เผยผังเมืองอีอีซี กระทบพื้นที่นิคมฯ 5-10% เล็งปรับผังนิคมฯ ไม่ให้กระทบตั้งโรงงาน ย้ายพื้นที่สีเขียว ศูนย์วิจัยพัฒนา ศูนย์ฝึกอบรมไปตั้งในระยะถอยร่นริมแม่น้ำ 500 เมตร
ยันเริ่มสร้างต้นปี 2563 เปิดเป็นทางการ ส.ค.ปีหน้า ดึงเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท จ้างงาน 2 หมื่นคน
นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ผู้บริหารบริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด และผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำหนดพื้นที่ระยะห่างจากริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง 200 เมตร ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ห้ามตั้งสิ่งปลูกสร้าง
รวมทั้งพื้นที่ตั้งแต่ 201-500 เมตร ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม แต่สร้างอาคารอื่นได้ตามที่กำหนดไว้ ทำให้พื้นที่โดยรวมของนิคมอุตสาหกรรมลดลงจากเดิมที่มีเนื้อที่ 2,000 ไร่ ลดเหลือ 1,200 ไร่ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ก่อสร้างโรงงานลดลงเล็กน้อย 5-10% ทำให้ต้องปรับผังของนิคมอุตสาหกรรมบ้างเล็กน้อย
นอกจากนี้ ในการออกแบบนิคมอุตสาหกรรมก็ไม่ได้นำเอาโรงงานอุตสาหกรรมไปตั้งริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงอยู่แล้ว และได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว โดยจะปรับนำพื้นที่สีเขียวเดิมที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมให้มาอยู่ในพื้นที่ริมฝังแม่น้ำในช่วง 200 เมตรแรก และในส่วนพื้นที่ 201-500 เมตร จากชายฝั่งที่กฎหมายห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็จะนำไปสร้างศูนย์วิจัยพัฒนา และศูนย์การเรียนรู้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็จะนำไปสร้างโรงงานตามเดิม
ย้ายพื้นที่สีเขียวไปริมฝั่ง
“หลังจากผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซีออกมา นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ก็จะนำไปปรับปรังการออกแบบนิคมอุตสาหกรรมใหม่ จากเดิมที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมจะมีพื้นที่สีเขียว บ่อน้ำ และแลนด์มาร์ค เพื่อความสวยงาม อาจจะตัดในส่วนนี้ออกไป ย้ายพื้นที่สีเขียวไปอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง จึงทำให้ในภาพรวมพื้นที่สำหรับตั้งโรงงานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังคงเดินหน้าตามแผนเดิม”
สำหรับโรงงานที่จะตั้งในนิคมอุตสาหกรรม ยังเดินหน้าตามแผนเดิมมี 4 โรงงาน ได้แก่ 1.โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เพื่อใช้เป็นแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 2.โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า 3.โรงงานประกอบเรือไฟฟ้า และ 4.โรงงานผลิตระบบกักเก็บพลังงาน โดยทุกโรงงานยังคงมีกำลังการผลิตเท่าเดิม ซึ่งในเฟสแรกจะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนกำลังผลิต 1 กิกกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาท ใช้พื้นที่ 50-60 ไร่ เฟสที่ 2 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 50 กิกกะวัตต์ ใช้พื้นที่รวม 300 ไร่
คาดเริ่มสร้างต้นปี 2563
“ในช่วงที่มีปัญหาการคัดค้านโครงการนี้ ทำให้มีความล้าช้าไปบ้าง ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจมีแนวคิดที่จะไปตั้งโรงงานที่อื่น แต่หลังจากที่แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซีออกมาก ได้ปรับพื้นที่เป็นสีม่วงเพื่อการอุตสาหกรรม ส่วนพื้นที่ถ่อยร่นห้ามตั้งโรงงานจากริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง 500 เมตร ก็กระทบเพียงเล็กน้อย สามารถออกแบบนิคมอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของผังเมืองได้โดยไม่กระทบต่อพื้นที่การตั้งโรงงาน ก็ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและเดินหน้าตามแผนการลงทุนต่อไป”
ส่วนแนวทางการดำเนินงานหลังจากนี้ จะเข้าสู่การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามข้อกำหนดของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งหลังประกาศแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี 30 วัน จะเร่งเดินหน้าจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 2 ครั้ง
ทั้งนี้ หลังจากทำอีไอเอเสร็จแล้ว กนอ.จะใช้เวลาพิจารณา 2-3 เดือน ทำให้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในช่วงต้นปี 2563 จากนั้นจะเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใช้เวลา 6-8 เดือน ทำให้คาดว่านิคมอุตสาหกรรมบูลเทคซิตี้ จะเปิดอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.2563 ซึ่งหลังลงทุนเต็มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแล้วมีแนวคิดขยายนิคมอุตสาหกรรมไปพื้นที่ใหม่ด้วย
ยืนยันแผนลงทุนในนิคมฯ
นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวว่า หลังจากที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ มีการลงทุนเต็มโครงการ คาดว่า จะมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนจากโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างโรงงานต่างๆ เกิดการจ้างงานเพิ่มกว่า 20,000 อัตรา รวมทั้งยังมีศูนย์พัฒนาบุคลากรในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการยกระดับบุคลากรในพื้นที่ให้มีทักษะฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชนเพิ่มขึ้น
สำหรับความขัดแย้งในพื้นที่นั้น จากการสำรวจความคิดเห็นพบว่าชาวบ้านในต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 80% ล้วนแต่สนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ มีเพียง 4-5 ราย ที่คัดค้านมองว่าจะได้รับความเดือดร้อน ซึ่งบริษัทฯ จะเข้าไปดูแลช่วยแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ และมองว่าคนในพื้นที่จริงไม่ได้คัดค้าน
“มีเสียงเรียกร้องว่าเมื่อใดนิคมอุตสาหกรรมจะเสร็จ จะได้ให้ลูกหลานกลับมาทำงานที่บ้าน ซึ่งจะมีศูนย์พัฒนาบุคลากร เพื่อปรับทักษะแรงงานให้เหมาะกับอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหากจ้างงานเพิ่ม 20,000 คนตามแผน จะเกิดธุรกิจในชุมชนอีกมากทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นดีขึ้น”
เตรียมมาตรการช่วยชุมชน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมพื้นที่อีก 12 ไร่ ฝั่งตรงข้างถนนของที่ดินเดิม จัดแบ่งพื้นที่แปลงละ 50 ตารางวา รวมทั้งสิ้น 50 แปลง เพื่อให้ชาวบ้านที่ไม่สามารถหาที่อยู่ใหม่ได้ เช่า หรือผ่อนซื้อในราคาถูก โดยหากจะเช่าจะคิดอัตราค่าเช่าวันละ 10 บาทหรือเดือนละ 300 บาท หรือหากผ่อนซื้อจะเก็บในอัตรา 3 พันบาทต่อเดือน โดยปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งหากชาวบ้านบางรายไม่มีเงินสร้างบ้าน ทางบริษัทฯก็จะสร้างบ้านให้
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องตรวจสอบประวัติจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยจริง โดยอีกไม่กี่วันจะทำสัญญากับชาวบ้านและสร้างสาธารณูปโภค ในส่วนของเงินค่าเช่าจะนำไปใช้ในการดูแลด้านสาธารณูปโภค โดยไม่นำเงินค่าเช่ากลับมายังโครงการ
“ในหมู่บ้านนี้บริษัทฯ จะเข้าไปสร้างสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนคอนกรีตภายในโครงการทั้งหมด และมีบ่อน้ำในพื้นที่ให้ชาวบ้านใช้สอย ซึ่งเชื่อว่าสภาพความเป็นอยู่จะดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งชาวบ้านผู้ที่เช่าที่ดินได้รับผลกระทบประมาณ 17 ราย แต่ที่บริษัทสร้างเผื่อไว้ถึง 50 แปลง ก็เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยบริเวณนี้ได้มาพักอาศัย”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-“บลูเทค ซิตี้” เปิดตัว “เรือไฟฟ้าต้นแบบ สัญชาติไทยแท้”
-'อีเอ' ผนึก16องค์กรผลิตคน หนุนยานยนต์ไฟฟ้า-แบตฯ
-2นิคมฯเฮผังเมืองใหม่
-ดับเบิ้ลพีคุยชาวบ้าน ลุยสร้างนิคมฯบลูเทค ซิตี้