“เดอเบล” ลุยช่องทางขายใหม่ ดันรายได้ "แสนล." กระทิงแดง
การทำธุรกิจยุคนี้ หากไม่ปรับกลยุทธ์ เปลี่ยนแปลงสูตรรบ อาจถูกคู่แข่ง พฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนคลื่นเทคโนโลยีมา “ดิสรัป” ไม่ช้าก็เร็ว
“เดอเบล” ธุรกิจจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าใต้อาณาจักร “ทีซีพี” หรือ "กระทิงแดง" หนึ่งใน “จิ๊กซอว์” สำคัญที่จะต้องสานต่อรายได้ของกลุ่มให้ทะยานสู่ “แสนล้านบาท” ภายในปี 2565 จึงต้องลุกขึ้นมายกระดับตัวเอง เสริมแกร่งด้านคน เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันต้องได้ “ข้อมูล” หรือ Data พฤติกรรมการซื้อสินค้าเชิงลึก(Insight)ของผู้บริโภคกลับมา เพื่อให้แบรนด์ส่งสินค้าได้แม่นยำยิ่งขึ้น
สุรชัย จงเลิศวราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอเบล จำกัด ฉายภาพการขับเคลื่อนธุรกิจจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า(ดิสทริบิวเตอร์)ใน 3 ปีข้างหน้า จะเห็นการปฏิบัติการ “เชิงรุก” รอบด้าน ตอกย้ำการเป็น 1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีร้านค้าในมือมากถึง 1.4 แสนร้านทั่วประเทศ
เพื่อรักษาบัลลังก์ดิสทริบิวเตอร์ที่ต้องขับเคี่ยวกับดีเคเอสเอช ,ซี.พี คอนซูเมอร์โพรดักส์ ในสังเวียนเดียวกันเพื่อสร้างการเติบโต ทำให้เห็นการลงทุนครั้งใหญ่รอบ 17 ปี ด้วยการควักงบประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อขยับขยายธุรกิจ 3 ด้านสำคัญ แบ่งเป็น 1.ลงทุนด้านเทคโนโลยี 400 ล้านบาท ตั้งแต่ลุย SAP เวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งเป็นแกนหลักหรือหัวใจในการพัฒนาระบบต่างๆในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระบบจัดการขายและกระจายสินค้า(DMS) ระบบจัดการคลังสินค้า(WMS) ระบบจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า(CRM) และระบบการจัดการรายงานต่างๆ(BI) นับเป็นการเสริม “เขี้ยวเล็บ” สร้างความแกร่งให้กับการจัดเก็บข้อมูล บริหารสต็อกได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ลดการสูญเสียโอกาสทางการขาย เพิ่มรายได้ตามมานั่นเอง
2.ขยายสาขาศูนย์กระจายสินค้าย่อยควบคู่สำนักงานขาย ใช้งบราว 900 ล้านบาท เพราะอนาคตนอกจากการมุ่งส่งสินค้าให้แม่นยำ ปริมาณถูกต้อง ถูกช่องทางขายแล้ว การจัดเส้นทาง(Route)ขนส่งและกระจายสินค้าได้สั้นลง ส่งของเร็วขึ้นจำเป็นมาก เพราะโลกของการแข่งขันของธุรกิจ “Speed” ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตามแผนบริษัทจะขยายศูนย์กระจายสินค้าย่อยเพิ่ม 5 แห่ง ในทุกภาค และศูนย์กระจายสินค้าหลีกอีก 1 แห่ง รองรับสินค้าอีกราว 10,000 พาเลท จากปัจจุบันมีศูนย์ฯหลัก 1 แห่ง ย่านบางบอน และศูนย์ฯย่อย 24 แห่งทั่วประเทศ และเพิ่มหน่วยรถอีก 200 คัน จากเดิมมี 600 คัน
“การเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าย่อยและสำนักงานขาย ทำให้เราต้องเพิ่มทีมขาย และเกิดการจ้างงานเป็นคนในท้องถิ่น 400-500 คน นอกจากนี้ ยังใช้งบประมาณ 10% เพื่อการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายของการขยายด้านนี้ เราต้องการส่งสินค้าถึงร้านค้าและผู้บริโภคเป้าหมายให้เร็วกว่า 2 วัน ที่ทำได้ในปัจจุบัน รวมถึงรองรับโอกาสและธุรกิจใหม่ๆในอนาคตด้วย”
3.เปิดช่องทางขายใหม่ใช้งบลงทุนราว 200 ล้านบาท ทั้งออนไลน์ อาจเป็นการพัฒนามาร์เก็ตเพลสของตัวเอง นำสินค้าทั้งในและต่างประเทศมาจำหน่าย จะเห็นการขยายตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ(Vending Machine)เชิงรุกภายใต้ชื่อ TG Vending ที่มี 1,500 จุดในกรุงเทพฯและปริมณฑล รองรับตลาดรวมของตู้เวนดิ้ง แมชชีนมีขนาดใหญ่ราว 2 หมื่นตู้ และอัตราการเติบโต 2 หลักทุกปี ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าสะดวกสบายได้ตลอด 24 ชั่วโมง(ชม.)
ที่ขาดไม่ได้ คือการบุกตลาดต่างประเทศ โดยการเชื่อมเครือข่ายการค้าของกลุ่มธุรกิจทีซีพีในประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม แต่การบุกต่างแดนต้องสร้างฐานในประเทศให้แกร่งก่อน
การลุยลงทุนดังกล่าว ยังทำให้บริษัทสามารถรับสินค้านอกกลุ่ม “ทีซีพี” เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอด้วย จากปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่ เช่น บ.เอบี ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย)หรือโอวัลติน ,บ.อินบิสโก้ฯ หรือลูกอมโกปิโก้ ,บ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง มีสินค้าเจเล่ เมจิกฟาร์ม และแบรนด์ซันโทรี่ สินค้าหลัก เครื่องดื่มแบรนด์ และสินค้าในกลุ่มทีซีพี
ทั้งนี้ 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีสินค้าใหม่ๆนอกเครือมาเป็นลูกค้า สร้างการเติบโตด้านยอดขายให้กับบริษัท 5-10% สูงกว่าการโตของสินค้าในกลุ่ม และปีก่อนทุบสถิติยอดขาย 3 ครั้ง และหากดำเนินการตามแผน 3 ปี คาดว่าจะผลักดันรายได้รวมแตะ 3 หมื่นล้านบาท จากปีนี้คาดปิดที่ 2 หมื่นล้านบาท โตจากปีก่อนปิดที่ 1.7 หมื่นล้านบาท และสัดส่วนรายได้สินค้านอกเครือจะเพิ่มเป็น 60% จาก 40% และรายได้จากช่องทางขายใหม่ๆ เช่น ออนไลน์ เวนดิ้ง แมชชีนฯ เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันร้านค้าทั่วไปยังครองสัดส่วน 80-90%”
“เดอเบลตั้งมา 17 ปี เราต้องลงทุนต่อเนื่อง เพราะหลังจากกลุ่มธุรกิจทีซีพี ประกาศวิชั่นมุ่งสู่ยอดขาย 1 แสนล้านบาทในปี 2565 เราจึงต้องลงทุนใหญ่เพื่อหนุนวิชั่นให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่การขยายช่องทางขายใหม่ ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของธุรกิจขนส่งสินค้ารายใหม่ๆ ส่งผลกระทบเรา อย่างออนไลน์ ลูกค้าซื้อสินค้าได้ทันทีไม่ต้องรอให้เราไปส่งตามร้านค้า อนาคตช่องทางหลักหรือ Core channel ยังเป็นร้านค้า แต่รูปแบบร้านจะเปลี่ยนไป เราจึงต้องเพิ่มช่องทางเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปด้วย”