กพอ.เร่งกองทุนอีอีซีพันล้าน
นายกฯ ไล่เช็คเมกะโปรเจคก่อนชง ครม.เคาะสัญญาไฮสปีด พร้อมเงินอุดหนุนมาบตาพุด เผย กพอ.พิจารณาเกณฑ์บริหารกองทุนอีอีซี เล็งเก็บเงินผู้ลงทุนเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม การท่าเรือฯ ชะลอเจรจา “จีพีซี” รอเคาะตัดสิทธิ “เอ็นซีพี” ประมูลแหลมฉบัง
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (27 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยจะติดตามความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วงเงินร่วมลงทุน 6.5 แสนล้านบาท โดย กพอ.จะติดตามการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.)
นายคณิศ กล่าวว่า สกพอ.มีแนวคิดออกมาตรการรองรับความเสี่ยงในระหว่างการก่อสร้างโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลัก โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาหารือรายละเอียด ซึ่งการดูแลความเสี่ยงครั้งนี้อาจจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลด้านเงินทุนกรณีภาคเอกชนประสบปัญหา เพราะจะช่วยให้โครงการลงทุนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ไม่สะดุดจนกระทบแผนงานอีอีซี
เล็งตั้งเกณฑ์เก็บเงินเอกชน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า การประชุม กพอ.ครั้งนี้ จะมีการพิจารณาร่างประกาศการบริหารกองทุนพัฒนาอีอีซี ซึ่งในขั้นต้นกองทุนฯ ขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 1,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรงบประมาณในเบื้องต้นแล้ว 100 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบเพิ่มอีก 900 ล้านบาท
ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวครอบคลุมการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนอีอีซี รวมทั้งหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนอีอีซี โดยการตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้มีกองทุนดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยกองทุนอีอีซีจะทำหน้าที่ 3 ส่วน คือ 1.พัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมตลอดทั้งช่วยเหลือ หรือเยียวยาประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอีอีซี
2.สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อาศัยในอีอีซีหรือที่อยู่ใกล้เคียง และได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอีอีซี 3.เป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่เสริมประสิทธิภาพและความรวดเร็วการพัฒนาอีอีซี และการดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอมีคุณภาพในพื้นที่
สำหรับที่มาของกองทุนอีอีซีมาจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ และเงินบํารุงตามมาตรา 47 ที่เก็บจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและกิจการที่เกี่ยวเนื่องในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยหลังจากนี้จะประกาศอัตราการเก็บเงินจากผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีทั้งเขตส่งเสริมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และเขตส่งเสริมกิจการพิเศษ เช่น เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีดี) เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
รอผล กพอ. เคาะปมตัดสิทธิ
ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ รายงานผลการพิจารณาตัดสิทธิกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ให้ฝ่ายกฎหมาย สกพอ.ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อให้ความเห็นกรณีการตัดสิทธิร่วมประมูลของกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีแล้ว และจะเสนอ กพอ.รับทราบวันนี้ (27 พ.ค.)
ร.ท.กลมศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาตัดสิทธิกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีได้พิจารณาข้อมูลอย่างโปร่งใสและครบถ้วนตามข้อกำหนดในเอกสารเสนอโครงการ (RFP) โดยสาเหตุที่ต้องตัดสิทธิเนื่องจากเอกชนรายดังกล่าว ซึ่งยื่นเอกสารสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ลงนามไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการที่ถือเป็นสาระสำคัญ
กทท.ชะลอเจรจากัลฟ์-ปตท.
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ รอผลการพิจารณาของ กพอ.และยังไม่ได้ดำเนินการเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี โดยยังอยู่ระหว่างพิจารณาโครงสร้างทางการเงินที่ทางภาคเอกชนยื่นเสนอมา รวมทั้งยังไม่ได้ทำการพิจารณาเปิดซอง 5 ข้อเสนอเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ ส่วนผลการพิจารณาของคณะกฎหมาย สกพอ.มีความเห็นอย่างไร เห็นด้วยตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ หรือไม่นั้น ขณะนี้ตนยังไม่ทราบ
สำหรับกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.), บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ และบริษัท China Harbour Engineering Commpany Limited (จีน) ส่วนกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วย บริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัทนทลิน จำกัด, บมจ.พริมา มารีน, บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limmited (จีน)
ชงผลเจรจามาบตาพุดเฟส 3
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า การประชุม กพอ.วันนี้ (27 พ.ค.) จะติดตามความคืบหน้าการการเจรจาระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ ซึ่งการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ กนอ.กลับไปเจรจาจ่ายเงินร่วมลงทุนของรัฐให้กับเอกชนใหม่
ทั้งนี้ ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 กำหนดให้เอกชนลงทุนถมทะเล 1,000 ไร่ไปก่อน จากนั้นหลังจากแล้วเสร็จ 3 ปี กนอ.จะทยอยจ่ายเงินคืนให้เอกชนปีละ 600 ล้านบาท รวม 30 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.5% ซึ่งเอกชนมองว่าต้นทุนการเงินอัตราดอกเบี้ย 2.5% ทำไม่ได้ เพราะเป็นดอกเบี้ยที่รัฐกู้แต่ภาคเอกชนกู้ที่ 5-6% และสุดท้ายเจรจามาอยู่ที่ 4.8% ทำให้ กนอ.จ่ายเงินคืนเอกชนเพิ่มเป็นปีละ 720 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีการประเมินว่าแม้ กนอ.ต้องจ่ายคืนให้เอกชนเพิ่ม แต่มั่นใจว่า กนอ.ยังคงได้กำไร เพราะพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ จะสร้างคลังก๊าซ 200 ไร่ และอีก 800 ไร่ กนอ.นำต้นทุนที่เพิ่มมาบวกในราคาที่ดินได้ ซึ่งปัจจุบันมีราคาไร่ละ 10 ล้านบาท และอนาคตอีก 3 ปี เมื่อถมทะเลเสร็จจะทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น