ทุนไต้หวันแห่เข้าเวียดนาม

ทุนไต้หวันแห่เข้าเวียดนาม

พาณิชย์เผยสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ดึงทุนไต้หวันหลั่งไหลเข้าไปลงทุนเวียดนาม ยักษ์ใหญ่ท็อปทรีผู้ผลิตหูฟังปักธงเข้าไปลงทุน ชี้ นักธุรกิจเวียดนามสนใจตั้งโรงงานทั้งตอนเหนือ-ใต้ของเวียดนาม สคต.โฮจิมินส์ ระบุ 5 เดือน เอฟดีไอพุ่ง 38%

นางนันท์นที วิบูลชุติกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ไทเป เปิดเผยว่า สคต.ไทเป ได้ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่มีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้โรงงานในจีนหลายแห่งทยอยกันโยกย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น โดยเฉพาะเวียดนามที่ถือเป็นจุดหมายด้านการลงทุนในลำดับต้นของนักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้ หากนับรวมว่าการลงทุนจากฮ่องกงเป็นการลงทุนจากจีนด้วยแล้ว ส่งผลให้การลงทุนจากจีนในเวียดนามในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 40% เลยทีเดียว ทำให้มีการพิจารณาว่า สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามขาดแคลนในขณะนี้ไม่ใช่คำสั่งซื้อ หากแต่เป็นที่ดินและแรงงาน

ทุนไต้หวันแห่เข้าเวียดนาม

ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้างโรงงานของ AMPACS Corp. ซ่ึงเป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตหูฟังยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติไต้หวัน โดยตั้งมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว มีฝ่ายค้นคว้าวิจัยอยู่ในไทเป และมีโรงงานผลิตในจีนที่เมืองคุนซานและตงกวั่น ซึ่งบริษัทฯ ได้ตัดสินใจลงทุนที่เวียดนามช่วงปลายปี 2561 โดยลงทุนระยะแรก 12 ล้านดอลลาร์ และจะมีมูลค่าการลงทุนเมื่อถึงปี 2563 รวม 50 ล้านดอลลาร์ ทำให้โรงงานที่เวียดนามเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของ AMPACS และเป็นโรงงานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในเขตจ.บิ่ญเซืองของเวียดนาม

ปักธงลงทุนเขต“บิ่ญเซือง”

นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมในจ.บิ่ญเซืองที่จะเป็นที่ตั้งโรงงานของ AMPACS เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างนายไช่เหวินรุ่ย อดีตนายกสมาคมนักธุรกิจไต้หวันประจำจังหวัดบิ่ญเซืองของเวียดนามและเครือ Becamex ของจ.บิ่ญเซือง โดยเขตจังหวัดบิ่ญเซืองนี้ เป็นพื้นที่ที่มีนักลงทุนจากไต้หวันมากที่สุด และที่ผ่านมาส่วนมากจะเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมแต่หลังจากที่เกิดสงครามการค้าขึ้น ก็เริ่มมีโรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทยอยย้ายฐานการผลิตจากจีนมาตั้งอยู่ที่นี่มากขึ้น

สำหรับความสนใจของนักลงทุนไต้หวันต่อเวียดนามไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงเฉพาะทางเวียดนามใต้เท่านั้น ในส่วนของเวียดนามเหนือก็มีนักลงทุนจากไต้หวันไม่น้อยเช่นกัน โดยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผานมา นาย Trinh Dinh Dung รองนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ได้ให้การต้อนรับนายเฉินรุ่ยชง รองประธานบริษัท Compal Electronics, Inc ซึ่งเป็นผู้ผลิต NB ในแบบ OEM/ODM รายสำคัญของโลก ที่ได้แสดงความสนใจเป็นอย่างมาก ที่จะเข้าไปลงทุนด้วยโปรเจคขนาดใหญ่ในเวียดนาม

ตั้งเป้าเป็นฐานผลิตส่งออก

สำหรับการตัดใจของ Compal น่าจะได้รับอิทธิพลจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น โดยย้อนหลังไปเมื่อปี 2007 Compal ได้ลงทุนในเขต จ.หวินฟุกในเวียดนามเหนือ โดยได้รับการจัดสรรพื้นที่ 3 ล้านตารางเมตร แต่นำมาพัฒนาเพียงไม่ถึง 140,000 ตารางเมตร ทำให้รัฐบาลเวียดนามขอพื้นที่คืน 2 ล้านตารางเมตร และโรงงานที่สร้างขึ้นก็ไม่ได้ทำการผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบัน ทางบริษัทฯ ได้เปลี่ยนนโยบายมาให้ความสาคัญกับการลงทุนในเวียดนามมากขึ้น

นอกจากจะมีการเดินเครื่องผลิตสินค้าของโรงงานเดิมแล้ว ยังจะมีการลงทุนเพิ่มเติมด้วย ซึ่งนายเฉินรุ่ยชงได้รับปากกับรองนายกฯ เวียดนามว่า Compal ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเพิ่มมูลค่าส่งออกให้เวียดนามจากมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 เป็น ประมาณ 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์ ต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจที่การเข้าลงทุนของ Compal ในครั้งนี้จะได้รับความสนใจจากรัฐบาลเวียดนามเป็นอย่างมาก

“เอฟดีไอ”5เดือนพุ่ง38%

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ได้สรุปข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึง 20 พ.ค.2562 เวียดนามได้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 1,360 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 6.46 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 38.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 หากรวมถึงการเพิ่มมูลค่าในการลงทุน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามในช่วงดังกล่าวจะอยู่ที่ 9.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561

สำหรับเอฟดีไอที่เข้ามาเวียดนาม นาย Pham Binh Minh รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่า รัฐบาลเวียดนามจะจัดลำดับความสำคัญสำหรับโครงการไฮเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่มีอำนาจจะต้องปกป้องสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกมายังเวียดนามเพื่อ Re-export เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ตั้งทีมรับมือสงครามการค้า

นอกจากนี้ เมื่อสงครามการค้าเกิดขึ้นในปี 2561 รัฐบาลเวียดนามได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินการพัฒนาของสงครามการค้าและกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างทันที โดยในระยะสั้น สงครามการค้าจะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าบางรายการของเวียดนาม แต่อาจทำให้จีดีพีของประเทศลดลง 0.2-0.3% โดยรัฐบาลเวียดนามได้เตรียมมาตรการเพื่อรักษาการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมั่นคงในเวียดนาม

ทั้งนี้ เวียดนามจะยังคงรักษาเศรษฐกิจมหภาคในประเทศอย่างต่อเนื่อง ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และสร้างความมั่นใจในความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการของเวียดนาม และปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุน
ชี้5ปัจจัยน่าลงทุนกว่าไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า สงครามการค้าส่งผลให้บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีนมีแผนย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น โดยในอาเซียนมองการเข้าไปลงทุนในเวียดนามเป็นลำดับแรก รองลงมาเป็นไทยหรือมาเลเซีย โดยมี 5 ปัจจัยหลักที่เลือกไปลงทุนในเวียดนาม คือ 1.เวียดนามได้เปรียบแรงงานที่มีความขยันและมีค่าจ้างไม่สูง

2.มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เวียดนาม-สหภาพยุโรป รวมถึงข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) 3.ตลาดภายในของเวียดนามมีขนาดใหญ่และใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกได้ 4.ค่าเงินเวียดนามอยู่ในะดับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ 5.รัฐบาลเวียดนามมีเสถียรภาพ

“บริษัทไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มีฐานการผลิตในจีนจะมองการย้ายฐานการลงทุนไปเวียดนามเป็นลำดับแรก ในขณะที่ไทยควรเร่งส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อดึงการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งไทยมีความพร้อมรองรับการลงทุนกลุ่มนี้ รวมทั้งไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็งกว่าเวียดนามจึงควรใช้จุดแข็งนี้แข่งกับเวียดนาม”