อุตฯแพทย์ญี่ปุ่นบุกไทย เจโทรดึงจับคู่ธุรกิจอีอีซี
เจโทร ดึงนักธุรกิจฟูกุชิมะ-โกเบ นำนักลงทุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ หาลู่ทางลงทุนในอีอีซี พร้อมจับคู่ธุรกิจผู้ประกอบการไทย คาดไทยจะเป็นตลาดใหญ่สุดในอาเซียนภายในปี 2564 เหมาะสมเข้ามาลงทุนมากที่สุด
อุตสาหกรรมการแพทย์เป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ภาครัฐเร่งผลักดันเพื่อให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และมีมูลค่าเพิ่มมาก ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายชาติสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะนักธุรกิจจากญี่ปุ่น
นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นทำโครงการ The Regional Industry Tie-up program (RIT) หรือโครงการความร่วมมืออุตสาหกรรมท้องถิ่น โดยศึกษาประเทศที่มีศักยภาพด้านการตลาด การค้า การลงทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจและเทคโนโลยีชั้นสูงใช้เวลาประเมิน 1 ปี ตั้งแต่ปี 2561 ในอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์
ทั้งนี้ ข้อสรุปว่าไทยเหมาะสมที่สุดในการขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพราะรัฐบาลไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมทั้งไทยและญี่ปุ่นมีจุดแข็งในการพัฒนาธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ โดยเจโทรร่วมมือกับ จ.ฟูกุชิมะ และ จ.โกเบ ซึ่งโดดเด่นเรื่องอุตสาหกรรมนี้ที่สุดในญี่ปุ่น โดยทั้ง 2 จังหวัดต้องการเข้ามาขยายการค้าและการลงทุนในไทย จึงได้นำคณะผู้ประกอบการมาศึกษาภาพรวมธุรกิจนี้ในไทย และมีผู้ประกอบการญี่ปุ่น 4 ราย และผู้ประกอบการไทย 4 ราย เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจครั้งนี้ เพื่อขยายความร่วมมือทางการค้า ขยายตลาดและการลงทุน
นอกจากนี้ จากการศึกษาศักยภาพอุตสาหกรรมการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน พบว่า มีมูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ 5.2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 1% ของตลาดโลก มีการให้บริการทางการแพทย์เติบโตรวดเร็ว เพราะประชากรเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่เติบโต โดยอุปกรณ์การแพทย์ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐ จีน เยอรมนีและญี่ปุ่น รวมทั้งอาเซียนจะใช้กฎระเบียบเดียวกันในปี 2563
ตลาดเครื่องมือแพทย์ไทยพุ่ง
ส่วนไทยมีความต้องการอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ขยายตัวขึ้นจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ประสบความสำเร็จ และจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนในปี 2564 โดยความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากการขยายตัวของธุรกิจการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพและการรักษาโรคเรื้อรัง รวมถึงการขยายตัวของผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันไทยมีประชากรอายุเกิน 60 ปี ถึง 14%
นายคาซูมิ มัทซึโมโต ผู้อำนวยการ กองสนับสนุนอุตสาหกรรม จ.ฟุกุชิมะ กล่าวว่า เมืองฟูกุชิมะมีสินค้าทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง ซึ่งที่ผ่านมาฟุกุชิมะทำบันทึกข้อตกลงด้านอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับการแพทย์กับหน่วยงานรัฐของไทย เพื่อยกระดับและจับคู่ธุรกิจกันกับเอสเอ็มอีไทย รวมทั้งร่วมงานแสดงอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ในไทย ซึ่งการจับคู่ธุรกิจครั้งนี้จะให้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้าไปเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา แต่การเข้ามาลงทุนสิ่งที่สำคัญ คือ นโยบายของภาครัฐทั้ง 2 ประเทศต้องมีมาตรการสนับสนุนเพื่อเอื้อต่อการลงทุน
“จ.ฟูกุชิมะ ศึกษาลู่ทางการขยายการค้า ลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2561 พบว่าไทยน่าสนใจ มีอนาคตที่จะขยายตลาดเครื่องมือการแพทย์มาก โดยบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์จาก ฟูกุชิมะ วางแผนร่วมกับผู้ประกอบการไทยขยายตลาดและวิจัยพัฒนาสินค้าร่วมกันรองรับสังคมผู้สูงอายุในไทย”
สนลงทุนในอุทยานวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีบริษัทผลิตบุคลากรการแพทย์ของ จ.ฟูกุชิมะ 4 ราย อยู่ระหว่างการศึกษาลู่ทางการลงทุนในไทย โดยมี 1 ราย ที่ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทของไทยไปแล้ว คาดว่าในปีนี้จะเห็นการตั้งโรงงานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจะมีศูนย์วิจัยพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการไทย
นายมาซาฮิเดะ อาซูมิ ผู้ประสานงานอาวุโส ศูนย์คลัสเตอร์เพื่อการพัฒนาและประสานงานมูลนิธิเพื่อการวิจัยชีวการแพทย์และนวัตกรรม เมืองโกเบ กล่าวว่า เมืองโกเบเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางการแพทย์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งศูนย์ทดสอบทางการแพทย์แบบครบวงจร และนับได้ว่าเป็นคลัสเตอร์ทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และมีนวัตกรรมที่ทันสมัย ส่วนไทยเป็นตลาดเครื่องมือแพทย์ที่มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น
“อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ของไทยมีความโดดเด่น ดังนั้นจึงตั้งเป้าเฉพาะเจาะจงที่จะมาขยายตลาด วิจัยพัฒนาสินค้าร่วมกันตลอดจนการลงทุนในไทย โดยได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการคัดเลือกบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ของไทยมาร่วมลงทุนกับฝ่ายญี่ปุ่น”
หนุนต่างชาติลงทุน“จีโนมิก”
นายพีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านเมดิคัลฮับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ.กำลังทำแผนบูรณาการทางการแพทย์จีโนมิก หรือ แผนส่งเสริมด้านพันธุกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 15 หน่วยงาน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติในหลักการ หลังจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำในรายละเอียดของมาตรการส่งเสริมต่างๆ ออกมา
“หาก ครม.อนุมัติ จะเป็นการนับ 1 ของอุตสาหกรรมนี้ในไทย แสดงให้ต่างชาติรับรู้ว่าไทยเอาจริงในอุตสาหกรรมพันธุกรรมทางการแพทย์ ซึ่งไทยอยากให้มีอุตสาหกรรมนี้เข้ามาไทยมาก”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ยังเข้ามาลงทุนในไทยไม่มาก ส่วนใหญ่จะเข้ามาขยายตลาดการค้าก่อน ซึ่งอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่จะดึงเข้ามาลงทุนใน อีอีซี จะต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง และจะต้องเข้ามาลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทย