อนุฯอุทธรณ์เมินข้อเสนอเอ็นพีซี

อนุฯอุทธรณ์เมินข้อเสนอเอ็นพีซี

คณะอนุกรรมการอุทธรณ์อีอีซีมีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอกลุ่มเอ็นพีซีในโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ส่งผลเหลือเอกชนกลุ่มเดียวลุ้นคว้าโครงการ

 “คณิศ” ชี้ต้องรอศาลปกครองพิจารณาตามคำร้องเอกชนก่อนดำเนินการต่อ ด้านบอร์ด กพอ.ไฟเขียวผังเมือง 3 จังหวัดอีอีซี 8 ล้านไร่

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมรับทราบความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการ กพอ. ที่มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานซึ่งยืนตามความเห็นของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ไม่รับพิจารณาผู้ร่วมประมูลของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีที่ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัท PHS Organic farming จำกัด และบริษัท China Railway construction Corporation จำกัด เนื่องจากการลงนามในเอกสารไม่ครบถ้วนและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์จึงไม่ผ่านการประเมิน

อนุฯอุทธรณ์เมินข้อเสนอเอ็นพีซี

กลุ่มจีพีซีเข้าวินแหลมฉบังฯ

ดังนั้นจึงทำให้เหลือผู้ร่วมประมูลรายเดียว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทพีทีทีแทงค์ เทอร์มินัลจำกัด และChina Harbor engineering Company Limited

“ภายหลังจากที่คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองฯมีการพิจารณาเรื่องนี้แล้วทราบว่าเอกชนจะไปยื่นเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณา ซึ่งก็ต้องรอว่าจะศาลจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณานานเท่าไหร่ ถึงจะสามารถประกาศผลได้ภายหลังศาลมีการชี้ขาดแล้ว”นายคณิศ กล่าว

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผยว่าที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รวมพื้นที่ 8,291,250 ไร่ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2580 จะมีประชากรเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 4 ล้านคนเศษเป็น 6 ล้านคนเศษ

โดยหลังจากนี้จะมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและประกาศใช้เป็นผังเมืองรวม 3 จังหวัดแทนผังเมืองเดิมที่มีอยู่ 15 ผังเมือง จากนั้นกรมโยธาธิการและผังเมือง จะจัดทำร่างผังเมืองย่อยรายอำเภอรวม 30 อำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัด ตาม.พ.ร.บ.ผังเมืองเพื่อให้เป็นข้อมูลในการจัดทำผังเมืองและใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซีตามขั้นตอนต่อไป

ผังใหม่แบ่งใช้พื้นที่ชัดเจน

ทั้งนี้ร่างผังเมืองในพื้นที่อีอีซีฉบับใหม่มีสาระสำคัญคือแบ่งการใช้พื้นที่ตามการใช้ประโยชน์ ได้แก่ พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดเป็น 20.25% พื้นที่เกษตรกรรม 58.51% พื้นที่เมืองและที่อยู่อาศัย 13.23% และพื้นที่อื่นๆ 2.89% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยในส่วนของพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพื้นที่สีม่วงมีการปรับเพิ่มขึ้น 165,085 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ทำให้ภายในพื้นที่ 3 จังหวัดในอีอีซีจากเดิมที่มีพื้นที่อุตสาหกรรมประมาณ 3 แสนไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนไร่ ในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งรวมถึงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรม 904 จ.ฉะเชิงเทรา ประมาณ 1 หมื่นไร่ ซึ่งเป็นไปตามหลักการของการจัดทำผังเมืองที่ต้องการให้การขยายนิคมอุตสาหกรรมอยู่ใกล้พื้นที่บริเวณเดียวกัน

สำหรับการปรับปรุงร่างผังเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซีได้ยึดแนวทางที่สำคัญได้แก่ การปกป้องพื้นที่ป่าในเขต 3 จังหวัดอีอีซี โดยกำหนดว่าภายในระยะเวลา 20 ปี พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่อนุรักษ์จะไม่ลดลง ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมาจากการลดพื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม ที่ประกอบไปด้วยที่ดินประเภทชุมชนชนบทและที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฏีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่สามารถทำการผลิตได้อย่างเต็มที่โดยปรับลดที่ดินประเภทนี้ลง 8% หรือประมาณ 673,743 ไร่ 

โดยนำพื้นที่ในส่วนนี้ไปจัดสรรเป็นพื้นที่ที่สอดคล้องกับการใช้งานในอนาคต ได้แก่ พื้นที่ชุมชนเมืองจำนวน 3.3% พื้นที่สำหรับรักษาสภาพแวดล้อมที่เว้นว่างไว้เป็นแนวกันระหว่างแม่น้ำ กับพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 3% ทั้งนี้พื้นที่เกษตรที่เป็นพื้นที่เกษตรชั้นดีใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกประมาณ 1.1 ล้านไร่ การจัดทำผังเมืองใหม่ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างไร

นอกจากนี้ กพอ.ยังรับทราบการเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่คงเป้าหมายไว้ที่ 1 แสนล้านบาทต่อปีโดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายได้แก่ การให้บริการOne Stop Service โดย EEC OSS จะเปิดตัวปลายเดือนส.ค.นี้ การขับเคลื่อนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับเพื่อนบ้านและเอเชีย ลดต้นทุนLogistics ด้วยความเชื่อมโยงขนส่งทางกายภาพและระบบข้อมูลทันที

ดันอีอีซีเชื่อมเอเชีย

การจัดตั้งคณะทำงานจัดระบบเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (ECC ประเทศไทย-CLMV เอเชีย)การสนับสนุนจัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัลEECd และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับการลงทุนวิจัย และนวัตกรรม EECi ให้เป็นรูปธรรม ดำเนินโครงการการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP)กับโครงการEECd ให้เป็นเมืองอัจฉริยะตัวอย่างและจุดดำเนินการ 5Gและการประสานภาคเอกชนให้เตรียมใช้บริการจากEECi ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เร่งการยกระดับพื้นฐานด้านสังคมการศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการภาคการผลิตและบริการผลักดันDemand Driven โดยร่วมกับกระทรวงแรงงาน ทำงาน retrain ระยะสั้นให้กับผู้ที่จะการศึกษา และผู้ทำงานในโรงงานให้ตรงกับเทคโนโลยีใหม่ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดัน อาชีวศึกษาตาม สัตหีบโมเดล และ ดึงเอกชนมาร่วมมือเต็มที่ผลักดันมหาวิทยาลัยให้ปรับตัวเพื่อผลิตบุคลากรที่จบแล้วมีงานทำ มีรายได้สูงและการพัฒนาการสาธารณสุข ให้เป็นตัวอย่างกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ปรับระบบสาธารณสุขพื้นฐาน 

โดยร่วมมือกับเอกชน ในการลงทุนเพื่อให้บริการร่วมกับภาครัฐ /จัดวางระบบ ศูนย์เฉพาะเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ครบถ้วนเพิ่มการลงทุนMedical Hub กับเอกชนชั้นนำทั่วโลก โดยเฉพาะด้านการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุล มาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การเลือกรูปแบบการรักษา การเลือกใช้ยา รวมถึงการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพ(Precision Medicine)