2รายยื่นซองแหลมฉบัง ปตท.ผนึก 'กัลฟ์' ร่วมวง
กทท.เผย 2 ราย ยื่นซองประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ปตท.-กัลฟ์จับมือร่วมชิง เผยคุณสมบัติผ่านทั้ง 2 กลุ่ม มั่นใจประกาศผู้ชนะ 11 เม.ย.นี้ ย้ำโครงการจำเป็นต้องเร่งพัฒนา หลังปริมาณตู้สินค้าทะลักเข้าท่าเรือเพิ่มปีละ 3-4%
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กำหนดให้ยื่นซองประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นครั้งที่ 2 วานนี้ (29 มี.ค.) มีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ,บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited
2.กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ,บริษัท นทลิน จำกัด ,บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด
สำหรับการประมูลครั้งนี้ บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ชนะประมูลท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มาเป็นพันธมิตรประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โดยดึง China Harbour Engineering Commpany Limited ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและวิศวกรรมทางทะเลเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC
ในขณะที่บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มกิจการร่วมค้า NPC เป็นบริษัทเดียวที่ยื่นซองประมูลท่าเรือแหลมฉบังรอบที่ 1 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ ทำให้มีการเปิดประมูลรอบที่ 2
ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.เปิดเผยว่า โครงการร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 (ท่าเรือ F) มีวงเงินร่วมลงทุน 84,000 ล้านบาท โดยหลังจากการยื่นซองได้เปิดเอกสารซองข้อเสนอซองที่ 1 ซองไม่ปิดผนึก หรือซองเอกสารหลักฐานการยื่นข้อเสนอ ในเวลา 13.00 น.ของวันเดียวกันด้วย โดยเอกสารที่พิจารณามีหนังสือมอบอำนาจ หนังสือการซื้อเอกสารคัดเลือกเอกชน หนังสือยืนยันการไม่เป็นผู้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันจากอำนาจศาล หลักประกันซอง และข้อตกลงคุณธรรมที่ลงนามแล้ว ซึ่งเอกชนทั้ง 2 รายผ่านการพิจารณา
ประกาศผู้ชนะ 11 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะพิจารณาเอกสารข้อเสนอของเอกชนให้เสร็จก่อนหยุดสงกรานต์นี้ โดยตั้งเป้าประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลวันที่ 11 เม.ย.นี้ ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการประมูลสิทธิ์ จะพิจารณาให้ผู้เสนอผลตอบแทนรัฐสูงสุด ทั้งนี้ในส่วนของซองที่ 5 ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ หากมีรายละเอียดที่ต้องเจรจากับเอกชนก็จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเสนอผลประมูลให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในเดือน เม.ย.นี้
สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาซอง 1 จะประเมินตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเท่านั้น ส่วนหลักเกณฑ์ซอง 2 จะพิจารณาคุณสมบัติทั่วไป เช่น ต้องมีบริษัทไทย 1 ราย ถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่า 25% และต้องมีผู้ถือหุ้นที่คนไทยรวมกันเกินกว่า 51% ต้องมีประสบการณ์บริหารจัดการท่าเทียบเรือตู้สินค้าระหว่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นต้น
ขณะที่หลักเกณฑ์พิจารณาในซอง 3 จะประเมินแบบมีให้คะแนน มีคะแนนเต็มอยู่ 100 คะแนน โดยจะแบ่งออกเป็น 7 หมวดหมู่ คือ 1.แนวคิดการสร้างท่าเรือเรือ 2.แผนงานการก่อสร้าง 3.แบบจำลองประมาณการตู้สินค้ารายปี 4.แผนธุรกิจด้านการเพิ่มปริมาณตู้สินค้า 5.แนวทางจัดการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในท่าเรือ 6.แผนบริหารโครงสร้างองค์กร 7.แผนระดมทุนและการเงิน
ได้สิทธิบริหารท่าเรือ35ปี
ส่วนเกณฑ์การประเมินในซอง 4 ผู้ที่ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด จะเป็นผู้ผ่านการพิจารณาและเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาต่อไป กรณีที่มีผู้ยื่นข้อเสนอให้ผลตอบแทนสูงสุดเท่ากันมากกว่า 1 ราย ให้ผู้ยื่นข้อเสนอทั้งหมด ยื่นข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนใหม่ โดยข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนใหม่นั้นห้ามต่ำกว่าระดับข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนเดิม ส่วนการประเมินซอง 5 ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการนั้น จะไม่ถูกนำมาใช้ในการประเมินผู้ยื่นข้อเสนอ โดยเอกสารซอง 5 จะถูกเปิดก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจา และผูกพันผู้ผ่านการพิจารณา
ทั้งนี้ ผู้ที่ชนะการประมูลจะได้สิทธิ์ออกแบบ ก่อสร้าง ให้บริการ และซ่อมบำรุงรักษาโครงการ ประกอบไปด้วย ท่าเทียบเรือ F1 และ F2 ระยะเวลา 35 ปี โดยต้องเข้าบริหารจัดการพื้นที่ช่วง 2 ปีแรก บนพื้นที่ 1,000 เมตร และภายใน 6 ปี จะต้องพัฒนาบริหารจัดการพื้นที่ให้ครบทั้ง 2,000 เมตร เพื่อรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่รองรับตู้สินค้าได้ 4 ล้านตู้ต่อปี และอาจจะขยายได้ถึง 5-6 ล้านตู้ เพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบังจาก 11.1 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18.1 ล้านอีทียูต่อปี
คาด5ปีเฟส1-2เต็มศักยภาพ
เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวว่า โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น และเปิดให้บริการภายในปี 2566 เพราะปริมาณตู้สินค้าเข้าออกท่าเรือแหลมฉบังในปี 2561 พบว่าท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 1-2 รองรับตู้สินค้า 8 ล้านทีอียู ขณะที่ความสามารถในการรองรับตู้สินค้าทั้งหมดได้11 ล้านทีอียู และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 3-4% หรือ 4 แสนตู้ ดังนั้นอีกไม่เกิน 5 ปีจะเกินความสามารถที่รองรับได้และจะเกิดปัญหาความแออัด
ขณะเดียวกัน การขยายโครงการพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 จะเพิ่มศักยภาพรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ขึ้น จากปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังเฟส 2 รองรับเรือขนาด 18,000 ทีอียู จะเพิ่มเป็น 20,000 ทีอียู ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังขยับอันดับท่าเรือระดับโลกเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 20