห้วงที่รัฐบาลนายกฯ ชินวัตร ต้องเผชิญกับศึกสงครามสื่อทั้งบนดินและใต้ดิน
KEY
POINTS
- “พรรคเพื่อไทย” ปรับทัพสู้สงครามสื่อทุกสารทิศ มี 4 ขุนพล-คีย์แมนด้านการสื่อสารอยู่ข้างกาย "นายกฯ อิ๊งค์"
- "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รับบทที่ปรึกษาของนายกฯ มอนิเตอร์ประเด็นคลั่งชาติ ตอบโต้ทะลวงฟันทาง "แอร์วอร์"
- "จิรายุ ห่วงทรัพย์" โฆษกรัฐบาล รับบทบาทชี้แจงภาพลักษณ์รัฐบาลและนายกฯ เท่านั้น
- "จักรภพ เพ็ญแข" อีก 1 องคาพยพเดินสายออกสื่อมวลชนในบทบาท "นายแบก" พรรคเพื่อไทย
- “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” คีย์แมนภาพลักษณ์การสื่อสารให้กับ "แพทองธาร"ตั้งแต่เข้าสู่สนามการเมืองจนมาถึงตำแหน่งนายกฯ
- บททดสอบของ "นักรบแอร์วอร์" ข้างกายนายกฯ อิ๊งค์ ยังคงตั้งรับกับกระแสโจมตีนายกฯ ผ่านโซเชียลมีเดีย จนถูกวิจารณ์ว่ายังคงให้น้ำหนักกับเซเลปสายแบกพรรคเพื่อไทยในการตอบโต้ทางการเมืองเท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย ต้องลดลงอย่างน่าตกใจหลังสิ้นสุดผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยพ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งด้วย 151 เสียง ขณะที่ “พรรคเพื่อไทย” ได้ 141 เสียง
ส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารทางการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แม้ขณะนั้น “พรรคเพื่อไทย” ในช่วงโค้งสุดท้ายส่งไม้ต่อให้ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาหาเสียงนำทัพแทน “แพทองธาร ชินวัตร” ที่ตั้งครรภ์
“พรรคก้าวไกล” พลิกแซงโค้งสุดท้ายด้วย “พลังกระแส” จากคนทั่วประเทศผ่านการทำ “แอร์วอร์” ใต้ดินและะบนดิน ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและการปลุกกระแสพร้อมกันผ่านเวทีหาเสียงที่นำโดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น
คะแนนความนิยมของพรรคการเมืองผ่าน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อันดับ 1 ได้ 14,438,851 เสียง พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ได้ 10,962,522 เสียง
ยุทธศาสตร์การสื่อสารของ “พรรคเพื่อไทย” หลังได้ “แพทองธาร ชินวัตร” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และพ่วงด้วยเสียงท่วมท้นจากพรรคร่วมรัฐบาลที่หนุนส่งให้ขึ้น “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 31 จึงต้องเดินไปอย่างรัดกุม พร้อมๆ กับการตอบโต้หักล้างจากฝั่งตรงข้าม ที่เข้ามาทุกสารทิศ ทั้งจากศัตรูขั้วอำนาจเก่าและคู่แข่งที่เป็นอีกขั้วจากซีกฝ่ายค้าน และประเด็นที่ถูกพุ่งเป้าโจมตีอย่างมากก็มาจากโซเชียลมีเดียที่บั่นทอนคะแนนนิยมในระยาวได้
“พรรคเพื่อไทย”ยังเชื่อมือ เดอะเต้น "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ครั้งก่อนรับตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่เคยอยู่ตรงข้ามของพรรค 2 ลุง ทำให้ “เดอะเต้น”ต้องยุติบทบาทกับพรรคเพื่อไทย แม้เขาจะถูกร้องขอจาก “เศรษฐา ทวีสิน” ก็ตาม
“แพทองธาร” แต่งตั้ง “ณัฐวุุฒิ” เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567 ภารกิจทางการเมืองในทางลับเป็นที่รับรู้กันว่า “ณัฐวุฒิ” จะมาช่วยในเรื่องการสื่อสารทางการเมืองทั้งในภาพของ “รัฐบาลแพทองธาร” และ “พรรคเพื่อไทย”
เมื่อสำรวจองคาพยพขุนพลสื่อสารทางการเมืองข้างกาย "แพทองธาร" และ “พรรคเพื่อไทย”
"จิรายุ" โฆษก รบ.แจงภารกิจผู้นำ
ในภาพของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” ได้ “จิรายุ ห่วงทรัพย์” อดีต สส.กทม. พรรคเพื่อไทย เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มานั่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีในช่วงแรก ก่อนถูกแต่งตั้งเป็นโฆษกรัฐบาลในเวลาต่อมา
การเลือกใช้ “จิรายุ” หวังปิดช่องโหว่การสื่อสารของทีมโฆษกรัฐบาลที่เคยรั่วในสมัย “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน”
อย่างไรก็ตาม บทบาทโฆษกรัฐบาลของ “จิรายุ” ที่ผ่านมา เป็นการชี้แจงผลงานและภารกิจของผู้นำรัฐบาลให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า มากกว่าที่จะคอยตอบโต้ทะลวงฟันทางการเมือง ซึ่งต่างจากสมัยที่ “จิรายุ” เป็น สส.ในฐานะฝ่ายค้าน ซึ่งเคยฝากผลงานการอภิปรายด้วยฝีปากที่เชือดเฉือนฝั่งตรงข้าม
"ณัฐวุฒิ" มอนิเตอร์กระแสขวาจัด
ขณะที่บทบาทของ “ณัฐวุฒิ” ที่มีตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ แน่นอนว่าไม่มีเงินเดือนประจำตำแหน่ง
แม้ “ณัฐวุฒิ” จะเคยพูดผ่าน “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ใน“กรรมการข่าวคุยนอกจอ” ว่า “กลืนเลือด กลืนทุกอย่าง เพียงแต่สิ่งที่เรียกว่าต้องกลืนสารพัดอย่าง มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเป็นจริงทางการเมือง”
แต่ “ณัฐวุฒิ” ก็อาศัยความเป็นนักพูดและนักสื่อสารทางการเมือง ออกหน้าเป็นหน่วยองครักษ์พิทักษ์ “แพทองธาร” ผ่านโซเชียลมีเดียในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยเลือกเน้นประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับกระแสที่อาจจะเป็นชนวนนำไปสู่การล้มรัฐบาลในอนาคตได้
โดยเฉพาะประเด็นขวาจัดชาตินิยม ที่ฝั่งตรงข้ามปลุกกระแสออกมาหลายระลอกหวังล้ม “นายกฯ อิ๊งค์” ผ่านประเด็น “เอ็มโอยู 44” ปมกระแสชาตินิยมพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทยและกัมพูชา
“สิ่งที่โลกอยากรู้และต้องการเห็น คือ 2 ประเทศจะบรรลุข้อตกลง นำทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเลมูลค่ามหาศาลกว่า 10 ล้านล้านบาทมาใช้ประโยชน์หรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่พิพาทสู้รบชิงดินแดน เพิ่มอุณหภูมิในภูมิรัฐศาสตร์ ทำลายบรรยากาศและความเชื่อมั่นในภูมิภาค ผมเชื่อว่าสังคมไทยมีประสบการณ์ อ่านขาดว่าเรื่องนี้คือการเมืองของฝ่ายขวาสุดขอบ ซึ่งรัฐบาลยังต้องรับมืออีกหลายขนาน” ณัฐวุฒิ เดินเกมโต้ผ่าน “แอร์วอร์”
อีกขาของ “ณัฐวุฒิ” ยังช่วย “พรรคเพื่อไทย” ปลุกกระแสความนิยมผ่านเวทีเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี เมื่อเขาได้รับบทบาทเป็นครั้งแรก เคียงข้าง อดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย
การรับบทบาทช่วยงานพรรคเพื่อไทยครั้งนี้จึงไม่ต่างจากที่ “ณัฐวุฒิ” เคยช่วย “พรรคเพื่อไทย” หาเสียงเมื่อการเลือกตั้งปี 2566 การขับเคลื่อนงานพรรคเพื่อไทย สามารถรักษากระแสให้ นายก อบจ.อุดรฯ ยังเป็นของ “เพื่อไทย”
"จักรภพ" ออกสื่อรับบทนายแบก พท.
ส่วนองคาพยพอีกขาที่ช่วย “พรรคเพื่อไทย” ปรากฏชื่อ “จักรภพ เพ็ญแข” อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ
ภารกิจล่าสุดของ “เอก จักรภพ” เพิ่งช่วยพรรคเพื่อไทยจัดทัพปลุกกระแสพื้นที่ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ ผ่านการบรรยาย "เสวนาการเมืองไทยในปัจจุบัน และแนวทางการพัฒนาการเมือง"
บทบาทของ “จักรภพ”ในห้วงที่เขากลับมาประเทศไทย คือการช่วยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ในการเดินสายให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน เป็นอีกกระบอกเสียงในการหักล้างทุกสารพัดสงครามข้อมูลข่าวสารที่พุ่งโจมตี ดิสเดรดิต “รัฐบาลแพทองธาร”และ “พรรคเพื่อไทย”
รวมทั้ง “จักรภพ” ยังออกสื่อมวลชนสำนักต่างๆ โดยเน้นให้ข้อมูลเชิงวิชาการและวิพากษ์นโยบายของพรรคการเมืองคู่แข่งอย่าง “พรรคประชาชน” ไม่ให้เติบโตไปมากกว่านี้ ผ่านวาทกรรม “ความขัดแย้งสีเสื้อ” จาก “เสื้อแดง” ไปสู่ “เสื้อส้ม” และดีเบตนโยบายที่แตกต่างกันของ 2 ค่าย
"หมอเลี้ยบ" คีย์แมนภาพลักษณ์ "อิ๊งค์"
ทั้งนี้ ขุนพลแอร์วอร์ข้างกายนายกฯ อิ๊งค์ อีกคนที่ถูกเลือกใช้ข้างกาย “นายกฯ ชินวัตร” นั้น ยังมี “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่เบื้องหลังการสื่อสารของ “แพทองธาร” ตั้งแต่เป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย จนมาถึงหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
ทีมงานหมอเลี้ยบ จะมีทีมงานสื่อสารที่ใช้ชื่อว่า “นาตาชา” คอยดูแลภาพลักษณ์การสื่อสารของ “นายกฯ อิ๊งค์”
บททดสอบการสื่อสารของนายกฯ ล่าสุดกลับถูกโจมตีผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเวที “Forbes Global CEO Conference” เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2567 ซึ่งถูกวิจารณ์ถึงการตอบคำถามของนายกฯ ยังไม่มีความพร้อม ที่จะสื่อสารให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นประเทศไทยได้
ว่ากันว่า ทีมสื่อสาร “ขุนพลห้องแอร์” ของ “หมอเลี้ยบ” เป็นทีมอยู่ร่วมทำงานกับนายกฯ อิ๊งค์มาตั้งแต่ก้าวเข้าสู่สนามการเมือง
นอกจากนี้ ยังได้ พิธีกรนักพูดของ“วอยซ์ทีวี” มีบุคลากรคนข่าวของ“วอยซ์ทีวี”บางส่วน อยู่เบื้องหลังทีมนักรบ“แอร์วอร์”ชุดนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาพการตอบโต้ชี้แจงประเด็นที่ถูกโจมตีผ่านโซเชียลอย่างหนัก “ทีมขุนพลแอร์วอร์” กลับเลือกใช้วิธีการตอบโต้ผ่านเซเลปนายแบก นางแบกของพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ “ทีมโฆษก” หน้าฉากรัฐบาล กลับเลือกนิ่งเฉยที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์นายกฯ ในประเด็นโซเชียลฯ
เป็นเรื่องที่น่าบังเอิญ การปรับทัพสู้ศึกสงครามข้อมูลข่าวสารในรูปแบบ “แอร์วอร์”ของพรรคเพื่อไทย กลับปรากฎ 4 โฆษกรัฐบาลอยู่ในองคาพยพเดียวกัน
เมื่อ“จิรายุ” คือโฆษกรัฐบาลคนปัจจุบัน อีก 3 คน คือ “จักรภพ” เคยเป็นอดีตโฆษกรัฐบาลในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยแรก “นพ.สุรพงษ์” เป็นอดีตโฆษกรัฐบาลทักษิณ สมัยสอง และ “ณัฐวุฒิ” เคยเป็นโฆษกรัฐบาลเพียงสั้นๆ ในช่วงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์
อีกคนสำคัญในองคาพยพทีมสื่อสาร คือ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เล่นบทโฆษกประจำตัวลูกสาว สื่อสารทั้งเรื่องการบ้าน การเมือง เรื่องนโยบายรัฐบาลต่างๆ ผ่านเวทีหาเสียงท้องถิ่น ผ่านสื่อทั้งในประเทศ สื่อต่างประเทศ เพื่อปกป้องนายกฯอุ๊งอิ๊งค์ ที่อยู่ระหว่างสั่งสมบารมีทางการเมือง