นักวิจัยจีนใช้แบบจำลองคอมฯ คาดการณ์ ‘ทรัมป์’ ได้เป็นปธน.สหรัฐคนต่อไป

นักวิจัยจีนใช้แบบจำลองคอมฯ คาดการณ์ ‘ทรัมป์’ ได้เป็นปธน.สหรัฐคนต่อไป

ข้อมูลจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฟู่ตันในเซี่ยงไฮ้ คาดว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส 60%

การคาดการณ์เลือกตั้งสหรัฐของนักวิจัยจีน เปิดเผยโดย Centre for Complex Decision Analysis (CCDA) เมื่อวันอาทิตย์ (3 พ.ย.) 2 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งวันอังคารที่ 5 พ.ย. ท่ามกลางโพลสำรวจในช่วงสุดสัปดาห์จำนวนมากที่เผยว่าแคนดิเดตทั้งสองมีคะแนนสูสีกันมาก

กลุ่มนักวิจัยนำโดยตัง ชิปิง จาก School of International Relations and Public Affairs ของม.ฟู่ตัน ใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อคาดการณ์สัดส่วนคะแนนโหวตและคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งใน 7 รัฐสวิงสเตต และ 1 รัฐที่เคยมีการแข่งขันสูสี

โดยรัฐที่ได้รับเลือกมาคำนวณ เป็นรัฐที่มีคะแนนเสียงระหว่างผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันน้อยกว่า 5% ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2563 หรือรัฐสวิงสเตต ได้แก่ รัฐแอริโซนา จอร์เจีย มิชิแกน เนวาดา นอร์ทแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้นำรัฐฟลอริดามาคำนวณร่วมด้วย ซึ่งเคยเป็นรัฐที่มีการแข่งขันสูสีกันมาก และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐนี้ก็กลายเป็นฐานเสียงของรีพับลิกัน

การคาดการณ์ของ CCDA ด้วยแบบจำลองจำลองตัวแทน (ABM) พบว่า โดนัลด์ ทรัมป์มีโอกาสชนะในรัฐฟลอริดา รวมถึงรัฐมิชิแกน เนวาดา เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน ส่วนคามาลา แฮร์ริสจะชนะในรัฐจอร์เจีย แอริโซนา และนอร์ทแคโรไลนา

รายงานดังกล่าวเผยว่านักวิจัยได้รับผลคาดการณ์สุดท้ายนี้ เมื่อราว 1 เดือนก่อน โดยอิงข้อมูลที่สรุปเมื่อวันที่ 4 ต.ค.

ทั้งนี้ แบบจำลองตัวแทน (ABM) เป็นแบบจำลองการดำเนินการและการมีปฏิสัมพันธ์ของตัวแทนอิสระเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมที่ซับซ้อนและคาดการณ์ผลลัพธ์ วิธีนี้นิยมใช้อย่างแพร่หลายในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยนักวิจัยได้ใช้จำลองการแพร่ระบาดไวรัส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานโยบายเพื่อควบคุมการติดเชื้อ

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ใช้แบบจำลองมอนติคาร์โล 1 ล้านรอบ ที่ใช้คาดการณ์ความน่าจะเป็นของผลลัพธ์จำนวนมากด้วยการสุ่มตัวอย่างซ้ำๆ เพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์คะแนนโหวตในอีก 42 รัฐ และรัฐวอชิงตันอีกด้วย

ตามข้อมูลจาก CCDA เผยว่า นักวิจัยทำแบบจำลองเลือกตั้งสหรัฐ 3 ครั้งในปีนี้ ได้แก่ ในเดือนเม.ย. มิ.ย. และเดือนต.ค. โดยใช้ข้อมูลจากช่วงเวลาที่ต่างกัน

แต่สาเหตุที่ทีมวิจัยเพิ่งเผยแพร่ข้อมูลเนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาที่ว่า ผลการวิจัยอาจมีอิทธิพลต่อการลงคะแนนเสียงจริง

“ขอย้ำ การคาดการณ์ของเรานั้นเป็นเพียงการศึกษาเท่านั้น และเราไม่มีเจตนาสร้างอิทธิพลต่อกระบวนการเลือกตั้งของสหรัฐทางใดทางหนึ่ง” CCDA ระบุในรายงานวิจัย

ทั้งนี้ CCDA ก่อตั้งเมื่อปี 2556 และเป็นศูนย์วิจัยด้านสังคมเชิงคำนวณแห่งแรกในจีน ที่ให้การสนับสนุนทางเทคนิคสำหรับการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ ศูนย์แห่งนี้มีคาดการณ์การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งปธน.สหรัฐ 2563 ที่แม่นยำ รวมถึงคาดการณ์การเลือกตั้งวุฒิสภาสหรัฐในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย และมิสซูรี นอกจากนี้ยังมีความแม่นยำในการคาดการณ์เลือกตั้งผู้นำไต้หวันในปี 2559 2563 และ 2567 รวมถึงเลือกตั้งท้องถิ่นในเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2561

 

อ้างอิง: South China Morning Post