ชง 'คลัง' ขอบริหารกองทุนอีอีซี
เร่งตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาชุมชนใน 3 จังหวัด ดูแลชุมชน 11 ด้าน หารือกระทรวงการคลังให้ กพอ.บริหารจัดการกองทุนฯ เพื่อความคล่องตัว พร้อมเร่งผลิตบุคลากรรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คาดภายในปี 2573 ต้องการแรงงานเพิ่มกว่า 1 ล้านคน
นายณัฐวุฒิ พงศ์สิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สายงานเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ (กอพ.) ได้เร่งตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเป็นกองทุนอีอีซี สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอีอีซี ใน 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ ในขั้นต้นกองทุนฯ จะขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 1,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรงบประมาณในเบื้องต้นแล้ว 100 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบกลางประจำปี 2562 อีก 900 ล้านบาท
สำหรับ กองทุนฯ จะนำมาใช้จ่ายเพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุน 11 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขภาพ และสุขภาวะ 2.ด้านการพัฒนาอาชีพ 3.ด้านการพัฒนาการเกษตร 4.ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 5.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต 6.ด้านการพัฒนาการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น 7.ด้านการพัฒนาชุมชน 8.ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 9.ด้านการใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน และช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน 10.ด้านการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุน 11.โครงการและแผนงานอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน
สำหรับ รายได้ของกองทุนฯ ประกอบด้วย 1.เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ 2.เงินบำรุงที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและกิจการที่เกี่ยวเนื่องในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษต้องส่งเงินบำรุงกองทุนตามอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย
3.เงินสมทบจากรายได้ของสำนักงาน หรือผลประโยชน์อันได้มาจากการลงทุน การประกอบกิจการ หรือการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของ สกพอ. 4.เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ 5.เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน และ 6.ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน โดยเงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
ห่วงกองทุนขาดความคล่องตัว
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนอีอีซี ยังติดปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ได้กำหนดชัดเจนในส่วนของอำนาจการบริหารกองทุน โดยทำให้กองทุนอีอีซี จะต้องอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะทำให้การดำเนินการจัดการกองทุนฯขาดความคล่องตัว ดังนั้นจึงได้เข้าไปหารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อหาทางออกในปัญหานี้
โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่ากองทุนนี้จะต้องออกเป็นกฎหมายหรือไม่ มีตัวอย่างคือกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน หรือออกเป็นระเบียบของสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายเงินกองทุนมีความคล่องตัว คาดว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้
“หากกองทุนอีอีซีอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน จะทำให้การดำเนินการยากลำบากขาดความคล่องตัว เพราะกองทุนนี้จะต้องเบิกจ่ายได้รวดเร็วตามความต้องการของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ หากรอให้คณะกรรมการนโยบายการบริหารกองทุนหมุนเวียนพิจารณา จะใช้เวลานานมาก ไม่ทันต่อความต้องการของชุมชน”
อีอีซีต้องการแรงงาน1ล้านคน
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็คือการสร้างบุคลากรรองรับการขยายตัวของ อีอีซี โดยจากการประเมินพบว่าในขณะนี้จนถึงปี 2573 ในพื้นที่ อีอีซี ต้องการบุคลากรใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 1.09 ล้านคน แบ่งเป็น อุตสาหกรรมดิจิทัล 2.8 แสนคน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 9.6 หมื่นคน ด้านโลจิสติกส์ 9.05 หมื่นคน อุตสาหกรรมการบินและชิ้นส่วน 5.8 หมื่นคน อุตสาหกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพ 9.5 หมื่นคน อุตสาหกรรมชีวภาพ 1.5 หมื่นคน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 5.5 หมื่นคน อุตสาหกรรมอาหาร 4.5 หมื่นคน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5.6 หมื่นคน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3 แสนคน
ทั้งนี้ในการสร้างบุคลากร อีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากรด้านอาชีวะศึกษาให้ได้ 115,626 คน ภายในปี 2565 โดยได้ให้มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นศูนย์กลางในการดูแลพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวะ ร่วมกับภาคเอกชนและรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ก็คือโครงการ “สัตหีบโมเดล” ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบได้พิสูจน์มาแล้วเป็นแนวทางผลิตบุคลากรอาชีวะได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งได้มีวิทยาลัยอาชีวะเข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 12 แห่ง มีเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากรให้ได้ 6 หมื่นคนต่อปี รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับ บริษัท เพียร์สัน จากอังกฤษ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรอาชีวะสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในการรองรับการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ได้มาตรฐานสากล
พัฒนาบุคลากรชั้นสูง4สาขา
ส่วนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยชั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จากสหรัฐ ตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร และงานวิจัยพัฒนาในมาตรฐานโลก บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ตั้งมหาวิทยาลัยอมตะ เปิดหลักสูตรวิศวกรรมการผลิตอัจฉริยะ และสถาบันวิทยสิริเมธี หรือวิสเทค เพื่อผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีป้อนให้กับอุตสาหกรรมชั้นสูงใน อีอีซี โดยมีอยู่ 4 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาวัสดุศาสตร์ และวิศวกรรมวัสดุ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งนักวิจัยเหล่านี้สามารถต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เชิงพาณิชย์ได้อีกมากในอนาคต
“แนวทางการผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในพื้นที่ อีอีซี ทำให้มั่นใจว่าจะผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมชั้นสูงที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคต และยังเป็นการสร้างฐานความรู้ให้กับประเทศไทย เพื่อยกระดับการผลิตไทยไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูง”