เตรียมของบปี 2563 วงเงิน 5 พันล้านบาท พัฒนาการศึกษาผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย คาดภายใน 5 ปี ต้องการแรงงานอาชีวะ-ปริญญาเอก กว่า 4.7 แสนคน พร้อมร่วมมือ “เชฟรอน” ยกระดับการศึกษาวิทยาศาสตร์ในพื้นที่
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นการพัฒนาพื้นที่ที่มีเป้าหมายในการสะสมเทคโนโลยี และการสร้างบุคลากรในอนาคต โดยจะเน้นในการลงทุน 40% และอีก 60% จะเป็นการสร้างคน ซึ่งการหาเงินเข้ามาลงทุนสร้างอุตสาหกรรมชั้นสูงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการสร้างคนเข้ามารองรับเทคโนโลยี และพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้ในอนาคต
“ไทยจะก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง จะต้องมีเทคโนโลยีของตัวเองจึงจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ดังนั้นต้องสะสมเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีมีเงินก็ซื้อได้ แต่จะเก็บเทคโนโลยีไม่ได้ถ้าไม่มีคนที่มีศักยภาพสูงเข้ามาเรียนรู้พัฒนาต่อยอดจนเป็นเทคโนโลยีของเราเอง”
นายคณิศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ (กพอ.) อนุมัติแผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และ เทคโนโลยีรองรับการพัฒนาอีอีซี โดยการสร้างบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องเน้น 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เร่งจัดหาคนให้เพียงพอกับความต้องการ โดยการรีสกีลหรือการปรับปรุงทักษะสำหรับสำหรับแรงงานที่จบมาแล้วทำงานไม่ตรงสาขาที่มี 2-3 แสนคน
3ปีใช้งบพัฒนาคน5.6พันล้าน
2.การปรับปรุงนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ให้ตรงกับความต้องการ โดยการปรับและเพิ่มหลักสูตรการสอนให้ตรงกับงาน 3.การอัพสกิล สู่มาตรฐานสากล โดยทำหลักสูตรอาชีวะพรีเมียมและร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศมาตั้งในอีอีซี โดยโครงการพัฒนาบุคลากรนี้ในปี 2560 ได้รับงบประมาณกลางเร่งด่วน 390 ล้านบาท ปี 2562 ได้รับงบประมาณ 216 ล้านบาท และปี 2563 คาดว่าได้รับงบประมาณ 5,068 ล้านบาท
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากรฯ ได้ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาในอีอีซี จัดทำโครงการสัตหีบโมเดล เพื่อผลิตอาชีวะพรีเมียม และปรับปรุงระบบการอนุมัติหลักสูตรมาตรฐานสากลได้อย่างรวดเร็ว
ปีนี้ขาดแรงงาน5หมื่นคน
ส่วนกระทรวงแรงงาน ได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนศูนย์บริหารแรงงานอีอีซี โดยประเมินความต้องการแรงงาน จัดหลักสูตรฝึกอบรม ในขณะที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะพัฒนาบุคลากรระดับสูง และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่กำหนดให้สร้างคนในการให้สิทธิประโยชน์
ทั้งนี้ จากการประเมินความต้องการต้องการบุคลากรในอีอีซี พบว่าปี 2562 ขาดแคลนแรงงาน 50,000 คน ส่วนระยะยาว 5 ปี ข้างหน้าจะมีงานใหม่ในอีอีซีใน 7 อุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 4.75 แสนคน แบ่งเป็นอาชีวะ 2.53 แสนคน ปริญญาตรี 2.13 แสนคน และปริญญาโท-เอก 8,617 คน โดยสาขาที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ ดิจิทัล โลจิสติกส์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ดึงทั่วประเทศร่วมผลิตคน
“ขณะนี้ขาดแคลนแรงงานสายอาชีวะมาก เพราะเด็กส่วนใหญ่เรียนสายสามัญ แต่มาตรการส่งเสริมของอีอีซี คาดว่าอีก 3-5 ปี จะเห็นการเปลี่ยนแปลง มีผู้เรียนสายช่างเพิ่มขึ้น รวมทั้งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา ปรับโครงสร้างการเรียนการสอนให้ปรับลดการผลิตนักศึกษาสายสังคม ไปสู่การเน้นหนักในสายวิศวกรรม รวมทั้งนำหลักสูตรกว่า 200 หลักสูตร มาปรับปรุงการสอนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาในอีอีซี ซึ่งอาจจะปรับในช่วง 6 เดือน สุดท้ายก่อนเรียนจบ เพื่อให้ได้บุคลากรที่ตรงกับความต้องกา”
นายคณิศ กล่าวว่า การสร้างบุคลากรเข้ามารองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอีอีซี ในส่วนของแรงงานระดับอาชีวะ จะให้สถาบันอาชีวะในพื้นที่ อีอีซี ทั้ง 3 จังหวัด ผลิตบุคลากรรองรับให้ได้ 70% ของความต้องการทั้งหมด หรือ 1.77 แสนคน และสถาบันการศึกษานอกอีอีซี จะผลิตเข้ามาป้อนอีก 30% หรือ 76,000 คน ส่วนบุคลากรระดับอุดมศึกษา จะให้สถาบันการศึกษาในอีอีซีผลิตบุคลากรให้ได้ 70% หรือ 1.55 แสนคน และนอกอีอีซี 30% หรือ 66,000 คน
“เชฟรอน”หนุนยกระดับทักษะ
นอกจากนี้ สกพอ.ได้ร่วมกับเชฟรอน นำโครงการเชฟรอน เอ็นจอย ไซเอ็นซ : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เข้ามาปรับปรุงพื้นฐานการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับโรงเรียนและวิทยาลัยอาชีวะในพื้นที่ อีอีซี เพื่อวางรากฐานความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชน เพื่อต่อยอดไปสู่การเรียนด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคต ซึ่งเป็นสาขาที่มีความต้องการมากในอีอีซี
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต กล่าวว่า ได้สนับสนุนงบ 1,000 ล้านบาท ดำเนินโครงการเชฟรอน เอ็นจอย ไซเอ็นซ : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต และตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาพัฒนาฝีมือทักษะแรงงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี ที่ยังมีความต้องการอยู่มาก ซึ่งดำเนินโครงการมา 5 ปี (2558-2562) ได้สร้างครูแกนนำแต่ละพื้นที่เพื่อไปพัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมกว่า 660 แห่ง คาดว่า มีผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ 5-6 แสนคน เช่น ครู นักเรียน นักศึกษา
“เชฟรอน จะนำโครงการนี้ไปขยายผลในอีอีซีเพิ่มขึ้น เพราะมีความต้องการบุคลากรด้านวิทยาซาสตร์และวิศวกรรมเพิ่มขึ้นมาก โดยจะหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องนำงบประมาณเข้ามาช่วยขยายโครงการนี้”
สำหรับโครงการนี้จะคัดเลือกครูแกนนำมาโรงเรียนละ 3-4 คน เพื่อมาฝึกเป็นครูแกนนำ รวมทั้งฝึกนักเรียนในสถาบันอาชีวศึกษาให้นำรูปแบบการสอนในต่างประเทศมาใช้ สอนแบบสะเต็ม เช่น ผนวกแนวคิดการออกแบบเชิงวิศวกรรมเข้ากับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผลการประเมินโดยหน่วยงานกลางพบว่า นักเรียนมีความเข้าใจ และต้องการเรียนสายวิชาชีพมากขึ้น