ทีเส็บดึงข้อมูลอัจฉริยะ ติดอาวุธไมซ์ไทย รับการแข่งขันธุรกิจไมซ์ทั่วโลก
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กระตุ้นผู้ประกอบการไมซ์ไทยปรับตัว ชี้ปัจจุบันรัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจด้วยธุรกิจไมซ์ ดึงการใช้ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligence)
ผสานการวิเคราะห์ (Data Analytics)ตอบโจทย์พฤติกรรมนักธุรกิจไมซ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเผยยุทธศาสตร์และแผนงาน16โครงการไฮไลท์พัฒนาธุรกิจไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564) พร้อมเปิดตัวฐานข้อมูลธุรกิจไมซ์ผ่านทางเว็บไซต์ (MICE Intelligence & Resource Center) ให้บริการทุกกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ นักศึกษาและประชาชน ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ด้วยพลังข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สร้างเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืน
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม ทีเส็บกล่าวว่าจากยุทธศาสตร์ชาติ20 ปีของรัฐบาลที่มีเป้าหมายคือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ยุทธศาสตร์ดิจิทัลนับเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยวิสัยทัศน์ของทีเส็บซึ่งสอดคล้องนโยบายรัฐบาลมุ่งเน้น 3 เป้าหมายหลัก คือการสร้างรายได้ การพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม และการสร้างความเจริญกระจายรายได้ซึ่งยุทธศาสตร์ไมซ์ปีนี้มุ่งขับเคลื่อนไมซ์เชิงคุณภาพและกระจายรายได้สู่เมืองต่างๆ ส่งผลให้ทีเส็บจัดทัพโครงสร้างทีมงาน และแผนงานใหม่ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านนวัตกรรมและข้อมูลไมซ์(MICE Intelligence & Innovation)โดยในวันนี้พร้อมเปิดแผนพัฒนาธุรกิจไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3ปี (2562-2564)ที่ศึกษาจากพฤติกรรมความต้องการของนักเดินทางไมซ์และผู้ประกอบการเอกชน โดยมีแนวทางการทำงานและ16 โครงการไฮไลท์ที่จะดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมตลอดระยะ3 ปีเต็มจากนี้เพื่อนำนวัตกรรมและข้อมูลมาใช้พัฒนาธุรกิจไมซ์ร่วมกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดขับเคลื่อนไมซ์ให้เกิดผลลัพธ์จริงในการสร้างเศรษฐกิจและองค์ความรู้
ทีเส็บศึกษาแนวโน้มสำคัญของการพัฒนาธุรกิจไมซ์ระดับโลกในอนาคต ได้แก่พฤติกรรมความต้องการของนักเดินทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การจัดงานมุ่งเน้นการผสมผสานครบวงจรภายในงานความต้องการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงานที่มีเวลาเข้าร่วมงานน้อยแต่ต้องการผลลัพธ์สูงสุด และเนื่องจากนักเดินทางไมซ์มีความสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจ รัฐบาลทั่วโลกจึงพยายามผลักดันธุรกิจและเพิ่มจำนวนนักเดินทางไมซ์ แต่ที่ผ่านมาเป็นการสนับสนุนด้านงบประมาณทั้งในมิติของการพัฒนาบุคลากร สถานที่ หรือการดึงงานเข้าสู่ประเทศ ซึ่งการสนับสนุนทางการเงินเพียงด้านเดียวยังคงไม่ตอบโจทย์ความต้องการและการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจรัฐบาลหลายประเทศจึงเริ่มปรับเพิ่มกลยุทธ์การสนับสนุนด้านอื่น และหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยโดยการส่งเสริมการจัดงานของทีเส็บกำลังเปลี่ยนผ่านจากการให้บริการด้านข้อมูลทั่วไป สู่ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว (From information to insights) เพื่อวางแผนธุรกิจที่ตรงจุดขึ้นผ่านการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Data Analytic & Artificial Intelligence)
ทีเส็บจึงดำเนินโครงการ MICE Intelligence & Innovation เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการนำนวัตกรรมและข้อมูลมาใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจไมซ์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ สำรวจและสรุปความคาดหวังที่ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจไมซ์ต้องการในการนำนวัตกรรมและข้อมูลมาใช้ แล้วจึงออกแบบและพัฒนาแผนงานจนได้ 16 โครงการไฮไลท์ด้านข้อมูลและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการเพื่อดำเนินงานพัฒนาธุรกิจไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564) ภายใต้การดำเนินงานของฝ่าย MICE Intelligence & Innovation
โรดแมปการพัฒนาธุรกิจไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์16 โครงการไฮไลท์ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1การสนับสนุนการจัดงานและผู้ประกอบการไมซ์ (Support & Sponsorship)มี 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการช่องทางสำหรับการขอรับบริการไมซ์เลน เพื่อต้อนรับแขก VIP ภายในสนามบิน (Paperless MICE Lane Request) 2. โครงการช่องทางออนไลน์เพื่อขอรับการสนับสนุนจากสสปน. (TCEB Online Financial Support Request)3. โครงการระบบ AI เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับทีเส็บ(TCEB Help Desk Chatbot)4. โครงการช่องทางให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าเพื่อจัดแสดงและขอวีซ่า(MICE Permit Advisor)
ยุทธศาสตร์ที่ 2การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไมซ์ (Developing MICE Supply)มี 3โครงการ ได้แก่1. โครงการช่องทางออนไลน์ให้ผู้ประกอบการขอใบรับรองและมาตรฐานไมซ์ (MICE Online Standard Assessment) 2. โครงการศูนย์รวมตำแหน่งงานและการแนะแนวอาชีพตามสายงานไมซ์ (MICE Career Portal)3. โครงการแหล่งเรียนรู้ออนไลน์รวบรวมความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไมซ์ (MICE Digital Learning Platform)
ยุทธศาสตร์ที่ 3การยกระดับประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมงาน (Enhancing Attendee Experience)มี 1 โครงการ ได้แก่โครงการแอพพลิเคชันสำหรับให้บริการผู้เข้าร่วมงาน เพื่ออำนวยความสะดวกอย่างครบวงจร(Event Application for Attendee)
ยุทธศาสตร์ที่ 4การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดงาน (Organizing Event with Efficiency) มี 2 โครงการ ได้แก่1. โครงการแอพพลิเคชั่นมือถือสำหรับอำนวยความสะดวกผู้จัดงาน(Organizer Mobile Application) 2. โครงการระบบประเมินผลผู้เข้าชมงานด้วยภาพจากกล้องวิดีโอ (Event Traffic Analytics)
ยุทธศาสตร์ที่ 5การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าและบริการไมซ์ (Connecting MICE Supply & Demand) มี 5 โครงการ ได้แก่1. โครงการแหล่งรวบรวมรายชื่อและข้อมูลงานอีเวนท์ที่สามารถเข้าร่วมประมูลสิทธิ์ในการจัดงานได้ (Event Opportunities Portal) 2. โครงการศูนย์กลางการระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการจัดงาน (MICE Crowd Funding Platform)3. โครงการแหล่งรวบรวมผู้ประกอบการด้านไมซ์ (MICE Supply Market Place)4. โครงการช่องทางโปรโมทอีเวนท์เพื่อให้ผู้สนใจลงทะเบียนหรือจองพื้นที่แสดงสินค้า (Event Discovery Platform Platform)5. โครงการศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าและบริการ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจก่อนและหลังการจบงาน (e-Commerce Platform)
ยุทธศาสตร์ที่ 6ด้านการเป็นแหล่งข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Intelligence & Resource Center) มี 1โครงการ ได้แก่1.โครงการฐานข้อมูลไมซ์เพื่อสร้างนวัตกรรมและเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ (MICE Intelligence & Resource Center)
การจัดงาน “MICE INTELLIGENCE AND INNOVATION CONFERENCE 2019” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Break Through the Hype – Uncover the Reality of Customer Insights” ของทีเส็บ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวแนะนำแผนงานและ 16 โครงการไฮไลท์เพื่อพัฒนาธุรกิจไมซ์ด้วยนวัตกรรมและข้อมูลตลอดระยะ 3 ปี (2562-2564)โดยฝ่าย MICE Intelligence & Innovation รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจไมซ์ เล็งเห็นความสำคัญของการใช้นวัตกรรมและข้อมูลอัจริยะวางแผนและกำหนดกลยุทธ์การพัฒนางานไมซ์ในอนาคต พร้อมเปิดตัวโครงการแรก คือ โครงการฐานข้อมูลไมซ์เพื่อสร้างนวัตกรรมและเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ (MICE Intelligence & Resource Center)หนึ่งในโครงการที่จะพลิกโฉมด้านนวัตกรรมและข้อมูลสำคัญของธุรกิจไมซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา รวมถึงประชาชน เข้ามาใช้บริการข้อมูลไมซ์เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ระหว่างภาคธุรกิจ โดยร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญระดับโลกด้านข้อมูล อาทิ ธนาคารโลก (World Bank)สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก(PATA)บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยFrost & Sullivan และบริษัทจัดการข้อมูลอัจฉริยะ Meltwater Singapore
นอกจากนี้ ภายในงานมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้งในและต่างประเทศร่วมให้ความรู้ อาทิ มร. กอร์ดอน อเล็กซานเดอร์ แคนเดอลิน จากบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชื่อดังแมคเคนซี (McKinsey & Company) และคุณคเณศ กิจเสรีบริรักษ์ จากไลน์ประเทศไทย (LINE Thailand) เป็นต้น โดยแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1วิทยากรนำเสนอเนื้อหาท่านละ 20 นาที ช่วงที่ 2การแบ่งกลุ่มเพื่อให้ผู้สนใจสอบถามเชิงลึก และช่วงที่ 3 วิทยากรทั้งหมดขึ้นเวทีร่วมกันเปิดโอกาสให้สอบถาม นำคำถามที่น่าสนใจมาถามพร้อมกันบนเวที ซึ่งการจัดงานในรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้โฟกัสในเนื้อหาได้อย่างแท้จริง
“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10% ซึ่งหากมีเครื่องมือทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนจะมีโอกาสเติบโตได้ถึงปีละ 20% ขณะเดียวกันเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ทุกกลุ่มได้เข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งการสร้างพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง (Empowering Partnership) ขยายจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเดิมสู่สตาร์ทอัพหรือกลุ่มธุรกิจอื่นที่ใช้ไมซ์เป็นแพลทฟอร์ม จะช่วยทำให้วงจรของธุรกิจไมซ์กว้างและเข้มแข็งขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความรู้และการต่อยอดอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่ความสามารถทางการแข่งขันที่ยั่งยืนต่อไป” นางศุภวรรณกล่าวสรุป