จับตา 'ราคายางพารา' ไปต่อ หลังทะลุ 60.05 บาทต่อกก.
เผย 2 ปัจจัยดึงราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ทะลุ 60.05 บาทต่อกิโลกรัม กยท.จับมือสถาบันเกษตรกรซื้อราคาชี้นำตลาด-หน่วยงานรัฐใช้ยางสร้างถนน-ชลประทานเพิ่มขึ้น
นายธาดา พรหมมี ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ปัจจัยที่ทำให้ราคาประมูลทะเล 60 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ปัจจุบันการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้รับนโยบายจากรัฐบาล ด้วยการทำตลาดร่วมกับสถาบันเกษตรกรเพื่อร่วมกันผลิตกับกยท. และปรับรูปแบบตลาดให้ยางพาราในทุกพื้นที่เป็นเครือข่ายตลาดกลางยางพารา
ทำให้ยางพาราที่ประมูลทุกจังหวัดจะมีราคาเท่าๆกัน ทำให้เกษตรนำยางพารามาจำหน่ายกับสถาบันเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายตลาดกลางเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่สูงกว่าราคาที่เกษตรกรขายผ่านพ่อค้าคนกลาง
และในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมากยท.มีหน่วยรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ที่เข้ามาซื้อยางในตลาดกลางด้วยราคาชี้นำตลาด ก่อนจะนำไปให้สถาบันการเกษตรกรอัดก้อน แปรูป
ในขณะที่ทางกยท.ก็จะเป็นผู้จำหน่ายยางที่มีคุณภาพให้กับผู้ใช้ยางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาทางกยท.ได้จำหน่ายไปแล้วประมาณ 20,000 ตัน โดยมีผู้ซื้อรายใหญ่เข้ามาซื้อโดยตรงมากขึ้น
ปัจจัยต่อมาที่ช่วยทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น คือการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ อย่างเช่น โครงการทำถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้เข้ามาซื้อไปจำนวนมาก
รวมถึงหน่วยงานของกรมราชทัณฑ์ที่ซื้อน้ำยางพาราไปผลิตเป็นที่นอนให้ผู้ต้องขัง และกรมชลประทานก็จะมีการซื้อไปทำถนนด้วย ทำให้มีการใช้ยางในประทศเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
สำหรับการซื้อขายยางพาราด้วยวิธีการประมูลผ่านตลดากลางยางพาราจังหวัดสงขลาเพิ่มมากขึ้นกว่า 1 เท่า โดยในปี 2561 ที่ผ่านมามีจำนวนทั้งสิ้น 64,000 ตัน และคาดว่าในปีนี้การซื้อขายยางพาราด้วยวิธีการประชุมผ่านตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาจะเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ส่งออกมีกำหนดที่จะส่งมอบยางให้กับลูกค้า
“ในอดีตที่ผ่านมาการซื้อขายยางพาราด้วยวิธีการประมูลผ่านตลาดกลางยางพาราจังหวัดมีแค่ประมาณ 30,000 เท่านั้น แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างที่เห็นจากนโยบายของรัฐบาล” ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา กล่าว