RP จับเทรด์ธุรกิจใหม่ เสิร์ฟนักท่องเที่ยวไทย-เทศ
'ท่าเรือราชาเฟอร์รี่' รุกขยายเส้นทางในและนอกบ้าน ทดแทนกำลังซื้อลูกค้ากลุ่มเดิมหดตัว 'อภิชาติ ชโยภาส' หุ้นใหญ่ ส่งซิกศึกษา 4 เทรนธุรกิจใหม่ กำลังเป็นที่นิยมต่างชาติ พร้อมลงทุนท่าเทียบเรือเพิ่ม ขานรับ 2 ปี นักท่องเที่ยวภาคใต้แตะ 20-30 ล้านคน
เดือนก.ค. 2561 ธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ต้องเผชิญกับ 'ความท้าทาย' อีกครั้ง !! เนื่องจากเหตุการณ์อุบัติเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ 'ลดลง' ประกอบกับปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและในเมืองไทย
หนึ่งในธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความท้าท้าย คือ บมจ.ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ หรือ RP ผู้ประกอบกิจการเดินเรือเฟอร์รี่รายใหญ่ ระหว่างดอนสัก-เกาะสมุย-เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
'อภิชาติ ชโยภาส' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ หรือ RP เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวในสายตาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว !! สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น แม้ว่าธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาต้องเผชิญกับแรงกดดัน แต่หยุดนิ่งไม่ได้ ซึ่งทำให้บริษัทเห็นโอกาสเติบโตอีกมาก
ดังนั้น บริษัทจึงนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหุ้นมาลงทุนปรับปรุงและพัฒนาการบริการหลายๆ ด้าน ให้สอดรับกับยุคดิจิทัลและไลฟ์สไตล์ของผู้โดยสารที่เปลี่ยนไป เพื่อพร้อมให้บริการลูกค้าและผู้โดยสารอย่างครบวงจร
นั่นคือการลงทุนใน บริษัท จัดหางาน อาร์พีจ๊อบ จำกัด โดยมีเป้าหมายเป็นเสมือนการ CSR และเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบในเกาะ และผู้ประกอบการนอกเกาะ จากแรงงานที่ขาดแคลนบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เป็นแรงงานพื้นฐาน อาทิ พนักงานล้างจาน , พนักงานทำสวน ซึ่งบริษัทจะเป็นคนกลางให้กับผู้ที่สนใจจะเข้าไปทำงานบนเกาะสมุย , เกาะพะงัน และเกาะเต่า
การลงทุน บริษัท อาร์พี ทรานสปอร์ตเทชั่น จำกัด โดยเป็นธุรกิจการให้บริการรถยนต์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้ทำด้วยตัวเองแต่ใช้วิธีการไปจอยกับบริษัทคู่ค้า แต่ปัจจุบันบริษัทได้ลงทุนทำเองแบบครบวงจรแล้ว นั่นคือ บริษัทมีรถยนต์วิ่งให้บริการบนเกาะสมุย เกาะพะงัน รวมถึงการวิ่งให้บริการจากกรุงเทพฯ-เกาะพะงันด้วย โดยเป็นความร่วมมือกับ บมจ.เอทีพี 30 หรือ ATP30 ซึ่งปัจจุบันถือว่ารถที่วิ่งให้บริการในเกาะสมุยประสบความสำเร็จ
ขณะที่รถบริการที่วิ่งให้บริการระหว่างกรุงเทพฯ-เกาะพะงัน ยังอยู่ระหว่างการเริ่มต้นดำเนินการ คาดว่าปลายปีนี้หรือปีหน้ารายได้จากธุรกิจดังกล่าวจะ 'เทิร์นอะราวด์' ตามเป้าหมายที่วางไว้เขา บอกต่อว่า การลงทุนในปี 2562 บริษัทได้ลงทุนซื้อเรือเฟอร์รี่เข้ามาเพิ่มอีกจำนวน 3 ลำ และลงทุน 100 ล้านบาท ส่วนการพัฒนาท่าเรือ โดยท่าเทียบเรือที่เกาะสมุย ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 ท่าเทียบเรือแล้ว ซึ่งสามารถรองรับจำนวนคนโดยสารได้ 10,000 คนต่อวัน ซึ่งช่วงเทศกาลที่ผ่านมา ให้บริการนักท่องเที่ยว 6,000-7,000 คนต่อวัน และน่าจะรองรับไปได้ถึง 3 ปี
ขณะที่ ท่าเทียบเรือดอนสัก ปัจจุบันมี 3 ท่าเทียบเรือ ซึ่งเริ่มเป็นคอขวดแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายท่าเทียบเรือเพิ่มอีก 2 ท่า กลายเป็น 5 ท่าเทียบเรือ ซึ่งอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตก่อสร้าง และหากดำเนินการแล้วเสร็จคาดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยวจากเดิม 6,000 คนต่อวัน เป็น 20,000 คนต่อวัน
