เกมเศรษฐี ทีวีดิจิทัล เขย่าเรตติ้งช่องเก๋า

เกมเศรษฐี ทีวีดิจิทัล เขย่าเรตติ้งช่องเก๋า

5 ปีของเวลาประกอบกิจการ ทีวีดิจิทัลอายุสัญญา15 ปี ออกสตาร์ท ช่องเก่า เก๋าประสบการณ์ เก่งคอนเทนท์ลุยตลาดไม่ยั้ง! ทว่าช่วงเวลาจากนี้ ได้เวลาเศรษฐีทุนหนา เร่งเทงบลงทุน ประกาศศักดา ชิงเวลาคนดู ยื้อตำแหน่ง ท็อป 5 !! สะเทือนเรตติ้งช่องเก๋า

เข้าขวบที่ 5 ของอุตสาหกรรม ทีวีดิจิทัล มีผู้ประกอบการ “แกร่ง” ยืนหยัดในสมรภูมิจอแก้ว โกยเม็ดเงินโฆษณากว่า 6.7 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ และกำไร พาธุรกิจอยู่ในจุด “คุ้มทุน” แต่จำนวนไม่น้อยยังเผชิญวิบากกรรมรอบด้าน แบกต้นทุนค่าใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลสูง ค่าโครงการข่ายส่งสัญญาณ(มัค) การลงทุนด้านรายการหรือ Content ตลอดจนการจ้างพนักงาน รวมๆเป็นต้นทุน “มหาศาล”

เหลียวลังก่อนแลหน้า ทีวีดิจิทัล 5 ปีแรก แทบจะเป็นเวทีของผู้เล่น เก่าเก๋าประสบการณ์” ความเจนจัดในตลาดมานานทำให้ผลิตคอนเทนท์ปังๆ สะกดคนดู ฝ่ากระแสดิจิทัลได้ทั้งเจ้าตลาดอย่าง ช่อง 7 ช่อง 3 รักษาบัลลังก์เบอร์ 1 และ 2 ได้อย่างเหนียวแน่น “โมโน 29-เวิร์คพอยท์-ช่อง 8-ช่องวัน 31” สรรหาคอนเทนท์โดนใจคนดู ขับเคี่ยวแย่งเรตติ้งกันสลับขึ้นลง

ปี 2562 ถึงเวลา เกมเศรษฐี” ออกกระบวนท่า เพราะเปิดศักราชปีหมู “ทรูโฟร์ยู(True4U)ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) อมรินท์ทีวี ของเจ้าสัวน้อย ฐาปน สิริวัฒนภักดี ช่อง วัน31” ของทายาทหมื่นล้าน ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ” และ พีพีทีวี36” ของ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” หรือหมอเสริฐ ต่างตบเท้าเล่าแผน อวดผังรายการกันคึกคัก

**ได้เวลาเกมเศรษฐี

เมื่อโยนคำถามนี้แก่ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริการสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 บอกว่า อย่าดูเบา ผู้เล่นรายอื่น เพราะการทุ่มงบลงทุนมโหฬาร ไม่ได้มีแค่พีพีทีวี ที่ควักเงิน 2,000 ล้านบาท ผลิตคอนเทนท์ แต่ ช่องหลัก” และช่องรองแน่วแน่ลงทุนไม่แพ้กัน

ทีวีดิจิทัลเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุน และหลายบริษัทที่เข้ามาแข่งขัน ก็ลงทุน การเทพันล้านไม่ใช่เรื่องแปลก  

ความน่าสนใจของ “ทุนเศรษฐี” เจ้าบุญทุ่มอย่างพีพีทีวี คือเดินกลยุทธ์ ทางลัด” แจ้งเกิดช่องหวังโกยเรตติ้ง เม็ดเงินโฆษณาโดยเร็ว เพราะตอนนี้จะ 5 ปี หรือ 1 ใน 3 ของระยะเวลาใบอนุญาตประกอบกิจการ หากปล่อยให้ “ขาดทุน” ต่อเนื่อง ไม่ดีต่อธุรกิจ และความมั่งคั่งของอาณาจักร “หมอเสริฐ” เป็นแน่

