'ซี.พี.แลนด์’ ชิงเปิดตัวนอรธ์ปาร์ค ปาดหน้าบิ๊กโปรเจคพระราม 4
ตลาดอาคารสำนักงานยังคงเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูล ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย ระบุว่า ในปี2562 จะมีซัพพลาย เป็นอาคารสำนักงานใหม่รวม 5 แห่งเพิ่มเข้าสู่ตลาด โดยจะมีพื้นที่รวม 208,609 ตารางเมตร
และในปี 2563 – 2566 จะมีโครงการอีก 9 แห่งที่มีพื้นที่สำนักงานเพิ่มเข้าสู่ตลาด ส่งผลให้มีอุปทานเพิ่มขึ้นรวม 602,981 ตารางเมตร
โดยโครงการใหม่เกือบทั้งหมดจะที่ตั้งอยู่ใน"ย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) และศูนย์กลางธุรกิจใหม่ (New CBD) โดยเฉพาะย่านพระราม 4 เป็นโครงการคุณภาพเกรด A หนึ่งในจำนวนนั้นคือ บิ๊กโปรเจค “วัน แบงค็อก” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งอาณาจักรทีซีซี กรุ๊ป บนหัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 ที่พัฒนาในรูปแบบ‘มิกซ์ยูส’ ซึ่งจะเริ่มทยอยเปิดในปี 2564 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568
“ซี.พี.แลนด์” ธุรกิจของตระกูล เจียรวนนท์ คือหนึ่งในผู้เล่นตลาดอสังหาริมทรัพย์ จึงเร่งเปิดตัว ซี.พี.ทาวเวอร์ นอร์ธปาร์ค ในเดือนต.ค.ปีนี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Office in the park” เพื่อรองรับทุกรูปแบบธุรกิจ ภายใต้งบลงทุนกว่า 1,250 ล้านบาท โดยเป็นสำนักงานให้เช่าสูง 19 ชั้น บนพื้นที่ 46,800 ตร.ม. ตั้งอยู่ในโครงการนอร์ธปาร์ค บนถนนวิภาวดี – รังสิต กรุงเทพฯ โซนเหนือ อาคารออกแบบสถาปัตยกรรม ให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพ พื้นที่สีเขียวโดยรอบ
“เรามองเห็นโอกาสที่เข้ามารองรับดีมานด์ของตลาดในโซนCBD เก่ามาสู่ CBD ใหม่ บนถนนวิภาวดี – รังสิต กรุงเทพฯ โซนเหนือ ที่ได้รับอนิสงส์จากรถไฟฟ้าสายสีแดง ใกล้สถานีรถไฟฟ้าทุ่งสองห้อง รวมทั้งจำนวนประชากรในพื้นที่มากขึ้นสังเกตได้จากพื้นที่ในผังเมืองที่ระบุว่าเป็นพื้นที่สีส้ม จากเดิมที่เป็นพื้นที่สีเหลืองมีจำนวนประชากรน้อย ที่สำคัญต้องออกมาดีมานด์ กำลังซื้อในตลาดนี้ก่อนที่รายใหญ่จะเปิดตัวโครงการในปี2565 ” ศัลย์ มูลศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารอาคาร บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
เขายังเชื่อว่า ตลาดอาคารสำนักงาน ยังอยู่ภาวะ “ขาขึ้น” มาจากเทรนด์ของคนทำงานจะเปลี่ยนไปเป็นการใช้พื้นที่ โคเวิร์กกิ้งสเปซมากขึ้น เพราะรูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ต้องเข้าออกเป็น เวลาแต่ออฟฟิศสมัยใหม่ต้องสามารถทำงานได้ตลอด24 ชั่วโมง 365 วัน ขณะเดียวกันซัพพลายไม่เพียงพอกับดีมานด์ในตลาด ย่านศูนย์กลางธุรกิจ
ดังนั้นรูปแบบออฟฟิศของซี.พี.ทาวเวอร์ นอร์ธปาร์ค จึงดีไซน์ให้ตอบโจทย์ การทำงานแบบใหม่และกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ วางระบบเครื่องปรับอากาศแบบ Variable Refrigerant Flow (VRF) และการใช้ระบบควบคุมแยกเป็น Module สำหรับพื้นที่เช่าแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานเฉพาะจุดในบริเวณที่ต้องการช่วงนอกเวลางานได้ รวมถึงการจัดวางผังของแต่ละพื้นที่ให้มีความยืดหยุ่นหลากหลายรูปแบบ ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ครอบคลุมทุกพื้นที่ และระบบควบคุมลิฟท์แบบ Destination Control ทำให้มั่นใจถึงคุณภาพการก่อสร้างอาคาร ระบบบริหารการจัดอาคาร พร้อมระบบฟังก์ชั่นที่ทันสมัยเหมาะสมต่อการใช้งานของสำนักงานยุคใหม่ภายใต้งบลงทุนกว่า 1,250 ล้านบาท
“กลุ่มเป้าหมายบริษัทนอกเครือด้านดาต้านเซ็นเตอร์ ไอที เซอร์วิสโซลูชั่น เนื่องจากฟังก์ชั่นของออฟฟิศตอบโจทย์กับธุรกิจที่เติบโตไปสู่5G เพราะได้ลงทุนโครงสร้างบอร์ดแบรนด์รองรับไว้แล้ว คุณภาพเราเทียบเท่ากับตึก FYI คาดว่า หลังจากเปิดตัวในเดือนต.ค.นี้ จะมีผู้เช่า 30% จากนั้น 2 ปีจะมีผู้เช่าเต็ม 100% และภายใน8 ปีคืนทุน ”
ศัลย์ ยังกล่าวว่า จุดขายของอาคารสำนักงานคือ การเดินทาง และ สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รถบริการรับส่งไฟฟ้าที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง ระบบควบคุมไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศแบบออนดีมานด์ รวมทั้ง‘ราคา’ค่าเช่าที่ให้ผู้เช่นอยู่ได้และบริษัทอยู่ได้ โดยเริ่มต้นจาก 550 บาทต่อตร.ม. กรณีเช่าเหมาะชั้น (ตั้งแต่ชั้น5-15) ส่วนชั้น 16-18 เช่าแบ่ง 2-6 ยูนิต ราคา 600 บาทต่อตร.ม.ส่วนที่เป็นร้านค้า(ชั้น1) ค่าเช่า 800บาทต่อตร.ม. ถือเป็นพื้นที่อาคารสำนักงานเกรด A ในย่านนี้ ไม่มีคู่แข่ง และความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้นทุนที่ดิน ‘ต่ำ’ เพราะเป็นที่ดินที่ซื้อมา30 ปีแล้ว
เขายังเชื่อว่า ศักยภาพของกรุงเทพฯ โซนเหนือ จะเข้ามามีบทบาทและกลายเป็น ศูนย์ธุรกิจแห่งใหม่ หรือ CBD ใหม่ ที่จะรองรับ ผู้เช่าจากกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มนักลงทุน และธุรกิจอุตสาหกรรม ในอนาคต รวมทั้งรองรับภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและขยายโครงการ ที่เพิ่มขึ้นของพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่อง อาทิ การลงทุนด้านที่อยู่อาศัย การลงทุนด้านคมนาคม รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้น กลายเป็น‘จุดเชื่อม’ต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางขนาดใหญ่