ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่นเป้าจีดีพีปี62เหลือ3.1%จาก3.7%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดงานเสวนาเรื่อง “มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง” เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2562 โดยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 3.1% จากเดิมที่ 3.7% จากภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการค้าโลก หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีโอกาสยืดเยื้อ
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการค้าโลกในระยะที่เหลือของปีนี้อาจถูกกดดันจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินที่เหลืออีก3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯทำให้มีการปรับลดประมาณการของการส่งออกในปีนี้ลงมาที่0% จากเดิมที่3.2% ซึ่งต้องติดตามผลการประชุมG20 และการหาทางออกของเกมการเมืองของทั้งสองประเทศรวมถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทแต่ทั้งนี้หากมีสัญญาณบวกจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีนมากขึ้นการส่งออกยังมีโอกาสโตในแดนบวกซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลขจีดีพีเอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการใหม่ที่2.9-3.3% ได้”
แม้ตัวเลขจีดีพีทั้งปีอาจลดภาพบวกลงจากเดิมแต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรกจากผลของฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้งอาทินโยบายประชารัฐประกันรายได้พืชผลเกษตรรวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วยแรงกระตุ้นเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี2563 ได้
ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้นการประชุมกนง.น่าจะยังคงนโยบายไว้ที่1.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้โดยให้น้ำหนักกับประเด็นเชิงเสถียรภาพคู่ขนานไปกับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มากขณะที่คาดว่าเฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ราว1-2 ครั้งในปีนี้หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มอ่อนแรงลง
ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยนั้นนางสาวณัฐพรมองว่าตัวเลขทั้งปีนี้น่าจะเติบโตที่4.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่5% โดยถูกถ่วงลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจรวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่คงทยอยรับรู้ผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนมาตรการLTV มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาขณะที่เอ็นพีแอลนั้นแม้จะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงระหว่างปีโดยเฉพาะจากหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างไปแล้ว(Re-Entry) แต่ปิดปีก็น่าจะรักษาระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารแต่ละแห่ง