'ซันสวีท' จัดทัพธุรกิจใหม่ ส่งสินค้า 'มูลค่าสูง' ต้อนผู้บริโภค
โมเดลธุรกิจเดิมสร้างการเติบโตไม่ตามเป้า 'องอาจ กิตติคุณชัย' นายใหญ่ 'ซันสวีท' เร่งปรับพอร์ตใหม่ ส่ง 'ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแช่แข็ง' ขึ้นแท่น 'พระเอกคนใหม่' ผลักดันกำไรขั้นต้นสูงขึ้นพร้อมมุ่งสู่สินค้า High Value
ตัวเลขผลประกอบการปี 2561 มี 'กำไรสุทธิ' จำนวน 56.4 ล้านบาท 'ลดลง 52%' เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากช่วงปีก่อน รวมทั้งมีรายได้ต่อหน่วยลดลง ส่งผลต่อการรับรู้รายได้ กำไรขั้นต้น และอัตราการทำกำไรขั้นต้นที่ 'หดหาย' หลังมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศสูง 'ถึง 80%' !!
อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราคา หุ้น ซันสวีท หรือ SUN ของ 'ตระกูลกิตติคุณชัย' ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 69.77% ปรับตัว 'ลดลง' ต่ำกว่าราคาจอง 5.85 บาทต่อหุ้น หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2560 โดยราคา 'สูงสุด' (New High) อยู่ที่ 6.15 บาท (16 ม.ค.2561) และราคาต่ำสุด 2.78 บาท (28 ม.ค.2562) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4.81 บาทต่อหุ้น
เมื่อปัจจัย 'กดดัน' ดังกล่าวอยู่เหนือการควบคุม 'องอาจ กิตติคุณชัย' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซันสวีท หรือ SUN ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท 'KC' จำต้องเร่งปรับพอร์ตรายได้ใหม่ หวังเร่งมือเรียกศรัทธากลับคืนมาโดยเร่งด่วน...!!
ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ติดอับดับ 1 ใน 10 ของโลก ทั้งด้านปริมาณและมูลค่า หากพิจารณาเฉพาะเจาะจงลงไปในผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานโดยอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Centre : ITC) พบว่า ในปี 2557–2559 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกข้าวโพดหวานแบบสดหรือแปรรูปฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เท่ากับ17.55 ล้านเหรียญสหรัฐ 19.74 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 21.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
ส่วนปริมาณการส่งออกข้าวโพดหวาน เท่ากับ14,702 ตัน 17,494 ตัน และ19,241 ตัน ตามลำดับ หรือคิดเป็นสัดส่วนปริมาณการส่งออกเท่ากับ 5% ของปริมาณการส่งออกรวมทั่วโลก
ปัจจุบัน 'ซันสวีท' มีธุรกิจ 2 ประเภท คือ 1. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าทางเกษตรอื่นๆ ดำเนินการภายใต้ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจผลิตภัณฑ์และจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูป เช่น ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง (Canned Corn) ข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ (Pouch Corn) และข้าวโพด หวานแช่แข็ง (Frozen Corn)
นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ถัวขาวในซอสมะเขือเทศ ถัวแระแช่แข็ง เป็นต้น เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สำหรับผลพลอยได้จาก กระบวนการผลิตเช่น เปลือก ซังข้าวโพด และเศษข้าวโพด จะนำไปจำหน่ายให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นอาหารสัตว์ และบางส่วนบริษัทจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานของบริษัท
2. ธุรกิจซื้อมาจำหน่ายไป (Trading) ดำเนินการโดยบริษัท ซันสวีท อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจจัดหาและซื้อมาจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เช่นหอมหัวใหญ่สด ซอส มะเขือเทศ สับปะรดบรรจุกระป๋อง น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ มะพร้าวสด แป้งมันสำปะหลัง น้ำสลัด ข้าวหอม มะลิ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถัวเหลือง และน้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น
'องอาจ' แจกแจงแผนธุรกิจปี 2562 ว่า บริษัทเน้น 'ปรับพอร์ตรายได้' ธุรกิจใหม่ โดยเพิ่มสัดส่วนรายได้ใน 'ธุรกิจข้าวโพดหวานแช่แข็ง' (Frozen) เป็น 25% ของรายได้พอร์ตรวม จากปีก่อนที่มีสัดส่วนรายได้ 13% เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มี 'กำไรขั้นต้นสูง' ประกอบกับปีก่อนบริษัทนำเงินจากระดุมทุนไปขยายกำลังการผลิตธุรกิจข้าวโพดหวานแช่แข็ง 'อีก 3 เท่า'
ทั้งนี้ ฐานลูกค้าตลาดข้าวโพดหวานแช่แข็งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มี 'คำสั่งซื้อ' (ออเดอร์) เข้ามาค่อนข้างมาก ประกอบกับแนวโน้มยังมีความต้องการ (ดีมานด์) ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบริษัทขยายตลาดเข้าไปในตลาดรอง อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) อย่าง รัสเซีย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเริ่มทยอยมีออเดอร์เข้ามาจำนวนมากแล้ว
'ต่อไปผลิตภัณฑ์แช่แข็งจะเป็นตัวที่ทำให้ผลประกอบการดีขึ้น ถือว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เราพยายามทำให้สินค้าของบริษัทไปสู่สินค้าที่มี 'มูลค่าสูงขึ้น' (High Value) ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองเห็นและกำหนดเป็นนโยบายเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561'
ขณะที่ 'ธุรกิจข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง' (Canned) เป็นสัดส่วนผลิตภัณฑ์พอร์ตใหญ่ที่สุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ในปี 2561 อยู่ที่ 72% แต่ในปี 2562 บริษัทมีเป้าหมายลดสัดส่วนรายได้เหลือ 'แค่ 60%' เท่านั้น เนื่องจากต้นทุนผลิตกระป๋องสูงถึง 40% ขณะที่ 'ธุรกิจข้าวโพดหวานบรรจุถุงสุญญากาศ' (Pouch Corn) บริษัทยังคงสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 15% เช่นเดิม และยังเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต เพราะว่าบริษัทต้องการทำตลาดไปก่อนในปีที่ 3 และ 4 หลังจากนั้นเมื่อตลาดนิ่งและมีเสถียรภาพที่ดีขึ้น บริษัทจะขยายธุรกิจเข้าไปในผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรสำหรับสายการผลิตข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง และประเภทบรรจุถุงสุญญากาศ (Pouch) รวมถึงติดตั้งเครื่องจักรเพื่อขยายสายการผลิตข้าวโพดหวานแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการผลิตเต็มศักยภาพแล้ว ส่งผลให้ผลิตข้าวโพดหวานทั้งปีได้เพิ่มขึ้น 10-15% หรือจะมีกำลังการผลิตที่ 150,000 ตัน จากกำลังการผลิตเดิมที่ 128,000 ตัน
เขา บอกต่อว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 'ราว10-15%' จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1,838.40 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมียอดคำสั่งซื้อรอผลิตในมือแล้ว คิดเป็น 1 ใน 3 ของเป้าหมายรายได้ในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าเดิมในมือกว่า 200 ราย ที่มีแผนการขายและสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า เป็นสัญญาล่วงหน้าระยะ 3-6 เดือน
สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 2562 จะมาจากในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 20-30% จากเดิมที่มียอดขายภายในประเทศอยู่ที่ 20% โดยการหันมาเน้นสัดส่วนรายได้จากในประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าเงินที่แข็งค่ามาตลอดตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเจรจากับลูกค้าในต่างประเทศ เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนการรับเงินเป็นสกุลเงินอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งการปรับราคาขายสินค้าขึ้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านค่าเงินอีกด้วยขณะที่ปัจจุบันบริษัทยังคงสัดส่วนตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 80% ของการขายทั้งหมด เน้นกลุ่มลูกค้าประเทศที่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน อาทิ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ กลุ่มทวีปยุโรป รวมไปถึงการเปิดตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้วิธีการนำผลิตภัณฑ์ออกงานแสดงสินค้าต่าง ๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ให้เพิ่มขึ้น ที่เหลืออีก 20% เป็นสัดส่วนการขายในประเทศที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายไปร้านสะดวกซื้อต่างๆ
'บริษัทส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศประมาณ 50-60 ประเทศ เป็นลูกค้าในกลุ่มประเทศเอเชียเกินกว่า 50% และไม่ยึดติดกับลูกค้าเพียงรายเดียวในแต่ละประเทศ เพื่อเป็นการกระจายความเสียงของบริษัทด้วย'
อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทออกงานแสดงสินค้าในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่าได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ปีนี้บริษัทมีแผนดำเนินการปรับสัดส่วนและขยายกำลังการผลิตมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการทำ Forward Contract ให้เป็นมาตรฐานของบริษัทเพื่อบริหารความเสี่ยงในเรื่องค่าเงิน และถึงแม้ว่าบริษัทจะประสบกับความเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นก็ตาม แต่หากพิจารณาถึงยอดปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ก็เชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน
สำหรับ แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2562 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 440 ล้านบาท ซึ่งเห็นสัญญาณตั้งแต่เดือนม.ค. ที่ผ่านมา ทั้งการส่งมอบ การผลิต และการจัดหาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
'ซีอีโอ' บอกต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีการทำตลาดภายใต้ตราสินค้า 'KC' มากขึ้น นอกเหนือจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของลูกค้า โดยในปี 2558-2560 บริษัทมีสัดส่วนรายได้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ KC เท่ากับ 20.94% , 25.63% และ 21.92% ของรายได้ ตามลำดับ รวมทั้งบริษัทยังมีทีมงานวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่วมกันออกแบบ ผลติภัณฑ์กับลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค
ประกอบกับปัจจุบันเนื่องด้วยภาวะทางสังคมมีความตระหนักถึงเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการในการเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งข้าวโพดหวานถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาหารตัวเลือกของคนรักสุขภาพ เพราะข้าวโพดหวานเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อาทิ มีกากอาหาร วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
นอกจากนี้ ข้อมูลจากองค์กรวิจัยทางการตลาดอิสระภายใต้ชื่อ Euromonitor International และ Nielson Global Health and Wellness Report 2015 ได้คาดการณ์ว่า มูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารด้านสุขภาพ จะขยับสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 โดยเฉพาะในประเทศทีกำลังพัฒนา ซึ่งมีแนวโน้มที่ยอมใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อ บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ
ท้ายสุด 'องอาจ' ฝากไว้ว่า เราพยายามสร้างการเติบโตของบริษัทต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมียอดคำสั่งซื้อรอผลิตในมือแล้ว คิดเป็น 1 ใน 3 ของเป้าหมายรายได้ในปีนี้แล้ว รวมทั้งเรามีลูกค้าเดิมในมือกว่า 200 ราย ที่มีแผนการขายและสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า เป็นสัญญาล่วงหน้าระยะ 3-6 เดือน