ที่ผ่านมาจึงเทงบที่อุบเป็น “ความลับ” ดูดรายการดังจากช่องต่างๆเพียบ เช่น กิ๊กดู๋สงครามเพลงเงินล้าน จากช่อง 7 ก่อนบ่ายคลายเครียด จากช่อง 3 ซึ่งอยู่มานานร่วม 2 ทศวรรษ จากก่อนหน้าดึงเดอะ วอยซ์ ไทยแลนด์ ซีซั่น 7 และเดอะ เฟซ เมน ไทยแลนด์ ซีซั่น 2 จากช่อง 3 มาออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ 

ถูกมองใช้ขุมกำลังเงินคว้ารายการมา “สุรินทร์” ขอแจงเป็นเกมธุรกิจทั่วไปที่ 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องการร่วมงานกัน เพื่อเติบโต อย่างผู้จัดรายการ ละคร ต่างมองหา “โอกาส” ในการทำงาน ให้น้ำหนักผู้บริหารที่มีประสบการณ์ พูดคุยกันเข้าใจและต้องตอบโจทย์ความต้องการได้ด้วย ส่วนผลลัพธ์ได้รายการ คนดูรู้จัก” ในวงกว้าง(Mass)เป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ทำให้ผู้บริโภคยอมกดรีโมทดูและเฝ้าหน้าจอ นำให้ “เอเยนซี่” หรือเหล่าลูกค้ายอมควักเงินซื้อโฆษราในช่วงเวลารายการยอดนิยมออกอากาศตรึงคนดูกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

ไม่มีรายการดัง ก็ตอบโจทย์การขายโฆษณาไม่ได้

ใช้เงินเปย์หนัก ปี 2562 ยังเป็น “ก้าวใหญ่” หรือ Go Big ของพีพีทีวี ทำหน้าที่ผลิตคอนเทนท์เอง โดยเฉพาะ ละคร จากเดิมซื้อลิขสิทธิ์กีฬาดังทั่วโลก รวมถึงซื้อรูปแบบรายการ(Format)จากต่างประเทศมาผลิตออกากาศ 

ละคร เป็นคอนเทนท์ที่ตอบจริตคนดูส่วนใหญ่ ยังเป็นกุญแจความสำเร็จของคนทำทีวีด้วย ถ้ามีเรื่องใดปัง! คอนเทนท์และช่องจะถูกพูดถึงเป็น Talk of The Town ได้ แถมอาจถูกจับจ้องในเรื่องต่อๆไปได้  ปี 2562 พีพีทีวี แบ่งเงิน 500 ล้านบาท มาผลิตละคร 10 เรื่อง ออกอากาศได้ราว 5-6 เรื่อง ส่วนเวลาออกอากาศต้องดูจังหวะให้ดี ช่องอื่นมีกระแสอะไร จัดผังอย่างไร จะชนตรงๆหรือเลี่ยงกันต้องติดตาม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีช่องจำนวนมาก 22 ช่อง ตัวเลือกของคอนเทนท์ไม่ได้แตกต่างจนดึงคนดู แต่เป็นคอนเทนท์ Me too Syndrome เกร่อเต็มไปหมด

 ละคร 10 เรื่องที่พีพีทีวีผลิตปีนี้ เช่น วุ่นรักนักข่าว นำแสดงโดย แอนดริว เกร็กสัน และ นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี จากค่าย ทีวี ธันเดอร์, ฝ่าดงพยัคฆ์ ​นำแสดงโดย น้ำหวาน-รักษ์ณภัค วงศ์ธนทัศน์ และ แมน-ธฤษณุ สรนันท์ ของค่าย กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส, กลับไปสู่วันฝัน นำแสดงโดย ออย-ธนา สุทธิกมล, สมาร์ท-กฤษฎา พรเวโรจน์ และ กิ๊ฟ-สิรินาถ สุคันธรัต จากค่าย CHANGE 2561 เป็นต้น