สำหรับเป้าหมายของบริษัทไม่ได้หยุดให้บริการแค่เกาะสมุย หรือ เกาะพะงัน เท่านั้น แต่ตอนนี้กำลังจะนำเรือไปเทียบท่าที่ 'เกาะเต่า' เพราะว่าอีก 2 ปี เกาะเต่าจะมีท่าเทียบเรือสาธารณะ ร่วมทั้งการลงทุนท่าเทียบเรือ 'เกาะพะลวย' (ซึ่งติดกับเกาะอ่างทอง) ต่อไปการเดินทางท่องเที่ยวหมู่เกาะอ่างทองใช้เวลาเดินทางเพียง 10 นาที ทำให้ค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยวประหยัดขึ้นมาก รวมถึงยังมีแผนพัฒนาเรือ หรือภายในเรือ Ferrys โดยได้ว่าจ้างทีมงานเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพการเดินเรือให้ดีมากขึ้น
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการศึกษานำเรือเก่าที่ปลดระวาง ไปให้บริการทะเลทางใต้ของ 'ประเทศเมียนมา' โดยเฉพาะเมืองมะริด เพราะว่าการที่จะนำเรือไปวิ่งได้เรื่องใหญ่คือต้องให้บริการครบวงจร เพราะว่าลูกค้าเราไม่ได้เป็นลูกค้าไฮเอนด์ ฉะนั้น ความต้องการของลูกค้าคือต้องการใช้บริการทั้งรถยนต์ต่อเรือ โดยเฉพาะทงรถยนต์
เนื่องจากมองทิศทางในอนาคตจะมีการเปิดตลาดด่านสิงขร ซึ่งเป็นตลาดชายแดนไทย-เมียนมา คาดว่าเมื่อไหร่ที่เปิดด่านสิงขรถาวร บริษัทก็เริ่มให้บริการได้ในทันที ซึ่งการข้ามไปเมียนมาใช้เวลาขอใบอนุญาตประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปีเท่านั้น และจะเป็นโอกาสนำนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีน เข้าไปเที่ยวมากขึ้น
'เรือเก่าที่เรามีเป้าหมายอยากนำไปวิ่งในประเทศที่เพิ่มเริ่มต้น โดยที่เราลงทุนไม่เยอะ เมืองมะริดก็เปรียบเหมือนจังหวัดภูเก็ตเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งความสดใหม่ของธรรมชาติยังมีมาก ฉะนั้น เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนชอบมาก'
'นายใหญ่' บอกต่อว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคตอนบน ในส่วนของเกาะสมุยภาพรวมธุรกิจฟื้นตัว ขณะที่เกาะพะงันในปีที่ผ่านมาคนในพื้นที่พฤติกรรมเปลี่ยนไป สะท้อนภาพจากจำนวนเที่ยวเรือเพิ่มขึ้นจากเดิมวิ่งจากดอนสัก-พะงัน วันละ 6 เที่ยว แต่ปัจจุบันบริษัทเปลี่ยนการเดินเรือเป็นดอนสัก-เกาะสมุย-เกาะพะงัน ซึ่งลูกค้ามีความสะดวกเพิ่มขึ้น
หากดูจากตัวเลขลูกค้าที่เดินทางระหว่างเกาะสมุย-เกาะพะงัน เติบโตถึง 36% และแนวโน้มน่าจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าลูกค้ามีทางเลือก และจากทิศทางอนาคตที่ลูกค้าเติบโตขึ้น จึงทำเกิด 'ธุรกิจใหม่' ซึ่งก็เป็นโอกาสของบริษัทในการลงทุน 4 ธุรกิจ คือ 1.รับซ่อมแซมโรงแรม-รีสอร์ท ในเกาะพะงัน อาทิ การเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศ (แอร์) ใหม่ , เครื่องกรองน้ำ , เปลี่ยนสุขภัณฑ์ เพราะว่าเกาะสมุยเป็นฐานยู่แล้ว
2.ธุรกิจทางการศึกษา ปัจจุบันคนในพื้นที่เกาะพะงันเข้ามาเรียนหนังสือในเกาะสมุยมากขึ้น 3.ธุรกิจช้อปปิง มีคนจากเกาะพะงัน และเกาะเต่า นั่งเรือมาช้อปปิงที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสซิเวิด ที่เกาะสมุย ซึ่งแนวโน้มเติบโตขึ้น
และ 4.ธุรกิจรถเช่า ในปัจจุบันเห็นลูกค้าลงเครื่องที่เกาะสมุยและเช่ามอเตอร์ไซด์ขี่ไปเที่ยวเกาะพงันแบบเช้าเย็นกลับซึ่งทิศทางนักท่องเที่ยวใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็มองต่อไปได้ว่าหากอนาคตบริษัทมีการให้บริการไปเกาะเต่า ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวก็ต้องใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก
จากทิศทางจำนวนนักท่องเที่ยวเกาะสมุย พบว่า มีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยปี 2560 จำนวน 5.51 ล้นคน ปี 2559 จำนวน 5.11 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 4.91 ล้านคน และปี 2557 จำนวน 4.51 ล้านคน ซึ่งในปีนี้มองว่าน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะว่าเราเห็นนักท่องเที่ยวประเทศมาเลเซียเข้ามามากขึ้น
'อาทิตย์ก่อนเราเดินทางไปเกาะสมุย ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถามว่าคิดว่า RP มีบริการไปเกาะเต่าด้วย เราก็ตอบไปว่าเรายังไม่มีบริการแต่อนาคตเราเดินเรือไปเกาะเต่าแน่นอน'
สำหรับเป้าหมายของบริษัท ในอีก 2 ปีข้าง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวภาคใต้ตอนบน (ชุมพร ,สุราษฎร์ธานี ,นครศรีธรรมราช ,กระบี่ ,ภูเก็ต ,ระนอง ) จะอยู่ที่ 20-30 ล้านคน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ที่มาท่องเที่ยวประมาณ 5% ที่เข้ามาในระบบของบริษัท
ทั้งนี้ ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เติบโต 5-10% จากปีก่อน แต่ก็ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซียที่หายไป และกำลังซื้อของคนไทยลดลง ซึ่งบริษัทก็พยายามหาลูกค้ากลุ่มอื่นเข้ามาทดแทน เช่น ลูกค้า อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น โดยการเข้าไปทำการตลาดผ่านแพ็กเกจท่องเที่ยว
สำหรับทิศทางผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/2562 คาดว่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับจากไตรมาส 1/2562 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นธุรกิจ แต่อย่างไรก็ดีบริษัทยังมั่นใจว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตของรายได้ปีนี้ ไว้ที่ 5-10% จากปีก่อน 750.43 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน จะมีการเซ็นสัญญากับลูกค้าเพิ่มอีก 1 ราย คาดว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่จะมาลงสนามบินสุราษฏร์ธานีได้ รวมถึงการให้บริการต่าง ๆ กับลูกค้า เช่น การบริการรถโดยสารรับส่งเข้าเกาะ-ออกเกาะ และบริการการจองตั๋วผ่านช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ขยายเส้นทางการท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพิ่มเติม และขยายธุรกิจเดินทางเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวทั้งจากกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของบริษัทในภาคใต้ให้เชื่อมโยงเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน
ล่าสุด บริษัทได้ทำสัญญาร่วมลงทุนกับสายการบินในประเทศเมียนมา เพื่อให้บริการจอง/จำหน่ายตั๋วเครื่องบินสายการบิน ในอนาคตยังมีแผนเข้าไปเปิดให้บริการเดินเรือเฟอร์รี่ในต่างประเทศ รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาเส้นทางที่เป็นไปได้ในการเปิดให้บริการเดินรถเส้นทางด่านสิงขร หากด่านสิงขรเปิดเป็นด่านถาวรเมื่อไหร่ น่าจะมีความชัดเจนขึ้น
ขณะที่บริษัทก็ได้มีการยื่นขอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับราคาค่าโดยสารขึ้นประมาณ 20% หลังจากที่ไม่ได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 52 และมีการลงทุนซื้อเรือเข้ามาเพิ่มอีก 3 ลำ รวมถึงค่าจ้างแรงก็ปรับตัวขึ้นด้วย โดยก็อยู่ระหว่างรอความชัดเจนดังกล่าวอยู่
ท้ายสุด 'อภิชาติ' ทิ้งท้ายไว้ว่า เราลงทุนในปีนี้ด้วยการซื้อเรือเฟอร์รี่เข้ามาเพิ่มอีก 3 ลำ และการขยายคอขวดท่าเรือดอนสัก ซึ่งจะเป็นการรับจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต