อุตสาหกรรมดิจิทัล ต้องการกว่า 1 แสนอัตรา ในพื้นที่อีอีซี
บอร์ดอีอีซี รับทราบการพัฒนากำลังคน เผยอุตสาหกรรมดิจิทัล ต้องการกว่า 100,000 คน ในพื้นที่อีอีซี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า การประชุมกพอ. มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยในส่วนการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุน ใน EEC ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความต้องการในอุตสาหกรรมดิจิทัล กว่า 100,000 คน โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สานต่อโครงการพร้อมจัดทำการพัฒนาและผลิตกำลังคนดิจิทัล สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ และปริมาณตรงตามความต้องการของ ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายในปี 2566
ทั้งนี้ เป็นบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากว่า 180,000 คน ประกอบด้วย นักศึกษาจบใหม่ด้านดิจิทัลที่เข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 60,000 คน นักศึกษาสาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนหรือเรียนเพิ่มเติม ในสาขาวิชาด้านดิจิทัล จำนวน 120,000 คน
สำหรับแนวทางการผลักดันให้ได้บุคลากรตามเป้าหมายกำลังคนด้านดิจิทัล ได้แก่ 1.กลุ่มนักศึกษาในสาขาวิชาด้านดิจิทัล สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการฝึกงานเพื่อให้มีประสบการณ์ตรงกับ ภาคอุตสาหกรรม 2.กลุ่มนักศึกษาในสาขาอื่นที่ต้องการ Re-skill สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือ ค่าสอบประกาศนียบัตรรับรอง ความรู้ ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
3. กลุ่มบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และด้านอื่นๆ ที่ต้องการย้ายสายงาน สนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าอบรมหลักสูตรระยะสั้น และ/หรือ ค่าสอบประกาศนียบัตรรับรอง ความรู้ ในระดับพื้นฐาน และระดับกลาง ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
ขณะที่โครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ใน EEC นั้น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ในอีอีซี (Thailand Genome Sequencing Center) จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) ที่จำเป็นให้ประเทศที่มีความต้องการบริการการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ให้สามารถนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ในอนาคตอันใกล้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงในระบบประกันสุขภาพ โดยจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1.ด้านการแพทย์และสาธารณสุขจะทำให้ดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการป่วย ป้องกันการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และลดค่าใช้จ่ายของการรักษาที่ไม่แม่นยำ 2.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้มีเทคโนโลยีระดับสูงไว้บริการใน Medical Hub 3.ด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรภายในประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ใน พื้นที่ EEC (Thailand Genome Sequencing Center) และให้ สกพอ. ประสานหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป