กระทรวงเกษตรฯ เผยผลแก้หนี้เกษตรกรในรอบ 3 ปี สำเร็จกว่า 20,000 ราย
กระทรวงเกษตรฯ เผยผลแก้หนี้เกษตรกรในรอบ 3 ปี สำเร็จกว่า 20,000 ราย โดยไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐในการชดเชย มุ่งสร้างวินัยทางการเงินให้กับเกษตรกร รวมทั้งมีแผนฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความสำเร็จการดำเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ว่า ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 26/2560 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจขึ้น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีเกษตรกรเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 6.7 ล้านคน
ในจำนวนนี้ได้ขึ้นทะเบียนหนี้ จำนวน 468,558 ราย วงเงินเป็นหนี้ 85,823.93 ล้านบาท เป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติที่จะดำเนินการจัดการหนี้ได้จำนวนทั้งสิ้น 55,515 ราย วงเงินเป็นหนี้ 9,796 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เชิญเจ้าหนี้เหล่านี้ ซึ่งมีสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนรวมถึงสถาบันเกษตรกรมาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน สรุปผลการช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรดังกล่าวข้างต้น ประกอบด้วย
1) การแก้ไขปัญหาหนี้เร่งด่วนที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีหรือขายทอดตลาดตามคำพิพากษา มีเกษตรกรที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นกรณีจำนวน 4,643 ราย สามารถเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ให้ชะลอการดำเนินการทางกฎหมายได้ 2,299 ราย เจ้าหนี้ยืนยันที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป 444 ราย เกษตรกรแจ้งว่าได้ดำเนินการชำระหนี้ด้วยตนเองแล้ว 158 ราย ส่วนที่เหลืออีก 1,742 ราย เป็นกรณีที่ไม่เข้าสู่กระบวนการเจรจา
2) กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในกรณีต่าง ๆ เนื่องจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ไปทำสัญญากู้หนี้ยืมสินจากเจ้าหนี้แต่ละรายแตกต่างกัน คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจจึงได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรในแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้ 2.1 กรณีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติได้อนุมัติให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเข้าดำเนินการจัดการหนี้ให้กับเกษตรกร จำนวน 1,518 ราย วงเงินเป็นหนี้รวม 642.54 ล้านบาท และ 2.2 กรณีที่เกษตรกรขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์จัดการหนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นตัวกลางในการเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละสถาบันจนสามารถแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรลูกหนี้ ดังต่อไปนี้
(ก) ลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 36,605 ราย วงเงินที่เป็นหนี้ 6,382.67 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงค้างอีก 3,829.38 ล้านบาท ธ.ก.ส. ในฐานะเจ้าหนี้ได้ยินยอมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้กับเกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 มีเกษตรกรแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 18,149 ราย ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ 14,856 ราย และยังไม่แจ้งความประสงค์ 3,600 ราย
(ข) ลูกหนี้ของธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ซึ่งเป็นหนี้นอกภาคเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ได้เจรจากับผู้บริหารของทั้งสองธนาคารขอให้ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPLs ที่มีจำนวน 2,389 ราย วงเงินเป็นหนี้ 630.59.ล้านบาท โดยนำแนวทางที่ ธ.ก.ส. จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 มาใช้กับลูกหนี้กลุ่มนี้
(ค) ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เจรจากับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารที่เป็นสมาชิก ได้รับการยืนยันว่ายินดีลดหนี้ให้เกษตรกร โดยให้เกษตรกรลูกหนี้ชำระเพียงร้อยละ 50 ของเงินต้นคงค้าง ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นการกู้เพื่อการเกษตร วงเงินกู้ไม่เกิน 2.5.ล้านบาท และเป็นสมาชิกที่ได้ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้แล้ว หากเกษตรกรรายใดที่ยังไม่พร้อมที่จะชำระในคราวเดียว กระทรวงเกษตรฯ ได้มีหนังสือแจ้งเพื่อให้เกษตรกรไปติดต่อขอกู้เงินจากกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติที่ กฟก. จะซื้อหนี้ได้ 120 ราย วงเงิน 51.44 ล้านบาท และที่กองทุนของกระทรวงเกษตรฯ จะให้การช่วยเหลือ 573 ราย วงเงิน 383.45 ล้านบาท
(ง) ลูกหนี้ของสหกรณ์การเกษตร มีสมาชิก กฟก. เป็นหนี้จำนวน 15,973 ราย วงเงินเป็นหนี้ 2,345.01 ล้านบาท กระทรวงเกษตรฯ ได้เจรจากับสหกรณ์เจ้าหนี้ ปรากฏว่ามีสหกรณ์ที่ยินยอมให้ กฟก. ชำระหนี้แทนเกษตรกรได้ จำนวน 238.สหกรณ์ สมาชิก 1,398 ราย วงเงินเป็นหนี้ 599.10 ล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติให้มีการซื้อหนี้แล้ว 451 ราย วงเงิน 302.32 ล้านบาท และ (จ) ลูกหนี้ของนิติบุคคลอื่นได้มีการเจรจากับนิติบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นสมาชิก กฟก. ที่เป็นลูกหนี้นิติบุคคลนั้น ๆ ซึ่งผลการเจรจานิติบุคคลดังกล่าวขอให้ลูกหนี้ติดต่อโดยตรงเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
3) การแก้ไขปัญหาและการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 แก้ไขจำนวน 3 มาตรา คือ มาตรา 16 มาตรา 23 และมาตรา 37/9 อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนนำเสนอ เข้าที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
4) การบริหารจัดการระบบงานของ กฟก. ตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้จัดให้มีระบบบริหารจัดการด้านการเงินและบัญชีด้านบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน ด้านข้อมูลสารสนเทศและระบบโปรแกรมและฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร การบริหารจัดการคดีความ การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และการปรับปรุงแก้ไขระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารสำนักงานฯ เกิดความโปร่งใส เกิดประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าเชิงงบประมาณ อาทิ ได้ประกาศหลักการและนโยบายบัญชีให้เป็นไปตามหลักการและนโยบายบัญชีสำหรับหน่วยงานของรัฐ ฉบับที่ ๒ เป็นต้น
และ 5) การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้อนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้กับองค์กรเกษตรกร จำนวน 665 โครงการ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 10,659 ราย วงเงิน 67.03 ล้านบาท นอกจากนี้ได้จัดทำโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2560 จำนวน 1,114 โครงการ เกษตรกรได้รับการฟื้นฟู จำนวน 17,532 ราย วงเงินช่วยเหลือ 33.38 ล้านบาท รวมทั้งได้อนุมัติโครงการฟื้นฟูอาชีพให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เสนอโครงการด้วยตนเอง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรของพระราชา บ้านแหลมยาง จ.นครสวรรค์ - กำแพงเพชร สมาชิก 580 ราย วงเงิน 15 ล้านบาท
นับเป็นผลงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ
ในรอบ 3 ปี ที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวได้มากกว่า 20,000 ราย โดยภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณในการชดเชย เป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้กับเกษตรกรรวมทั้งมีการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน.