ประเทศจีนเปิดกว้างและร่วมมือนำความมั่งคั่งแก่ทุกฝ่าย

ประเทศจีนเปิดกว้างและร่วมมือนำความมั่งคั่งแก่ทุกฝ่าย

ประเทศจีนเปิดกว้างและร่วมมือนำความมั่งคั่งแก่ทุกฝ่าย

โดย Fu Rao

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวในงานประชุมใหญ่ทางเศรษฐกิจนานาชาติ ณ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SPIEF) ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ว่า “ประเทศจีนมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานร่วมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และรับผิดชอบต่อการสร้างชุมชนเพื่อรองรับอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานแบบพหุภาคีและส่งเสริมหลักโลกาธรรมภิบาล”

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของรัฐแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ออกเอกสารสมุดปกขาวภายใต้หัวข้อ “จุดยืนของจีนในการหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ” ซึ่งได้บันทึกกระบวนการหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไว้อย่างเที่ยงตรง เอกสารดังกล่าวได้ระบุว่า “มาตรการเข้มงวดต่างๆ ที่สหรัฐฯ ได้บังคับใช้กับจีน ล้วนไม่เป็นผลดีกับจีนหรือสหรัฐฯ และยังเป็นผลเสียกับประเทศอื่นๆ ในโลกอีกด้วย” และเน้นย้ำว่า “จีนจะยังคงเดินหน้าปฏิรูปและเปิดประเทศต่อไป ประตูของประเทศจีนจะไม่ปิด แต่จะเปิดกว้างยิ่งกว่าเดิม”

จากเอกสารฉบับนี้ ประเทศจีนได้ประกาศข้อความสำคัญ 3 ประการซึ่งทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ

ประการแรก ประเทศจีนนั้นให้ความเคารพอย่างสูงต่อสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) และจะเสริมสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศในการปกป้อง IPR สืบต่อไป จากรายงานดัชนีนวัตกรรมโลกปี 2561 โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ประเทศจีนได้รับการจัดอันดับในกลุ่ม 20 ประเทศที่มีเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมมากที่สุด และถือเป็นประเทศในกลุ่มรายได้อันดับกลางประเทศแรกที่ได้ขึ้นมาอยู่ใน 20 อันดับนี้ ประเทศจีนมีการส่งเสริมศักยภาพด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และสิทธิ์ในทรัพย์สินอื่นๆ ในประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ องค์การ WIPO ได้เผยแพร่รายงานตัวชี้วัดทรัพย์สินทางปัญญาโลกประจำปี (WIPI) ที่กรุงเจนีวา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 โดยระบุว่าในปี 2560 ประเทศจีนมีจำนวนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุดสำหรับสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า งานออกแบบทางอุตสาหกรรม และสิทธิ์ในทรัพย์สินอื่นๆ และความก้าวหน้าของจีนได้ชักนำให้อุปสงค์ในเครื่องมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยกระทรวงพาณิชย์ของจีน ในปี 2561 จีนได้จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นจำนวน 35,600 ล้านเหรียญ โดยในจำนวนนี้จ่ายให้สหรัฐฯ ถึง 8,640 ล้านเหรียญ หรือเกือบหนึ่งในสี่

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน กระทรวงอุตสาหกรรมและสารสนเทศของจีน (MIIT) ได้ออกใบอนุญาตสำหรับระบบ 5G เชิงพาณิชย์ (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดิจิทัลรุ่นที่ 5) ให้กับบริษัท China Mobile, China Unicom, China Telecom และ China Broadcasting Network (CBN) ซึ่งระบบ 5G นี้จะมีความเร็วสูงกว่าระบบ 4G สูงสุดถึง 10 เท่า มีความล่าช้าต่ำ และมีความเชื่อถือได้สูง จึงเป็นแนวทางการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารยุคใหม่ และเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ประเทศจีนได้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรเกี่ยวกับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่จีเอสเอ็ม (GSM) ในแบบ 5G มากถึงร้อยละ 34 ของจำนวนสิทธิบัตรทั้งหมด และนับเป็นครั้งแรกที่แผนแม่บทที่นำเสนอโดยภาคธุรกิจของจีนถูกรวมอยู่ในระเบียบโครงการโทรคมนาคมพื้นฐาน ภาคธุรกิจของจีนได้มีการเติบโตอย่างมั่นคงในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี 5G สามารถยกระดับการเจรจาต่อรองเพื่อสร้างมาตรฐาน และชักนำการพัฒนาไปสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ทั้งนี้ล้วนเป็นผลมาจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศ

ประการที่สอง ในฐานะผู้ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ ประเทศจีนได้สนับสนุนและส่งเสริมการค้าเสรีมาโดยตลอด โดยไม่นานมานี้จีนได้ประกาศใช้กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ จัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่อง 12 แห่งในเซี่ยงไฮ้, ไหหลำ และพื้นที่อื่นๆ รวมถึงจัดตั้งเขตทดลองระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศอีก 13 แห่งเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ภาคส่งออก จีนยังได้เปิดใช้ระบบงานเอกสารส่งออกแบบช่องเดียวจบทั่วประเทศ ซึ่งช่วยลดเวลาในการดำเนินการด้านศุลกากรได้เกินกว่าครึ่ง จีนได้จัดงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติ (CIIE) เป็นครั้งแรก และได้ลดพิกัดอัตราภาษีนำเข้าลงอย่างมาก รวมถึงได้เพิ่มมาตรการในการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพจากต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่ทำงานในจีนซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 จีนได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) จำนวน 173 ฉบับกับ 125 ประเทศและองค์การนานาชาติ 29 แห่ง เพื่อจัดตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า 82 แห่งในประเทศต่างๆ ที่อยู่ในเส้นทางการค้า ตั้งแต่ปี 2556-2561 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศในเขตเส้นทางการค้าดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นถึง 6 ล้านล้านเหรียญ โดยมูลค่าการลงทุนของจีนในประเทศเหล่านี้มีมากเกินกว่า 90,000 ล้านเหรียญ ตัวอย่างการพัฒนาเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความพยายามของจีนในการรักษาโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจและการค้าเสรี  

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออาเซียน ในปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 58,787 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.1 จากปีก่อน และมากกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของการค้าต่างประเทศของจีน ประเทศจีนนับว่าเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี ในขณะที่อาเซียนจัดเป็นคู่ค้าของจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสามรองจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้ อาเซียนได้แซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของจีนเป็นครั้งแรก ตัวเลขเหล่านี้ได้แสดงว่าการสนับสนุนการค้าเสรีของจีนนั้นมีประสิทธิภาพและสามารถทำได้จริง

ประการที่สาม ทุกประเทศควรจะแก้ไขปัญหาโดยหารือกันด้วยความสุจริตใจ ลดความเห็นต่าง ขยายผลประโยชน์ร่วมกัน และช่วยกันปกป้องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของโลก โดยธำรงไว้ซึ่งความเคารพซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียม และการเห็นแก่ประโยชน์ร่วมกัน การพัฒนาของจีนจะช่วยตอกย้ำความมั่นใจให้กับประชาคมโลก ซึ่งสามารถแปรรูปไปเป็นการกระทำที่ส่งเสริมการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ และการสร้างโลกใหม่ที่ดียิ่งขึ้น การเปิดใจและความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโลกที่ก้าวหน้าและมั่งคั่ง

เกี่ยวกับผู้เขียน : Fu Rao ดำรงตำแหน่ง Head of Hong Kong, Business Development Director ที่บริษัท Singularity Financial Ltd และเป็นนักวิจัยอาวุโสที่สถาบัน Hong Kong New Economics International Institute