หอการค้าไทย แนะ สกพอ.ออกระเบียบหนุนธุรกิจในพื้นที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้จังหวัด หนุนเม็ดเงินพัฒนาท้องถิ่นหลายพันล้านบาท ลดแรงต้านชุมชน เร่งพัฒนาเอสเอ็มอีเชื่อมอุตฯ ไฮเทค
ชี้บ้านฉาง-ริมเส้นทางไฮสปีด เหมาะพัฒนาเมืองใหม่ ชงแก้มาตรการแอลทีวี หนุนซื้อบ้านหลังที่ 2 ในอีอีซี
นายปรัชญา สมะลาภา ประธานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย เปิดเผยว่า การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดประโยชน์กับคนพื้นที่ รัฐบาลควรออกกฎระเบียบดึงดูดให้ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในอีอีซีต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับจังหวัดที่ตั้งโรงงาน เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นำรายได้ส่วนนี้ไปพัฒนาท้องถิ่น
ทั้งนี้ กฎหมายปัจจุบันเปิดให้นักลงทุนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใดก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ทำให้บริษัทเหล่านี้เลือกที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ หากทำให้เกิดการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ ก็จะทำให้มีเงินเข้ามาบำรุงท้องถิ่นอีกหลายพันล้านบาทต่อปี จะทำให้ชุมชนต่างๆ ต้อนรับโครงการลงทุนในอีอีซีลดปัญหาการต่อต้านที่เกิดขึ้น เพราะท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์เต็มที่
ดันโอกาสธุรกิจเอสเอ็มอี
ส่วนเอสเอ็มอีในพื้นที่อีอีซียังไม่ได้รับผลกระโยชน์จากการพัฒนาอีอีซีมากนัก เพราะจะต้องรอให้เกิดการลงทุนโรงงานขนาดใหญ่ก่อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาก่อสร้างโรงงาน 3 ปี จากนั้นจึงจะเข้ามาเชื่อมต่อซื้อชิ้นส่วนซัพพลายเชนจากโรงงานเอสเอ็มอีในพื้นที่
ดังนั้นในช่วงเวลานี้รัฐบาลควรจะรับเข้ามายกระดับเอสเอ็มอี พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ปรับปรุงระบบบริหารจัดการต่างๆ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อซัพพลายเชนกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งหากไม่เร่งพัฒนาเอสเอ็มอีเหล่านี้จะทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่สามารถเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับเอสเอ็มอีในพื้นที่ได้ เพราะมีเทคโนโลยีที่ต่างกัน และสุดท้ายต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ
“หากไม่ส่งเสริมเอสเอ็มอีจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเอสเอ็มอีกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากขึ้น และอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศจะขาดการพัฒนา”
จี้เร่งคลอดผังเมืองใหม่
ส่วนการพัฒนาเมืองใหม่ และขยายเมืองเก่าไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้นั้น จากการศึกษาพบว่าปี 2580 จะมีประชากรในพื้นที่ 3 จังหวัดของอีอีซี 6.29 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่า จากประชากรปี 2560 ที่มี 2.93 ล้านคน
ดังนั้นจึงต้องขยายตัวเมืองเก่าและสร้างเมืองใหม่ในรูปแบบสมาร์ทซิตี้มารองรับ แต่ปัจจุบันไม่มีความชัดเจนเรื่องผังเมืองอีอีซีที่จะกำหนดการสร้างเมืองใหม่ และแนวทางการขยายตัวเมืองเก่าในจุดใดบ้าง ทำให้เอกชนยังไม่กล้าที่จะลงทุนอสังหาริมทรัพย์
ส่วนรูปแบบการสร้างเมืองใหม่จะต้องเป็นความร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ภาครัฐจะต้องเข้ามาลงทุนตั้งหน่วยราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ภาคเอกชนจะเข้ามาลงทุนอาคาร ที่พัก ย่างธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า และโครงการสันทนาการ
ดันบ้านฉางพัฒนา“เมืองใหม่”
เบื้องต้นรัฐบาลควรชี้จุดที่ชัดเจนไปเลยจะพัฒนาพื้นที่ไหนเป็นสมาร์ทซิตี้ เช่นในตัวเมืองของ 3 จังหวัดในอีอีซี คือ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ใหญ่มาก แต่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นและดึงเอกชนมาร่วมดำเนินงาน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เคยมีการศึกษาพัฒนา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่าง จ.ชลบุรี และระยอง มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบถ้วน อยู่กึ่งกลางของแหล่งอุตสาหกรรมแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา และแหล่งอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งยังเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ ทำให้เอกชนเข้าไปใช้พื้นที่ได้ง่าย ลดปัญหาการจัดหาพื้นที่มาพัฒนา ทำให้มีความเหมาะสมสูง
นอกจากนี้ ในพื้นที่ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง และรอบสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงตั้งแต่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา ระยอง จะเจริญอย่างรวดเร็ว จึงมีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นเมืองใหม่ หรือยกระดับเมืองเก่าเป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งมั่นใจว่ามีดีมานด์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่รัฐจะต้องออกกฎระเบียบที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนพัฒนาเมืองที่รวดเร็ว ซึ่งต้องสร้างดีมานด์และมีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยความสะดวกจึงจะพัฒนาเมืองได้เร็ว
ส่วนการกำหนดพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภาในการพัฒนาไปสู่มหานครการบิน มองว่ามีความเหมาะสม เพราะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจการบินต่างๆ ทำให้เป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นรอบสนามบินเป็นจำนวนมาก แต่ยังติดปัญหาในบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่เหลืออยู่ไม่มาก ทำให้ลงทุนพัฒนาเมืองได้ลำบาก
“ในเรื่องการจัดหาที่ดินเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาเมือง เพราะหากรัฐวางกำหนดพื้นที่ใดเป็นเขตพัฒนาเมืองใหม่แล้ว แต่ในความเป็นจริงเป็นพื้นที่หนาแน่น มีการต่อต้านจากชาวบ้าน หรือมีราคาที่สูงจนเกิดไปก็พัฒนาเป็นเมืองใหม่ได้ยาก ดังนั้นการกำหนดพื้นที่การพัฒนาเมือง หรือชุมชนใหม่ ควรจะเน้นพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐก่อน”
แก้“แอลทีวี”หนุนบ้านหลังที่2
สำหรับกฎระเบียบที่เป็นปัญหาที่สำคัญในการพัฒนาเมืองในอีอีซี คือ มาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (แอลทีวี) ทำให้การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านหลังที่ 2 จะต้องใช้เงินดาวน์ที่สูงกว่าปกติ และไม่สามารถกู้ได้เต็ม 100% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่กฎระเบียบนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองในอีอีซี เพราะบุคลากรที่มาทำงานในอีอีซี ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่อื่นจึงต้องมาซื้อที่พักอาศัยในอีอีซีเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งหากไม่แก้ไขกฎระเบียบนี้จะทำให้พัฒนาเมืองในอีอีซีทำได้ยาก
นายปรัชญา กล่าวว่า ราคาที่ดินในอีอีซีเพิ่มขึ้นมากสูงกว่าเดิม 50-100% เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมือง เพราะราคาที่ดินเป็นต้นทุนหลักหากราคาที่ดินแพงจนผู้บริโภครับไม่ได้โครงการอสังหาริมทรัพย์จะชะลอตัวลง แต่ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หากรัฐบาลเร่งโครงการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ให้เสร็จตามเป้าหมาย เร่งรัดการลงทุนภาคเอกชนขนาดใหญ่ ก็จะเกิดการลงทุนของภาคธุรกิจตามมาก ทำให้มีบุคลากรเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น
“การที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองตามที่ อีอีซี วางเป้าหมายไว้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆ ให้เกิดขึ้นเร็ว และเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เมื่อการลงทุนขยายตัว ก็จะเกิดการขยายตัวเป็นลูกโซ่ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตตามไปด้วย ดังนั้นหัวใจของการพัฒนาอีอีซี อยู่ที่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการลงทุนภาคการผลิตของเอกชน”