'ผอ.ขสมก.' เผยรายได้เพิ่มวันละล้าน หลังขึ้นค่ารถเมล์ใหม่
"ผอ.ขสมก." เผยรายได้เพิ่มวันละล้าน หลังขึ้นค่ารถเมล์ใหม่ เล็งปลดพนักงาน 5,000 คนใช้ไอทีทดแทน คาดลดต้นทุนปีละ 1,500-2,000 ล้านบาท
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า เทคโนโลยียุคใหม่เปลี่ยนไปเร็วมากมีเทคโนโลยีใหม่มากมายที่สามารถนำมาลดต้นทุนให้กับองค์กรได้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินจำนวนแสนล้านบาท ดังนั้นการนำเทคโนโลยีจะเข้ามาใช้ควบคู่กับบุคลากรของ ขสมก. เพื่อสอดคล้องกับแผนลดรายได้ในแผนฟื้นฟู ขสมก. จึงมีแผนลดจำนวนพนักงานในรูปแบบโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) จำนวนทั้งสิ้น 5,000 คน ตามแผนที่วางไว้แบ่งเป็น ลดพนักงานในปี 63 จำนวน 600 คน ลดพนักงานในปี 64 จำนวน 2,000 คนและในปี 65 จำนวนมากกว่า 2,400 คน
อย่างไรก็ตามพนักงานที่โดนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ส่วนใหญ่เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร และพนักงานห้องขายตั๋ว เนื่องจากขสมก.จะพัฒนาระบบรถเมล์ไร้เงินสด กล่าวคือในอนาคตจะมีกล่องหยอดเหรีญ (Cash box) ติดตั้งบนรถเมล์ และจะมีการใช้บัตรโดยสารแบบ E-Ticket (อีทิคเก็ต) จึงไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานเก็บค่าโดยสารบนรถเมล์อีกต่อไป คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะลดต้นทุนพนักงาน ทั้งเงินเดือนและสวัสดิการได้ปีละ 39-40% หรือราว 1,500-2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีต้นทุนพนักงานประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท
นายสุระชัย กล่าวว่า ภายหลังจากกระทรวงคมนาคมได้อนุมัติให้ ขสมก. ปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่นั้นพบว่าสามารถเพิ่มรายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์กรราว 10% จากเดิมมีรายได้วันละ 10-11ล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้ 11-12 ล้านบาท คิดเป็นอัตรารายได้เพิ่มขึ้นวันละ 1 ล้านบาท หรือเดือนละ 30 ล้านบาท
สำหรับแผนการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วม หรีอ บัตรแมงมุม กับรถไฟฟ้านั้น ขอพิจารณาแนวทางพัฒนา 1 เดือนว่าจะใช้ระบบ 4.0 ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชลแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือจะใช้ระบบเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC ของธนาคารกรุงไทย ดังนั้นจึงยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถเชื่อมต่อตั๋วร่วมได้ภายในปีนี้ตามเป้าหมายกระทรวงคมนาคมหรือไม่
ส่วนกรณีบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เตรียมดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลังจากที่ ขสมก. บอกเลิกสัญญาโครงการติดตั้งระบบอีทิคเก็ต และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือกล่องเก็บค่าโดยสาร “แคชบ็อกซ์” (Cash box) บนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท โดยจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามจริงประมาณ 300 ล้านบาท นั้นตอนนี้เอกชนยังไม่ฟ้องร้องเข้ามา จึงยังไม่มีแนวทางต่อสู้คดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขสมก. ก็เสียประโยชน์เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องรอเข้าสู่กระบวนการศาล ขณะนี้ ขสมก. หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อหาแนวทางในการต่อสู้คดี ควบคู่ไปกับการว่าจ้างที่ปรึกษาสำนักงานทางกฎหมายที่เชี่ยวชาญกฎหมายแพ่งและกฎหมายปกครอง เพื่อเตรียมต่อสู้คดีกับเอกชนเรียบร้อยแล้ว