หอการค้าภาคตะวันออก ชี้ เศรษฐกิจเติบโตในทิศทางที่ดี มีความพร้อมต่อยอดสู่อนาคต เร่งผลิตบุคลากรป้อนอีอีซี จี้รัฐทำโครงสร้างพื้นฐาน ชูมหานครผลไม้ หลังเกษตรกรคัดเกรด สร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 100% พร้อมเล็งกระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรอง
นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดเผยในการประชุมหอการค้า 5 ภาค ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกมีทิศทางที่ดี และพร้อมต่อยอดได้ในอนาคต โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.จันทบุรี ปี 2561 หอการค้าภาคตะวันออกเสนอรัฐบาลพิจารณา 21 โครงการ พบว่า ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2562 แล้ว 10 โครงการ ในปี 2563 อีก 3 โครงการ และเหลืออีก 8 โครงการที่ยังไม่ได้รับการจัดสรร ซึ่งทางหอการค้าภาคตะวันออกอยู่ระหว่างการติดตาม
ทั้งนี้ 10 โครงการที่ได้รับงบประมาณ เช่น การศึกษาออกแบบรถไฟทางคู่สายระยอง-จันทบุรี-ตราด การเปิดเดินรถไฟโดยสารด่วนพิเศษ (Sprinter) สายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ การศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บท ระบบขนส่งมวลชน เมืองพัทยา ศรีราชา และแหลมฉบังเพื่อเชื่อมโยงสถานีรถไฟความเร็วสูง
นายปรัชญา กล่าวว่า โครงการที่รับการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ประกอบด้วย 1.การศึกษาออกแบบก่อสร้างถนน เส้นทางเฉลิมบูรพาชลทิศ ระยะที่ 2 วงเงิน 77 ล้านบาท 2.การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพเส้นทางปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ (3079) วงเงิน 55 ล้านบาท
3.สนับสนุนภาคตะวันออกให้เป็น มหานครผลไม้โลก โดยต้นทางจะการลดการใช้สารเคมีและแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตด้วยวิธีการใช้รังสีมาทำหมันแมลงวันผลไม้ วงเงิน 10 ล้านบาท กลางทางจะจัดตั้งศูนย์พัฒนาตรวจสอบและรับรองคุณภาพผลไม้ภาคตะวันออก วงเงิน 42.15 ล้านบาท และ ปลายทางจะตั้ง Fruit Complex & Business Matching ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี วงเงิน 340 ล้าบาท
หนุนเชื่อมท่องเที่ยวเมืองรอง
สำหรับภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออก พบว่ามูลค่าการค้าชายแดนภาคตะวันออกปี 2560 ไทยส่งออก 1 แสนล้านบาท นำเข้า 2.1 หมื่นล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 7.9 หมื่นล้านบาท
ส่วนปี 2561 ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 1.19 แสนล้านบาท การนำเข้าลดลงเล็กน้อยที่ 2 หมื่นล้านบาท และไทยยังเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นที่ 9.8 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกัมพูชามากขึ้น ทางหอการค้าภาคตะวันออก เป็นชอบร่วมกันที่ปีนี้จะเพิ่มการนำเข้าให้มากขึ้น ซึ่งมีหลายสินค้าที่น่าสนใจ เช่น ผลไม้ เนื้อสัตว์ สิ่งทอ
ในขณะที่ด้านการท่องเที่ยว พบว่านักนักท่องเที่ยวมากที่สุดยังเป็นคนจีน รองลงมาเป็น รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และเยอรมนี แต่ส่วนใหญ่ยังนิยมท่องเที่ยวที่ชลบุรี ที่มีความหนาแน่นมากโดยในปี 2560 สูงถึง 9.2 แสนคน เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา เป็น 9.7 ล้านคน ซึ่งภาคตะวันออกยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ดังนั้นจะสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวกระจายไปยังเมืองรองมากขึ้น ในจ.นครนายก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ตราด และระยอง
ชี้ตลาดผลไม้ขยายตัว
สำหรับภาคการเกษตรช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าการค้าผลไม้ภาคตะวันออกมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีมาก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยผลไม้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณผลผลิตเท่าเดิม เนื่องจากเกษตรกรรู้จักการบริหารจัดการสวน ทำให้ได้ผลไม้ที่มีคุณภาพ การจำหน่ายจะคัดแยกเกรด เพื่อยกระดับราคาสู่ตลาดบน ถือเป็นแนวโน้มที่ดีและจะนำมาต่อยอดในปีต่อไป
ซึ่งจากการติดตามทุเรียน จะพบว่า ในปี 2558 มูลค่าที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ 28,223 ล้านบาท ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 32,236 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 14.22 % ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 47,538 ล้านบาท หรือ 47.47 % และปี 2561 มีมูลค่า 85,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.80 % หรือโดยรวมแล้วเพิ่มขึ้นกว่า100 % เมื่อเทียบกับปี 2558
ทั้งนี้แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก มีนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการ รถไฟด่วนพิเศษ หัวลำโพง-อรัญประเทศ พัฒนาบุคลากร เช่น การจัดการหลักสูตรการศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการ การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในสถานประกอบการ ส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น โครงการบิ๊กดาต้า เพื่อใช้วิเคราะห์ด้านการค้าและการลงทุน
ชงกระจายงบประมาณมากขึ้น
รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยและภาษีที่ดินให้กับประกอบอย่างเสมอภาคทั้งรายเล็กและรายใหญ่ การกระจายรายได้โดยการจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดมากขึ้น ประกันราคาสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างครบวงจรเพื่อกระจายได้รายไปสู่ชุมชน
“ในด้านศึกษา ที่ผ่านมาหอการค้าภาคตะวันออก ได้เสนอให้รัฐบาลปลดล็อกอิสระการศึกษาภาคตะวันออก เพื่อผลิตบุคลากรป้อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบ และสนับสนุนให้ 6 ทุกภาคของไทยเป็นพื้นที่นำร่องนวัตกรรมการศึกษา คือ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง สตูล และปัตตานี ยะลา นราธิวาส ในระยะเวลา 7 ปี ดังนั้นหอการค้าจะเข้าไปดูเพื่อเสริมสร้างเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่“
การปรับตัวเชิงกลยุทธ์ที่จะดำเนินการปี 2562-2563 ด้านเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แยกเป็น ที่หอการค้าจะดำเนินการเองคือ การยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ (จันทบุรี ตราด สระแก้ว) จัดหอการค้าแฟร์ โครงการ 1 หอการค้า ดูแลอย่างน้อย 1 ท่องเที่ยวชุมชน การทำมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตร และการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร
หนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
นายปรัชญา กล่าวว่า โครงการที่หอการค้าจะร่วมกับภาครัฐ คือ ศึกษาออกแบบก่อสร้างท่าเทียบเรือสาธารณะ บ้านด่านใหม่ เกาะช้าง มหานครแหล่งผลิตอาหารเกษตรปลอดภัยสูง มหานครผลไม้ ศูนย์กระจายสินค้าเกษตรปลอดภัยชายแดน รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการในอีอีซีด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ทั้งด้านการเกษตร การผลิต การบริการและการท่องเที่ยว
รวมทั้ง จะผลักดันการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ในชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราและจันทบุรี รวมทั้งเตรียมความพร้อมการยกระดับด่านชายแดนท่าเส้น ศึกษาออกแบบก่อสร้างถนนเฉลิมบูรพาชลทิศ รถไฟรางคู่ระยอง-ตราด พัฒนาระบบรถไฟด่วนพิเศษ เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และการค้า ขนส่งการค้าชายแดน โครงการถนนสีขาว และเพิ่มจุดบริการด้านศุลกากรบริเวณด่านชายแดน