จัดใหญ่ขนาดนี้ พีพีทีวี แกร่งพอไหม สุรินทร์ บอกว่า “ไม่แน่ใจว่าแข็งแกร่งแค่ไหน แต่ดูดีขึ้น” เพราะนอกจาก “เงินทุน” ต้องยอมรับว่า “ฝีไม้ลายมือ” ของเขาไม่เป็นรองใคร เคยฝากผลงานที่ช่อง 3 มาพักใหญ่ ได้ พลากร สมสุวรรณ อดีตขุนพลช่อง 7 มาร่วมทัพ ยิ่งช่วยขบคิดกลยุทธ์วางหมากให้ปึ้ก

ปีนี้ พีพีทีวีหวัง “โชค” ช่วยดันเรตติ้งขึ้น “Top 5” จากปี 2561 อยู่อันดับ 12 เรตติ้ง 0.164 เป้าหมายท้าทายว่าจะทำได้หรือไม่ แต่สูตรคว้าชัยบนสมรภูมิทีวีดิจิทัลบอกเลยว่า จะชนะได้ ต้องมาจากคอนเทนท์อย่างเดียว” 

**พึ่งพลังเครือเสริมแกร่ง

กว่า 4 ปีของช่อง ทรูโฟร์ยู” (Tru4U) อาจไม่ออกอาวุธมาก เพราะไม่พร้อม จึงนำหนัง กีฬา เจาะคนดูเฉพาะ(Niche market) ซึ่งไม่ใช่เกมที่ดีสำหรับทีวีที่เป็นตลาด “ใหญ่”หรือMass แต่ปัญหา(Pain point)ด้านคอนเทนท์ยังไม่มีเพียงพอ ขาดความต่อเนื่องในการออกอากาศบางเวลา ทำให้ต้องเดินเกมแบบนั้น แต่ปีนี้ ได้เวลาลุกแลกหมัดกับคู่แข่ง เมื่อช่องใช้กลยุทธ์ผนึกกำลังหรือ Synergy ทรูคอร์ปอเรชั่น” ที่เชื่อว่าเป็น “แต้มต่อ” สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในสังเวียนเดียวกัน

จุดแข็งที่ทรูคอร์ปอเรชั่นมีมากมาย เช่น คอนเทนท์ แพลตฟอร์มสื่อ การสื่อสารโทรคมนาคม ฯเรียกว่าโครงการพื้นฐาน(Infrastructure) มีพร้อมให้ทรูโฟร์ยูหยิบไปใช้ ยิ่งถ้านับฐานลูกค้า แค่ขายกาแฟ “ทรูคอฟฟี่” 127 สาขา ผู้ใใช้ทรูมูฟกว่า 20 ล้านเลขหมาย ไลน์ทรูมูฟมีผู้ติดตาม 57 ล้านรายทรูไอดีมีผู้ชมกว่า 33 ล้านวิวต่อเดือน อีกสารพัด รวมเข้าถึงลูกค้าเหนาะๆ 40 ล้านราย กลายเป็น “สูตรใหม่”(New Formula)ให้ทรูโฟร์ยูทำตลาด แทนสูตรทำทีวีเดิมๆ

นอกจากผนึกเครือ ยังผนึกพันธมิตรจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ “ซีเจ อีเอ็นเอ็ม” สตูดิโอดังจากเกาหลี มีทีวีในมือกว่า 10 ช่อง ร่วมผลิตคอนเทนท์ทั้งสร้างใหม่ และดึงฟอร์แมทรายการดังจากแดนกิมจิมาออกอากาศ ความพร้อมเหล่านี้ ยังทำให้ ทรูโฟร์ยู เลือกเดินเกม “สร้างช่วงเวลาไพรม์ไทม์” ใหม่ด้วย

อดีตทีวีมี 4 ช่องใหญ่ เจ้าของช่องเป็นฝ่ายกำหนดเวลาไพรม์ไทม์ แต่ตอนนี้คนดูเป็นคนกำหนดนาทีทองอภิชาติ์ หงษ์หิรัญรืองกรรมการผู้จัดการ ทรูโฟร์ยู ช่อง24 และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด บอกและวิเคราะห์แต่ละสถานี แทบไม่มีใครสามารถกอดเวลาไพรม์ไทม์ไว้เพียงรายเดียว กลับกัน ตลาดเริ่มเห็น “รายการดัง” เป็นแม่เหล็กสะกดคนดูได้ พ่วงการทำให้เกิดเวลาทำเงินใหม่ๆ

