“จูนใจ” เอไอ แชทบอท โซลูชั่นสกัดโรคซึมเศร้า
“พอดีคำ ดอทเอไอ” สตาร์ทอัพสายสุขภาพจิต ผู้พัฒนาแชทบอท 'จับใจ' และ 'จูนใจ' ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตรวจสอบภาวะซึมเศร้า ต่อยอดเป็น Mood Tracker เป็นข้อมูลแก่จิตแพทย์-นักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วย
ที่ผ่านมาแชทบอท (Chatbot) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีหน้าที่ตอบกลับการสนทนาผ่านตัวอักษรแบบอัตโนมัติมีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)ทำให้มีความสามารถมากขึ้นจนหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมสื่อ ท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร รีเทล ฟินเทค ที่ต่างใช้ ‘แชทบอท’ในการตอบข้อความและบริการลูกค้า แต่ในวงการแพทย์ยังมีไม่มากนักเพราะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำงานร่วมกัน
“กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี”อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมงาน PORDEEKUM.AI กล่าวว่า จากแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาใช้ได้จริง จึงมองหาปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ( Pain Point) ที่มีอยู่มาเป็น ‘โจทย์’ ในการสร้างนวัตกรรมแชทบอท เนื่องจากพบว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยน่าเป็นห่วงเพราะจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนเสี่ยงมีภาวะซึมเศร้ามากขึ้นในปัจจุบัน แม้ว่าเมื่อเทียบสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยกว่ากลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่ข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า กลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
ขณะเดียวกัน คนที่มีภาวะซึมเศร้ารู้สึกอายไม่กล้าที่จะไปขอคำปรึกษา ขณะที่จำนวนนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ในประเทศไทยมีจำนวนจำกัด จากการประเมิน นักจิตวิทยา 1 คน ต้องรองรับผู้ป่วย 2,500 คน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในทางปฏิบัติ ฉะนั้นแนวทางแก้ไขที่ทำได้คือการทำแชทบอท “จับใจบอท” (Jubjai Bot ) ขึ้นมารองรับเปรียบเหมือนกองทัพมดที่กระจายไปทั่วประเทศ ที่สามารถให้บริการได้ตลอด24ชั่วโมง 7 วัน ใครก็สามารถเข้าไปใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องระบุตัวตน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด โดยให้บริการประเมินภาวะซึมเศร้าของผู้ที่ใช้งานผ่าน เฟซบุ๊ค ,แมสเซนเจอร์ เพราะจากรีเสิร์ชพบว่า ปัจจุบันคนไทยชอบแชทมากกว่าคุย
“เรามองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาแชทบอทด้านจิตวิทยาเป็นรายแรกในประเทศ เริ่มต้นจากการ detect ว่าคนๆนั้นเป็นหรือไม่เป็นโรคซึมเศร้าเพราะแนวโน้มคนเป็นโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆจึงมองหาเทคโนโลยีเอไอที่จะมาตรวจจับคำที่สื่อได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกผ่านการแชทเพราะคนติดโซเชียล ”
โดยนำความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI มาผสมผสานกับศาสตร์ทางจิตวิทยาเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าผ่านทางการพัฒนาระบบ Psychological Emotional Intelligent AI Engine เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าผ่านทางการพูดคุยที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ประเมินโรคซึมเศร้าก่อนจะไปสู่กระบวนการบำบัดรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียชีวิตที่เกิดจากภาวะซึมเศร้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งให้บริการฟรี
