เผยโฉม‘ดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค' ซูเปอร์คอร์ซีบีดีสู้ศึกมิกซ์ยูส
“ดุสิตธานี-ซีพีเอ็น” เปิดรายละเอียดบิ๊กโปรเจคมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่า 3.67 หมื่นล้าน สู้ศึกมิกซ์ยูสพระราม 4 “มั่นใจทำเลทองขึ้นแท่นมาสเตอร์พีซระดับเวิลด์คลาส “ซูเปอร์คอร์ซีบีดี” เปิดบริการเต็มรูปแบบปี 2567
ตำนานบทใหม่ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” (Dusit Central Park) สัญลักษณ์แห่งมหานครกรุงเทพฯ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทุนไทยเก่าแก่รายใหญ่ “ดุสิตธานี” ธุรกิจโรงแรมและการบริการที่มีประสบการณ์ยาวนาน 70 ปี เช่นเดียวกับพันธมิตรกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้นำในการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์
กำลังถูกขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด Here for Bangkok ผลักดันมิกซ์ยูสโปรเจคมูลค่า 36,700 ล้านบาท ภายใต้ 4 องค์ประกอบระดับเวิลด์คลาส ทั้งโรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน สู่การเป็นแลนด์มาร์กแห่งการใช้ชีวิตระดับโลก นับเป็นความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ในการพลิกโฉมใจกลางกรุงเทพฯ สร้าง “ซูเปอร์คอร์ซีบีดี” (Super Core CBD) เชื่อม 4 ย่านสำคัญนำกรุงเทพฯ ก้าวสู่สู่มหานครที่ดีสุดอีกแห่งหนึ่งของโลก เมื่อเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในปี 2567
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นที่บริเวณมุมถนนสีลม-พระราม 4 ถือเป็นทำเลศักยภาพใจกลางกรุงเทพฯ ทั้งดุสิตธานีและซีพีเอ็นจึงวางเป้าหมายพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสนี้ ภายใต้แนวคิด “Here for Bangkok” เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯอย่างครบวงจร เพื่อให้โครงการนี้เป็นมาสเตอร์พีซระดับเวิลด์คลาสที่ยังคงความเป็นไทย
ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1.Here for Heritage & Innovation นำการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมผสานกับนวัตกรรมมาใช้ในโครงการ 2. Here for Unrivalled Connectivity เป็นโครงการมิกซ์ยูสเดียวในกรุงเทพฯที่เชื่อมโยงทุกย่านสำคัญและระบบคมนาคมทุกระนาบของกรุงเทพฯ 3. Here for a Lush Quality of Life อยู่ใกล้กับปอดของกรุงเทพฯอย่าง “สวนลุมพินี” สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุด ทุกอาคารสามารถมองเห็นวิวสวนฯได้อย่างชัดเจน ไร้การบดบัง หนุนการสร้างคุณภาพชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทั้งยังเต็มไปด้วยสีสันและไลฟ์สไตล์ทั้งกลางวันและกลางคืน และ 4.Here for Meaningful Experiences เชื่อมโยงรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทันสมัยควบคู่กับการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ มุ่งสร้างปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและพื้นที่สีเขียว
สำหรับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯที่จะสร้างขึ้นใหม่ จะเปิดให้บริการเป็นอาคารแรกของโครงการฯ ในช่วงปลายปี 2565 ด้วยขนาด 250 ห้องพัก ความสูง 39 ชั้น โดยแต่ละห้องจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เพดานสูงขึ้น ทุกห้องพักเห็นวิวสวนลุมพินี ให้ความสำคัญกับการเก็บเรื่องราวและองค์ประกอบสำคัญของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯเดิม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบและนำชิ้นส่วนเอกลักษณ์ต่างๆ มาใช้ในโรงแรมโฉมใหม่ อาทิ ยอดชฎาสีทองซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ ถือเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมเดิมที่ถูกนำกลับมาออกแบบใหม่บนชั้นดาดฟ้าให้กลายเป็นจุดชมวิวบนยอดสูงของอาคาร พร้อมพื้นที่จัดแสดงแกลลอรี่แบบดิจิทัล และร้านอาหารกับรูฟท็อปบาร์รอบๆ ฐานชฎา
ส่วนอาคารที่พักอาศัย จะเปิดให้บริการในต้นปี 2567 จุดขายคือวิวแบบพาโนรามาของสวนลุมพินีและวิวเส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯ ขณะที่ห้องพักบางส่วนของอีกด้านจะเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมมอบความเป็นส่วนตัวแก่ผู้พักอาศัย ความสูงอยู่ที่ 69 ชั้น จำนวน 389 ยูนิต และที่จอดรถอีก 650 ยูนิต บนพื้นที่ 80,000 ตารางเมตร
โดยจะมี 2 แบรนด์ในอาคารเดียว แบ่งเป็นแบรนด์ระดับลักชัวรีและไลฟ์สไตล์ ได้แก่ 1.ดุสิต เรสซิเดนเซส (Dusit Residences) จำนวน 159 ยูนิต ตั้งอยู่ชั้นที่ 30-69 มีทั้งขนาด 2-4 ห้องนอนและเพนท์เฮาส์ ในรูปแบบชั้นเดียว ชั้นเดียวแบบเพดานสูง และแบบสองชั้น พื้นที่ตั้งแต่ 120-600 ตารางเมตร เจาะกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิก หรูหราเหนือกาลเวลา รวมถึงครอบครัวขนาดกลางและใหญ่ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ตลอดจนนักธุรกิจที่เดินทางมาทำงานและอยู่ประจำในไทย
และ 2.ดุสิต พาร์คไซด์ (Dusit Parkside) จำนวน 230 ยูนิต อยู่ระหว่างชั้นที่ 9-29 ขนาด 1-2 ห้องนอน ในรูปแบบชั้นเดียวและสองชั้น พื้นที่ตั้งแต่ 60-260 ตารางเมตร เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนทำงานในเมือง และครอบครัวขนาดเล็ก ตอบโจทย์ผู้ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คนเมือง ด้วยดีไซน์ร่วมสมัย มีระดับ
ทั้งนี้ เรสซิเดนส์ทั้ง 2 แบรนด์จะเป็นที่พักอาศัยแบบเช่าสิทธิ์ระยะยาว (ลีสโฮลด์) 30 ปี และต่อสัญญาอีก 30 ปี หรือสูงสุด 60 ปี เนื่องจากโครงการมิกซ์ยูสนี้ตั้งบนที่ดินซึ่งได้ต่อสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่งผลให้ราคาต่อยูนิตถูกกว่าแบบฟรีโฮลด์ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย คาดมูลค่าการขายเรสซิเดนส์ทั้ง 2 แบรนด์อยู่ที่ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท เตรียมเปิดจองในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาโปรเจค ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ครั้งนี้นับเป็นการบุกเบิกและพลิกโฉมกรุงเทพฯ ปักหมุดเป็น ซูเปอร์คอร์ซีบีดี พร้อมเชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญจาก 4 ทิศของกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านราชประสงค์ (ทิศเหนือ) เจริญกรุง (ทิศใต้) สุขุมวิท (ทิศตะวันออก) และ เยาวราช (ทิศตะวันตก)
“ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะเป็นนิวจังก์ชั่น (The New Junction) เชื่อมโยงย่านเก่าและย่านใหม่ รวมถึงย่านไฟแนนซ์เชียล ย่านการค้า ยกระดับสู่แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของโลกด้วยคุณภาพเหนือระดับของการมีที่พักอาศัย ทำงาน และชอปปิง ในโครงการที่อยู่ติดกับสวนที่เป็นปอดขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับย่านดังในมหานครระดับโลกอย่างลอนดอน ที่มีไฮพาร์ค และเซ็นทรัลพาร์คในนิวยอร์ก”
โดยในส่วนของอาคารสำนักงาน เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส (Central Park Offices) พื้นที่ 90,000 ตร.ม. คาดเปิดให้บริการพร้อมกับพื้นที่ศูนย์การค้าขนาด 80,000 ตร.ม. ภายในไตรมาส 3 ปี 2566
สำหรับอาคารออฟฟิศ จำนวน 49 ชั้น มุ่งพัฒนาพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์รองรับการใช้ชีวิตและทำงาน โดยจะมีเทคโนโลยีทันสมัยรองรับการเป็น โปรเฟสชันนอล ฮับ (Professional Hub) หรือที่ตั้งของบริษัทตั้งแต่กลุ่มอินโนเวทีฟ สตาร์ทอัพ และสำนักงานบริษัทระดับโลก
นางสาววัลยา กล่าวต่อว่า การพัฒนาศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบของโครงการเข้าด้วยกัน ผ่านการนำเสนอประสบการณ์รีเทลแห่งอนาคต ที่จะสร้าง “New Urbanised Lifestyle” ระดับเวิลด์คลาสผสานไลฟ์สไตล์อินดอร์และเอาท์ดอร์เข้าด้วยกัน พร้อมแบรนด์ระดับไอคอนของโลกและประเทศไทย
นับเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มศูนย์การค้าไร้รอยต่อ ที่มีความยูนีค และแตกต่างจากเซ็นทรัลเวิลด์ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้ง บรรดาคู่แข่ง “มิกซ์ยูส” ย่านพระราม 4