ตลาดเปลี่ยน ทรูโฟร์ยูจึงปรับ ระดับเศรษฐีออกรบ ควักงบ 800-1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เพื่อผลิตคอนเทนท์ โดยเฉพาะ “ละคร” ต้องมีเติมและสม่ำเสมอตอบจริตคนไทย จากมีสารพัดกีฬา ฟุตบอล มวย วอลเล่บอลฯ เป็นจุดขาย โดยงบดังกล่าวยังไม่รวมกับงบด้านคอนเทนท์จากการซีนเนอร์ยีทรูฯ ซึ่งได้กีฬาคู่เด็ดจากทรูวิชั่นส์ รวมถึงฟุตบอลไทยลีก ถ้าทุ่มทุนซื้อลขสิทธิ์มาถ่ายทอดต้องมี “พันล้านบาท”

เราไม่ประนีประนอมการลงทุนในปีนี้ การลงทุนคอนเทนท์ยาวๆ (Long form content)คนอื่นจะยากกว่าผม ทำแล้วอาจไม่กำไร เรายังมีช่องทรูวิชั่นส์ที่มีทีวีกว่า 100 ช่อง ให้ทำงาน แชร์คอนเทนท์กัน ซึ่งฟรีทีวีอื่นทำแบบผมไม่ได้แน่นอน

คอนเทนท์พร้อม จึงเขย่า “ผัง” รายการ ผุดไพรม์ไทม์ใหม เช่น ช่วงเวลากลางวัน หรือ Happy Daytime เย็นๆ เป็น Lucky time 20.00-23.00 น.เป็นวาไรตี้ เรียลติตี้ไทม์ และช่วงหนัง หากเกิดสมใจ เรตติ้งดี โอกาสโกยเงินโฆษณาย่อมตามมา จากแบบเดิมเช้าเป็นรายการเด็ก ก่อนเที่ยงเป็นรายการอาหาร เย็นละคร แล้วถ้าแข่งไพรม์ไทม์เวลาเดิมๆคือ 18.00-20.20 น.และ 20.21-22.30 น.เหนื่อยสู้ “ขาใหญ่” ที่ครองใจและมีฐานผู้ชมทั่วประเทศ ส่วนผังรายการคร่าวๆ จันทร์-อังคาร ส่งละครดรักราม่า ลงจอ พุธ-พฤหัสบดี เป็นละครแต่ฉีกแนวใหม่ ทั้งสืบสวนสอบสวน จับกลุ่มผู้หญิงเพราะเป็นคนดูทีวีตัวจริง ศุกร์ เอาใจผู้ชายด้วยมวย หนัง เสาร์-อาทิตย์ ส่งรายการไลฟสไตล์ และวาไรตี้จับครอบครัว

ส่วนคู่แข่งในตลาดเห็นบางช่องเลือกลง ละครมาราธอน นำละครช่วงไพรม์ไทม์ฉายซ้ำยาวช่วงกลางวัน ส่วนหนึ่งเป็นกลยุทธ์สะกดคนดู อีกส่วนคือการใช้เวลาให้เกิดประสิทธิภาพ(Utilize)นั่นเอง   

เศรษฐีทุนหนาพร้อมขนาดนี้ ธีรศักดิ์ อรุณเริ่มวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่ม ด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นมือการตลาดและจะมาสร้างแบรนด์ช่องทรูโฟร์ยูให้เกิด หวังมากจะขยับช่องขึ้นที่หนึ่งในใจคนดู(Top of mind) โกยเรตติ้งติด Top 10 จากทั้งปี 2561 อยู่ที่ 13 ธุรกิจคุ้มทุนใน 3-5 ปี แต่ยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะประเมินอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลแล้ว ช่องที่อยู่ได้ “ไม่น่าเกิน 6 อันดับแรก” 

เอเยนซี่ซื้อโฆษณายอมจ่ายเงินให้แค่ 6 ช่องแรก ที่เหลือจะอยู่ได้ไง แต่เราอยู่ได้” นอกจากสายป่านยาว 50%ของเม็ดเงินโฆษณาของช่องยังเป็นสินค้าของเครือที่คอยเปย์ด้วย

อีก 2 ทุนเศรษฐีใหญ่ คือช่องวัน 31 ของ ปรมาภรณ์” ลูกเศรษฐีหุ้นไทย ปีนี้จัดเต็มเช้าจรดค่ำ ทั้งข่าวมีผู้ประกาศดังเสริมทัพเพียบ จากเดิม “จั๊ด ธีมะ” เป็นแม่เหล็กจนครองเบอร์ 1 ในใจคนดู เติมด้วยละคร รายการวาไรตี้ เพลง เจาะคนเมือง และค่อยๆซึมเจาะภูธรด้วยละครลูกทุ่ง

ส่วนอมรินทร์ทีวี 34 ของ เจ้าสัวน้อย ฐาปน” ปีนี้ลุยละครเช่นกัน โดยซีนเนอร์ยี กิจการที่ตนเข้าไปถือหุ้นอย่าง เชนจ์ 2561” ที่มี พี่ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ทำหน้าที่บริหาร เตรียมผลิตละครป้อนดันให้ช่อง Mass ขึ้น

**ใหญ่ VS เก๋าเกมคอนเทนท์

เป็นเกมเศรษฐีมานานแล้ว และเป็นทั้งโลก มุมมองจาก ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เหตุผลเพราะธุรกิจทีวีดิจิทัล ผู้เล่นแต่ละรายควักเงินกันมหาศาลเป็นร้อยล้าน พันล้าน เพื่อผลิตและสรรหาคอนเทนท์มาป้อนทางสถานีดึงคนดู และเกมเศรษฐีไม่ได้เกิดแค่วงการทีวีดิจิทัล แต่เป็นเกือบทุกธุรกิจ ยิ่งกลุ่มเทคโนโลยีและดิจิทัล เช่น เน็ตฟลิกซ์ วิดีโอออนไลน์ ใช้เงินเป็นหมื่นล้านขับเคลื่อนธุรกิจ เป็นต้น

เมื่อธุรกิจต้องแข่งขัน ทำให้เศรษฐีกระเป๋าหนัก เทเงินจากหน้าตักลงทุนคึกคักตั้งแต่ต้นปี แต่เกมโกยเงินโฆษณาผ่านจอแก้วไม่ง่าย รายใหญ่มีเงินทุ่มไม่อั้น ถ้าอุตสาหกรรมไปต่อได้ ถือว่าดี แต่ถ้าไปไม่ไหว อาจทำให้อยู่กันลำบาก เพราะท้ายที่สุดแล้วธุรกิจต้องทำ “กำไร” สำคัญมาก

ทีวี 22 ช่อง แต่ 5 ปีมานี้มีเพียง 3 ช่องเก๋าเกมพอโกย “กำไร” ประคองธุรกิจให้ไปได้ ดังนั้นทุนเศรษฐีมา จึงไม่หวั่น เพราะสงครามนี้เหลือเวลาห้ำหั่นกัน 24 ชั่วโมง 365 วัน เป็นเวลาอีก 10 ปี

ความท้าทายของเวิร์คพอยท์ เราจะทำกำไรให้มากสุดเท่าที่จะทำได้ การมองกำไรเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเขาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจดาวรุ่งอย่างดิจิทัล เริ่ม “ปิดตัว” กันโครมๆ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ต้องการเข้าถึงคนหมู่มาก(Reach) ทำให้ต้องเผาเงินเพื่อดึงคนเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม มันโหดร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ การทำกำไรจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก หากธุรกิจมไม่ทำกำไร มันทรมาน(Suffer) เพราะต้นทุนคงที่โต ส่งผลกระทบต่อพนักงานอีกทอด

กลยุทธ์ปีนี้ เวิร์คพอยท์จะขยายตลาดให้เร็ว ผลิตคอนเทนท์ใหม่ปรับรายการเดิมร่วม 10 รายการ ตอบโจทย์คนดูและลูกค้า กระจายคอนเทนท์เจาะแพลตฟอร์มให้มากสุด เช่น วิว ยูทูป ไลน์ทีวีฯ บุกตลาดต่างประเทศแถบอาเซียน ไปไกลยังยาก เพราะเดินสายมายังถูกนักลงทุนถาม ประเทศไทยอยู่ส่วนไหนของโลก

ส่วนการรักษา “กำไร” นำสล็อตเวลาระหว่างวันว่าง 100-120 นาทีต่อวันไปใช้ โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการสินค้าลุย “ทีวีชอปปิง” นอกจาก Utilize เวลาได้ดี ยังทำเงินได้มาก จากทดลองขายสินค้าเกือบเดือน ยอดเข้ามาราว 1 ล้านบาทต่อวัน และสินค้าไหนปัง! ยอดขายจะวิ่งเร็วกว่านี้

ไม่พอ ยังผนึกผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พี่เบิ้มวงการอาหาร เช่น เซ็นคอร์ปอเรชั่น ทำตลาดเครื่องปรุงอาหารต่างๆด้วย ซึ่งกิจการไหนที่สามารถโกยเงินโฆษณาได้ บริษัทจะลุยหมด โดยใช้สื่อในมือเป็นเครื่องมือโปรโมทแบรนด์ สื่อสารการตลาดจับกลุ่มเป้าหมาย

“การแข่งขันทีวีดิจิทัลรุนแรงมาก การทำตลาดมีเรื่องเดียว ใครยึดเวลาคนดูได้มากสุด คนนั้นชนะ จะเพย์ทีวี ฟรีทีวี สื่อดิจิทัลล้วนต้องแย่งเวลาคนให้ได้”

ที่ผ่านมาเวิร์คพอยท์สามารถโกยเรตติ้งเป็นเบอร์ 2 เขี่ยช่อง 3 ตกอันดับสั้นๆ แต่ ชลากรณ์ยังยืนยันว่า การบาลานซ์กำไร สำคัญกว่าเรตติ้ง และปี 2562 จึงหวังว่ากำไรปีนี้จะมากกว่าปี 2561 ซึ่ง 9 เดือนทำได้แล้ว 422 ล้านบาท

ช่องเก่าเก๋าคอนเทนท์อื่น ต้องยกให้เบอร์ 1 ตลาดกาลอย่างช่อง 7 แม้โดนดูดรายการ ดาราดัง แต่ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์รายการใหม่ พันธมิตรซื้อฟอร์แมทรายการจากต่างประเทศมาป้อนช่องอย่างต่อเนื่อง ละครยังคงความหลากหลาย ตอบจริตคนต่างจังหวัด และคนเมืองควบคู่กันไป มีเรื่องปังเป็นกระแสบนโซเชียล เช่น บ่วงสไบ สารวัตใหญ่ เป็นต้น แพลตฟอร์มออนไลน์ Bugaboo.tv และ Live สดบนเพจเฟสบุ๊คช่องยังได้รับความนิยม ส่วนช่อง 3 รายการดังหายไปเยอะ ดาราตัวท็อปมีกระแสดราม่าจนฉุดเรตติ้งละครบางเรื่อง ทำให้ต้องตัดตอนเร่งจบบ้าง แต่ละคร “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ก็เริ่มกลับมาจุดกระแสให้ติดได้บ้าง เพราะออกอากาศวันแรก โกยเรตติ้งได้ถึง 4 ถือว่าเป็นสัญญาณดีที่จะโกยเงินต่อเนื่อง

ส่วนบรรดาช่องข่าว เช่น เนชั่น 22 เสริมทัพข่าวการเมืองเข้มข้น มีผู้ประกาศ คร่ำหวอดสายข่าวการเมือง เชิญบรรดาหัวหน้าพรรค นักการเมืองระดับ “ท็อป” ของประเทศมาสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ยึดไพรม์ไทม์ ส่วนระหว่างันมีประเด็นไหนร้อนพร้อมเสริ์ฟสดให้คนดูทันที นอกจากนี้ยังมีรายการข่าวบันเทิง วาไรตี้ เสริมแกร่งอีกด้วย

---------------------------

จับตาเศรษฐี “ทุนใหม่ทีวีดิจิทัล

พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์” นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อปี 2562 คาดว่าจะเติบโตราว 4% ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาจะเติบโตราว 7% แต่หากมีการเลือกตั้งคาดว่าจะทำให้เม็ดเงินโฆษณาโตได้อีก ปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาเดือนม.ค. 2562 ชะลอตัวกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะผู้ประกอบการรออัดเม็ดเงินโฆษณาในช่วงการเลือกตั้ง

ด้านภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ถือว่ายังไม่ดี เพราะโครงสร้างของธุรกิจยังมีผู้เล่นในตลาดหลายรายเข้ามาแย่งเม็ดเงินโฆษณา และยิ่งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จะทำให้ยังมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอยู่ในตลาดต่อไปอีก

 อย่างไรก็ตาม ทีวีดิจิทัล มีโอกาสเห็น กลุ่มทุนรายใหญ่ ลงสังเวียน เพราะไทยยังเหลือทุนใหญ่ อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล , คิงเพาเวอร์ , โอสถสภาฯ ที่มีศักยภาพ

ส่วนการมาของเทคโนโลยี 5G  ส่วนตัวมองว่าการปรับเปลี่ยนมาใช้ 5 จี ยังไม่เกิดเร็วมาก เพราะว่าปัจจุบันเทคโนโลยี 4 จี ก็ยังใช้ได้อยู่ ซึ่งหากโอปอเรเตอร์จะลงทุนคงต้องมาดูก่อนว่านำไปใช้ทำอะไร ดังนั้น หากประเทศไทยจะใช้เทคโนโลยี 5 จี ในปี 2563 จะถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่มีการใช้เทคโนโลยี 5 จี 

“ยังไม่จำเป็นต้องเร่งใช้ 5G แต่เราต้องเตรียมตัวรับ”

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส หรือ ASP บอกว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อวงการจอแก้ว ซึ่งทางการเริ่มเห็นปัญหาและมีมาตรการเข้าช่วยเหลือออกมา ซึ่งน่าจะทำให้ต้นทุนลดลงหนุนภาพรวมดูดีขึ้นมาบ้าง แต่ต้นเหตุปัญหาคือ Supply ของช่องที่มีมากกว่าเม็ดเงินโฆษณา การแก้ไขปัญหาจึงช่่วยเพียงต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ฝั่งทีวีดิจิทัล ควรปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างช่องทางใหม่ๆ และสร้างคอนเทนท์ที่ดึงดูดคนดู ดึงเม็ดเงินโฆษณากลับมาเพราะปัจจุบันเม็ดเงินก้อนโตไหลจากสื่อดั้งเดิมไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ  เช่น สื่อนอกบ้านที่โดดเด่นมากขึ้น อาทิ ป้ายโฆษณาดิจิทัล เพราะปัจจุบันไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้พบเจอได้ง่าย และหากกลุ่มทีวีดิจิทัลปรับตัวได้จะส่งผลดีในระยะยาว และหากพิจารณาการลงทุนในหุ้นกลุ่มสื่อปีนี้ ต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มทีวีดิจิทัลซึ่งยังไม่ให้น้ำหนักในการเข้าลงทุน และกลุ่มมีเดียใหม่แนะนำ บมจ. แพลน บี มีเดีย หรือ PLANB และบมจ. วีจีไอ โกลบอล มีเดีย หรือ VGI เนื่องจากกลุ่มนี้เม็ดเงินโฆษณาโต 6% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมสื่อโดยรวมที่ 4%

ทั้งนี้ ปี 2562 น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ยากลำบากของกลุ่มทีวีดิจิทัล เพราะถึงแม้ทาง กสทช. เองจะออกมาเปิดทางช่วยเหลือแบบเต็มรูปแบบก็ตาม แต่เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของสื่อดิจิทัลที่เร็วกว่าเดิมหลายเท่า

ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ได้ยึดติดกับสื่อเดิมอย่าง ทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ยิ่งเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตสื่อต้องปรับตัวให้ทัน เพราะลำพังการแข่งขันกันเองในวงการทั้งการคิดรูปแบบรายการ หรือเรียกเรตติ้งก็ว่ายากแล้ว แต่ต้องมาแข่งกับกระแสดิจิทัลและการมาของ 5G งานนี้อาจได้เห็นทีวีดิจิทัลบางเจ้ายอมยกธงออกจากวงการเพิ่มอีกก็เป็นได้