รฟท.เดินหน้าเวนคืนที่ดิน 850 ไร่ พัฒนาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน “วรวุฒิ” มั่นใจไม่ติดปัญหา ส่งมอบพื้นที่ฉลุย ลั่นกางแผนเจรจาร่วมเอกชน ทำสัญญากำหนดทยอยส่งมอบพื้นที่พร้อมสุด สศช.จี้คุมงบเวนคืน 3.5 พันล้านบาท
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า รฟท.ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) พร้อมกันหลายส่วนทั้งการเจรจาร่างสัญญาร่วมกับกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ที่จะมีการเชิญกลุ่มซีพีมาหารือสรุปการเจรจาในวันที่ 5 มี.ค.นี้ และเตรียมการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 850 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้จัดทำประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็น พร้อมทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่จะต้องเวนคืนแล้ว พบว่าไม่มีปัญหาหนักใจ โดยทำให้ขณะนี้เหลือเพียงรอออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พ.ศ. .... เพื่อดำเนินการเวนคืนที่ดินทันที
เร่งทำความเข้าใจชุมชน
“ตามแผนเราจะเวนคืนที่ดินเพื่อจัดทำสถานี แต่มีพื้นที่แปลงใหญ่ที่จะต้องเวนคืนมากสุด คือ จ.ฉะเชิงเทรา ส่วนนั้นจะเอามาทำโรงซ่อมบำรุง และสถานีใหญ่ ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ช่วงที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาใหญ่อะไร ยอมรับว่าการเวนคืนย่อมมีประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยบ้าง แต่ก็ไม่ถือเป็นอุปสรรค และเชื่อว่าจะไม่กระทบกับโครงการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงการทำสัญญาร่วมกับเอกชน รฟท.จะชี้แจงเรื่องการส่งมอบพื้นที่อีกครั้ง โดยจะทยอยส่งมอบในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน แต่เชื่อว่าจะสามารถเวนคืนให้เสร็จทั้งหมดเพื่อส่งมอบให้เอกชนพัฒนาได้ไม่มีปัญหา”
ส่วนการจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ และเมื่อครั้งการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม รฟท.ได้รายงานความคืบหน้าของการจัดทำอีไอเอแล้ว ซึ่งได้รับความเห็นชอบ ไม่ได้มีประเด็นคำถาม หรือสั่งการเพิ่มเติม
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ร.ฟ.ท.ส่งรายงานอีไอเอ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2561 โดยมีบริษัทเอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้จัดทำ
ทั้งนี้ รายงานอีไอเอได้ระบุแผนการโยกย้ายและการเวนคืนที่ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ 1.ทางเชื่อมสนามบินดอนเมืองจุดนี้จะไม่มีการเวนคืน โดยมีมาตรการป้องกันช่วงเตรียมการก่อสร้างและระยะก่อสร้าง คือ สำรวจทรัพย์สินที่ต้องจ่ายค่าชดเชย และมีการประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน 2.บริเวณทางเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ 3.บริเวณทางเชื่อมสนามบินอู่ตะเภาและสถานีอู่ตะเภา เวนคืนสิ่งปลูกสร้าง 5 หลัง 4.บริเวณที่ใช้แนวเส้นทางร่วมกับโครงการอื่น
เวนคืน5จังหวัด850ไร่
สำหรับมติ ครม.เรื่องการเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนแบ่งเป็น 5 จังหวัด 850 ไร่ คือ 1.กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมแขวงคลองสามประเวศ แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง
2.จ.สมุทรปราการ คอบคลุมตำบลหนองปรือ อ.บางพลี 3.จ.ฉะเชิงเทรา ครอบคลุมต.บางเตย ต.วังตะเคียน ต.ท่าไข่ ต.บางขวัญ ต.บ้านใหม่ ต.บางไผ่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา
4.จ.ชลบุรี ครอบคลุมต.บ้านสวน ต.หนองข้างคอก ต.ห้วยกะปิ อ.เมืองชลบุรี รวมถึงต.บางพระ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา ต.นาเกลือ ต.หนองปรือ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง และต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ 5.จ.ระยอง ครอบคลุมต.สำนักท้อน ต.พลา อ.บ้านฉาง
แนะคุมงบประมาณเวนคืน
สำหรับการเวนคืนดังกล่าวเพื่อก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง รฟท. โดยให้ รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน เพื่อให้ รฟท.ส่งมอบที่ดินให้แก่เอกชนคู่สัญญาได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการ ซึ่งการกำหนดแนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดินของประชาชน และช่วยควบคุมวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่า ควรให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ในการเวนคืนที่ดินเพื่อดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟความเร็วสูง และให้ รฟท.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดผลกระทบของประชาชนและช่วยให้ รฟท.ควบคุมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้อยู่ในกรอบที่ ครม.อนุมัติ 3,570 ล้านบาท
สกพอ.จี้มอบที่ดินให้ทัน
ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ควาเห็นเพิ่มเติมประกอบการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ควรให้ความสำคัญกับผลกระทบที่เกี่ยวกับการระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับโครงการและการเดินรถในระยะต่อไป
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีความเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(กพอ.) มีมติลงนามสัญญาร่วมลงทุนในต้นปี 2562 ดังนั้น รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในโครงการฯ เพื่อให้นำไปสู่การดำเนินการส่งมอบที่ดินให้กับบริษัทเอกชนที่จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดในร่างสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งจะกำหนดการก่อสร้าง 5 ปี