Regional Connectivity การเชื่อมโยงภูมิภาค โอกาสโตของธุรกิจไมซ์ไทย
ทีเส็บจัดงาน MICE Talk 2019 เปิดเวทีเสริมความรู้ ให้แนวคิดแก่ผู้ประกอบการไมซ์ไทย ก้าวทันเกาะติดทิศทางความเป็นไปของโลก
ดร.ศุภชัย ชี้ให้เห็นประเด็นความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจไมซ์ไทย โดยมี EEC เป็นหมุดหลัก และความร่วมมือระดับภูมิภาคทั้ง CLMV และอาเซียนเป็นจุดแข็งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ให้เกียรติบรรยายพิเศษภายในงานสัมมนา MICE Talk 2019 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ในหัวข้อ “ความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค โอกาสของประเทศไทย” (Regional Connectivity: Opportunity Thailand) โดยสรุปสาระสำคัญว่า ความเชื่อมโยง (Connectivity) ในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องของ Digital Transformation หรือ การเปลี่ยนแปลงที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจโลกยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกขณะนี้ เป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในตลาดเกิดใหม่ อย่างจีน อินเดีย บราซิล และอาเซียน เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็นไปในทิศทางที่ดี ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ดร.ศุภชัย มองว่า ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งมากประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ จากการที่ได้รับการยกระดับจากการจัดอันดับของหลายสถาบันระดับโลก เช่น Moody ได้ยกอันดับของประเทศไทยจาก stable เป็น positive นอกจากนี้ IMD World Competitiveness ranking 2019 ก็ได้ยกระดับประเทศไทยจากอันดับที่ 35 เป็นอันดับที่ 25 เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศดีขึ้น มีโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาดีขึ้น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากฮ่องกง และมีโอกาสที่จะแซงหน้าในไม่ช้า จึงเป็นโอกาสสำหรับไมซ์ที่จะเติบโตเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้
“ขณะนี้มีกระแสการลงทุนไหลบ่าเข้ามาในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะนักลงทุนจากต่างชาติเห็นแล้วว่ามีความต้องการมากขึ้นจากการที่มี Regional Connectivity และการที่ภูมิภาคนี้มีกระแสของกลุ่มสตาร์ทอัพ หรือ ผู้ประกอบวิสาหกิจ การเชื่อมโยงกันทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น จะเห็นได้ว่ามีรูปแบบของสินค้าและบริการที่หลากหลาย มีโซลูชั่นต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทางบางอย่างที่เกิดจาก digitalization และความต้องการของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไป มีความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน”
ดร.ศุภชัย ยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคนั้น จะต้องกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน รวมถึงความร่วมมือต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ดังเช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ต้องไม่เน้นแค่เรื่องของกฎระเบียบต่างๆ เท่านั้น แต่ต้องมีพันธสัญญาที่จะทำให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเข้ามาโดยระวังไม่ให้เกิดการผูกขาด และต้องพิจารณาถึงเรื่องแรงงานด้วยว่าขณะนี้มีเพียงพอรองรับหรือไม่ หากจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในเรื่องนั้น เช่น การบิน การเงิน หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล
ขณะเดียวกันไทยจะต้องสามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือกลุ่ม CLMV ให้เข้มแข็ง และที่สำคัญต้องรักษาความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนไว้ให้ดี เพราะตอนนี้ความร่วมมือในระดับภูมิภาคของอาเซียนถือว่ามีความเข้มแข็งและมีศักยภาพมาก ต้องอย่าให้เสียจุดยืนในระดับภูมิภาค เพราะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสจากการพัฒนาต่างๆ ในภูมิภาค อาทิ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (ฺBelt and Road Initiatives) ของประเทศจีนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง หรือเส้นทางคมนาคมขนส่งอื่นๆ ที่จะเชื่อมโยงมาสู่กรุงเทพ ซึ่งไทยจะต้องหาวิธีที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากจุดนี้
ด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า งาน MICE Talk 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิดของการพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ประกอบการไมซ์เป็นหลัก ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจไมซ์ เช่น กลุ่มนักศึกษา ระดับผู้ปฏิบัติงาน และระดับผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ ซึ่งที่ผ่านมาจะดำเนินงานผ่านการจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านไมซ์นานาชาติครอบคลุมทุกระดับ สำหรับงานนี้ทีเส็บมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการธุรกิจไมซ์ได้เห็นภาพใหญ่ทิศทางระดับมหภาคและการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและธุรกิจไมซ์ไทย ทั้งนี้ เพื่อปรับแนวทางการทำงานของผู้ประกอบการไมซ์ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในทุกด้านที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญ
“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก ดร.ศุภชัย คือ ประวัติศาสตร์มักจะหมุนวนกลับมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีก่อน กับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นเรื่องเดียวกันเพียงแต่คนละระดับและแนวทาง เราได้เรียนรู้ว่าภาคเศรษฐกิจระดับมหภาคเกิดอะไรขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยก็ได้เรียนรู้ว่า Eastern Seaboard เกิดขึ้นได้อย่างไรจนพัฒนามาเป็น EEC (Eastern Economic Corridor) สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และคำว่า connectivity คือการที่เราต้องให้ความสนใจกับสิ่งที่เรามี ซึ่งจากกิจกรรมนี้มีเสียงตอบรับจากผู้บริหารธุรกิจไมซ์ที่เข้าร่วมงานว่าเป็นประโยชน์มาก ถือว่าเราบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ ทุกคนได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมทั้งแนวโน้มการทำงานและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อร่วมกันผลักดันไมซ์ไทยให้ก้าวไกลสอดรับกับศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงไมซ์ระดับภูมิภาค” ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวสรุป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กรุงศรีชี้เศรษฐกิจไทยอ่อนแรง โอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยต่ำ หั่นจีดีพีเหลือ2.9%ส่งออกติดลบ2.8%
-เศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติปี 2540
-จับตาประกาศจีดีพี เศรษฐกิจไทยไตรมาส2 ชะลอโตแค่2.7%
-อาเซียนจะอยู่อย่างไรในเศรษฐกิจโลกแบบนี้