หลังจากนั้นได้พัฒนาแชทบอท ‘จูนใจ’ (TuneJai) ทำหน้าที่เป็น mental health care chat ที่มีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) สามารถเข้าใจ และโต้ตอบกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้อย่างเหมาะสมตามหลักจิตวิทยาถือเป็น Emotional Assistant ที่อยู่กับผู้ใช้งานทุกที่ ทุกเวลาจุดประสงค์เพื่อทำให้ผู้ใช้มีอารมณ์ด้านลบน้อยลง เหมือนเป็นผู้ช่วยเหลือด้านอารมณ์ในแต่ละวัน พร้อมทั้งเก็บข้อมูล ในแต่ละวันเสมือนเป็น “มู้ด ไดอารี่” หรือ Mood Tracker เป็นเครื่องมือติดตามอารมณ์ประจำวัน ที่จะช่วยให้เรารู้จักกับอารมณ์ตัวเองมากยิ่งขึ้น และสามารถบ่งบอกพฤติกรรมของผู้ป่วยเพื่อให้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาใช้เป็นข้อมูลในการวางแนวทางรักษาได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เพราะสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ของผู้ป่วย
“แม้ปีครึ่งที่ผ่านมาจะยังไม่ได้มีผลกำไรทางธุรกิจ เพราะส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและบางส่วนเป็นบริการฟรี แต่ที่อยู่ได้ เนื่องจากได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการอินโนเวชั่นฮับของทปอ.และโครงการส่งเสริมนักวิจัยและผู้ประกอบการนวัตกรรมดีฟ เทคโนโลยีที่ให้ทุนต่อยอดจากจับใจ มาเป็นจูนใจ ซึ่งจะเป็น Engine หลักที่จะนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ โดยคิดค่าบริการตามโมเดลธุรกิจที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดและมั่นคงในอนาคต ”
โมเดลแรก คือการขายไลเซ่นส์แชทบอท ให้กับโรงพยาบาล หรือบริษัทเทเล เมทัล เฮลท์ ต่างๆ เพื่อนำแชทบอทไปใช้สนับสนุนการทำงานของแต่ละหน่วยงาน โมเดลสอง จะเป็นการเปิดให้บริการให้กับทางกลุ่มองค์กรต่าง ๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โมเดลสาม จะเป็นลักษณะ B2C (Business to Consumer)ที่เป็นโลว์คอสให้กับผู้ใช้ทั่วไปในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ในราคาไม่เกิน100บาทต่อเดือน เพื่อใช้ประเมินอารมณ์ของตัวเอง
นอกจากนี้ยังมองอีกโมเดลธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจคือ การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเข้ามาให้การสนับสนุน คอร์สของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาแต่ละคนมาไว้ใน จูนใจบอท ซึ่งผู้ใช้งานที่สนใจคอร์สการรักษาในรูปแบบไหน ของใครก็สามารถเข้ามาเลือกได้ โดยรายได้จะแบ่งกันระหว่างเจ้าของคอร์สกับบริษัท อย่างไรก็ตามรายได้หลักจะมาจากการขายไลเซ่นส์มากกว่า 50%
“ปัจจุบันประเทศไทยมีคนเป็นโรคซึมเศร้า 1.8 ล้านคน ยังไม่เข้ามาทำการรักษา 1.5 ล้านคน เข้ามาทำการรักษาแค่ 3 แสนคน ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มคนที่ไม่เป็นแต่มีแนวโน้มที่จะเป็น ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่มาก อาทิ กลุ่มคนที่มีคดีความต้องขึ้นโรงขึ้นศาล กลุ่มที่มีอาการบาดเจ็บสาหัส แขน ขาขาด เป็นต้น จึงเป็นโมเดลธุรกิจที่มีศักยภาพ”
อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของการทำดีฟ เทคโนโลยีคือการทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องโดยการขยับจากความสามารถพื้นฐานของปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่มีความสามารถทางด้านไอคิว มาเป็นความสามารถทางอีคิว ที่สามารถตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกของคนได้มากขึ้น
“เชื่อว่าในระยะยาวเราสามารถที่จะพัฒนาเอไอ แชทบอทที่เก่งทางด้านอีคิวเกิดขึ้นได้จากฝีมือคนไทย และหลังจากที่ทำตลาดในประเทศจนประสบความสำเร็จแล้วบริษัทมีแผนขยายไปตลาดต่างประเทศ”
จุดเด่นเทคโนโลยี
------------------
ทางโต“สตาร์ทอัพสายสุขภาพจิต”
- ตอบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
- แก้ปัญหา Pain Point
- ได้ข้อมูลถูกต้องแม่นยำ
- ให้บริการทุกที่ทุกเวลา