ชำแหละงบโฆษณา 7 เดือนกว่า 5.9 หมื่นล้าน หดตัว 1.74% เฉพาะก.ค.หดตัว 0.42% ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี “ยูนิลีเวอร์”แชมป์ใช้เงินสูงสุด แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ททท.มาแรง ควักเงินซื้อสื่อเดือนก.ค.สูงสุดเป็นอันดับ 3
บริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) เผยงบโฆษณาเดือนก.ค. 2562 มีมูลค่า 9,143 ล้านบาท หดตัว 0.42% โดยหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่เม็ดเงินหดตัวมากสุด 27.67% มีมูลค่า 400 ล้านบาท ตามด้วย นิตยสาร 76 ล้านบาท หดตัว 24.75% ทีวีดาวเทียม/เคเบิลทีวี 193 ล้านบาท หดตัว 3.50% ทีวี 5,774 ล้านบาท หดตัว 3.33% วิทยุ 412 ล้านบาท หดตัว 1.44% และสื่อโฆษณานอกบ้านมูลค่า 588 ล้านบาท หดตัว 0.34%
ส่วนสื่อโฆษณาที่ยังโต ได้แก่ สื่อในโรงภาพยนตร์มูลค่า 979 ล้านบาท เติบโต 55.89% สื่อโฆษณาในห้าง 99 ล้านบาท โต 8.79% และสื่อเคลื่อนที่ 504 ล้านบาท โต 1.20% ขณะที่สื่อดิจิทัลมีมูลค่า 118 ล้านบาท ไม่ระบุการเติบโต
ทั้งนี้สถานการณ์อุตสาหกรรมโฆษณาตลอด 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ยังเป็นการหดตัวต่อเนื่อง โดยเดือนม.ค.หดตัว 2.2% ก.พ. หดตัว 1.17% มี.ค. หดตัว 1.68% เม.ย.หดตัว 1.58% พ.ค. หดตัว 2.11% มิ.ย.หดตัว 5.38% ซึ่งหดตัวมากสุด กระทั่งเดือนก.ค.เม็ดเงินยังอยู่ในอาการ “ติดลบ”
เมื่อรวม 7 เดือน เม็ดเงินโฆษณามีมูลค่า 59,861 ล้านบาท หดตัว 1.74% โดยทีวีมีมูลค่า 38,864 ล้านบาท หดตัว 0.97% ทีวดาวเทียม/เคเบิลทีวี 1,269 ล้านบาท หดตัว 11.88% วิทยุ 2,587 ล้านบาท หดตัว 3.36% หนังสือพิมพ์ 2,788 ล้านบาท หดตัว 19.33% นิตยสาร 594 ล้านบาท หดตัว 21.22% ซึ่งเป็นการติดลบมากที่สุด ส่วนสื่อในโรงภาพยนตร์มีมูลค่า 4,660 ล้านบาท เติบโต 4.39% สื่อโฆษณานอกบ้าน 3,961 ล้านบาท เติบโต 0.99% สื่อเคลื่อนที่ 3,651 ล้านบาท เติบโต 5.37% สื่อโฆษณาในห้าง 612 ล้านบาท เติบโต 1.16% และสื่อดิจิทัลมีมูลค่า 422 ล้านบาท
สำหรับแบรนด์ที่ใช้เงินโฆษณามากสุดเดือนก.ค. 5 อันดับแรก ได้แก่ ทีวีไดเร็ค มูลค่ากว่า 155 ล้านบาท ธนาคารออมสิน กว่า 110 ล้านบาท การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)กว่า 94 ล้านบาท เครื่องดื่มโค้กกว่า 91 ล้านบาท และสนุกช้อปปิ้งกว่า 79 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทยูนิลีเวอร์เป็นค่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้เงินซื้อโฆษณาเดือนก.ค.มากสุดกว่า 259 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนใช้กว่า 325 ล้านบาท ตามมาด้วยพร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิล(พีแอนด์จี)กว่า 252 ล้านบาท ลอรีอัล(ประเทศไทย)กว่า 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้ง 2 บริษัท ส่วนโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ใช้กว่า 166 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนใช้กว่า 194 ล้านบาท ทีวีไดเร็คใช้กว่า 155 ล้านบาท การตลาดแบบตรง(ไม่เปิดเผยชื่อ)กว่า 150 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม 7 เดือน ยูนิลีเวอร์ใช้เงินโฆษณากว่า 1,749 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนใช้กว่า 2,262 ล้านบาท พีแอนด์จีกว่า 1,489 ล้านบาท เนสท์เล่(ไทย)กว่า 1,231 ล้านบาท การตลาดแบบตรง(ไม่เผยชื่อ)กว่า 1,134 ล้านบาท ทุกแบรนด์ใช้เงินเพิ่ม ส่วนโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ใช้เงินกว่า 970 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ใช้กว่า 1,051 ล้านบาท ลอรีอัล(ประเทศไทย)ใช้กว่า 949 ล้านบาท ใช้เงินเพิ่มขึ้น ทีวีไดเร็คกว่า 903 ล้านบาท ใช้เงินลดลง โคคา-โคล่า (ประเทศไทย)กว่า 869 ล้านบาท ใช้เงินเพิ่มขึ้น ไบเออร์สด๊อร์ฟใช้กว่า 810 ล้านบาท ใช้เงินเพิ่มขึ้น และตรีเพชรอีซูซุใช้เงินกว่า 791 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนใช้กว่า 793 ล้านบาท