ลุยถกทับซ้อนทะเล 'กัมพูชา' เล็งพัฒนาร่วม 1.6 หมื่นตร.กม.

ลุยถกทับซ้อนทะเล 'กัมพูชา' เล็งพัฒนาร่วม 1.6 หมื่นตร.กม.

เดินหน้าเปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เพิ่มแหล่งปิโตรเลียม หนุนความมั่นคงพลังงาน เล็งพัฒนาร่วม 1.6 หมื่น ตร.กม.ใช้สูตรเจดีเอ ปตท.สผ.ถือสิทธิเดิม 2 แปลง

การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลถูกรื้อฟื้นมาพิจารณาอีกครั้ง หลังจากที่กระทรวงพลังงานประกาศผลักดัน เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความมั่นคงพลังงาน ซึ่งจะทำให้การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 15 ที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจริงจังขึ้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะดำเนินการหลังจากติดค้างมานาน ซึ่งกระทรวงพลังงานเริ่มดำเนินงานบ้างแล้ว และพอจะเห็นปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นความตั้งใจในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่จะทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด

ลุยถกทับซ้อนทะเล \'กัมพูชา\' เล็งพัฒนาร่วม 1.6 หมื่นตร.กม.

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงพลังงานหาแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่ โดยเป็นเรื่องความมั่นคงพลังงานที่ควรเร่งทำให้เสร็จ โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทยกับกัมพูชาต้องร่วมพัฒนาให้เกิดประโยชน์หลังจากเจรจามาหลายปี ซึ่งต้องสร้างความสมดุลกับประเทศเพื่อนบ้านและความมั่นคง

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะสรุปประเด็นการเจรจาที่ผ่านมาและเตรียมข้อมูลการประชุมรอบใหม่ ซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะทำงานกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมี 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจาเป็น 2 ส่วน คือ 1.พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ 2.พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA)

คาดมีศักยภาพผลิตปิโตรฯ

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรอบการเจรจาดังกล่าวอาจยึดบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไทย-รัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ลงนามเดือน มิ.ย.2544 ช่วงนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ สถาบันปิโตรเลียมฯ สนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะผลักดันการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกับกัมพูชา เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อนมีการพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ จึงเชื่อว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ แต่จะมีศักยภาพแค่ไหนระบุยากเพราะรัฐบาลไทยให้ผู้รับสัมปทานหยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518

นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชาผู้นำเข้าพลังงาน โดยไทยมีตัวบ่งชี้ชัดเจน คือ ก๊าซธรรมชาติผลิตไม่เพียงพอต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่ม ดังนั้นการมีแหล่งก๊าซอยู่ใกล้มือเป็นเรื่องดีเพราะควบคุมราคาได้ระดับหนึ่ง 

ทั้งนี้ หากไม่รีบนำพลังงานขึ้นมาใช้อาจะกลายเป็นพลังงานตกรุ่นไป โดยมีตัวอย่างที่แอฟริกาที่เป็นกลุ่มประเทศยากจน พอจะเริ่มนำถ่านหินและน้ำมันขึ้นมาเพื่อให้พ้นจากความยากจน ก็เป็นจังหวะที่โลกต่อต้านปัญหาโลกร้อนทำให้โอกาสในการนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ถูกลดความสำคัญลง แต่ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดกว่าน้ำมันและถ่านหิน

แนะผู้นำ2ฝ่ายส่งสัญญาณเจรจา

“ผมสนับสนุนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ยกเรื่องนี้มา เพราะแสดงถึงความกล้าหาญและไม่มีผลประโยชน์ เพราะการยกเรื่องนี้ขึ้นมามีแต่จะโดนวิจารณ์เรื่องผลประโยชน์ แต่คนที่กล้ายกขึ้นมาคงมองแล้วว่าไทยไม่มีความมั่นคงพลังงาน รวมทั้งถ้าตกลงกันได้จะทำให้ไทยและกัมพูชามีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เงินสะพัดทั้งไทยและกัมพูชา” นายคุรุจิต กล่าว

ทั้งนี้ การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกับกัมพูชาจะเริ่มขึ้นได้นั้น ผู้นำประเทศจะต้องส่งสัญญาณหรือประกาศว่าจะเจรจา แล้วกำหนดกรอบให้ชัดเจน จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะไปรวบรวมข้อมูลทำแผนการเจรจา ซึ่งส่วนของไทยมีกรอบของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ฉะนั้นผู้ที่จะไปเจรจาต้องขอกรอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และควรหารือกับสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เป็นกลไกสำคัญในคณะกรรมาธิการ เพื่อสร้างความสามัคคีในเรื่องนี้ เพราะหากมีฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันก็จะแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไม่ได้

คงสิทธิผู้รับสัมปทานเดิม

นายคุรุจิต กล่าวว่า รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตขึ้นกับการเจรจา ซึ่งมีหลายสูตรตลาดลักษณะของประเทศคู่เจรจา โดยการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับมาเลเซียสรุปเป็น JDA ในปี 2522 ใช้เวลาเจรจา 11 ปี ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับเวียดนามใช้วิธีแบ่งเส้นเขตแดนเมื่อปี 2540 ใช้เวลาเจรจา 7-8 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามให้น้ำหนักกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้มากกว่า

สำหรับตัวสัมปทานสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในปัจจุบันกำหนดให้ยึดตามมติ ครม.ปี 2518 ที่ให้ยุติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ซึ่งทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหยุดลงด้วย 

ทั้งนี้ ผู้สิทธิสัมปทานยังคงเป็นของผู้รับสัมปทาน โดยรัฐบาลไมไ่ด้ประกาศยกเลิกเพื่อเป็นการยืนยันว่าไทยยังอ้างสิทธิอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลสัมปทานในขณะนั้นได้หยุดนับเวลาอายุสัมปทานจนถึงปัจจุบัน

5กลุ่มรับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อน

นอกจากนี้ ผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย 1.แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%

2.แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%

3.แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%

4.แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20% 

5.แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

ปตท.สผ.ลุ้นได้สิทธิพัฒนาต่อ

นายคุรุจิต กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลเดินหน้าสำรวจจนได้ข้อสรุปรูปแบบการพัฒนาปิโตรเลียมก็ต้องให้กลุ่มผู้รับสัมปทานรายเดิมก็ควรมีสิทธิเข้าไปพัฒนาต่อ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาจะออกมาอย่างไร โดยหากไทยมีสิทธิพัฒนาพื้นที่ 100% จะทำให้ผู้รับสัมปทานได้สิทธิสำรวจตามเดิม 

ทั้งนี้ หากไทยและกัมพูชามีการเจรจาได้ข้อสรุปใช้รูปแบบ JDA ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยต้องเจรจากับผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทยทั้ง 5 กลุ่ม ส่วนรัฐบาลกัมพูชาก็ต้องเจรจากับผู้รับสิทธิสัมปทานจากกัมพูชา ซึ่งจะนำไปสู่การทำยกเลิกสัญญาสัมปทานเดิม และนำมาสู่การทำสัญญาร่วมลงทุนพัฒนาระหว่างไทยและกัมพูชา และเอกชนที่รับสัมปทานเดิมอาจได้รับสัญญาสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมฉบับใหม่ โดยใครจะได้รับสิทธิเท่าใดขึ้นอยู่กับการเจรจาในขั้นตอน JDA

แนะเร่งเจรจาให้ได้ข้อสรุป

นายคุรุจิต กล่าวว่า การพัฒนาปิโตรเลียมใช้เวลาสำรวจ 5 ปี และหากพบว่ามีศักยภาพการผลิตจะใช้เวลาอีก 4 ปี หรือรวม 9 ปี จึงจะนำปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าการเจรจาจะจบเมื่อใด และการเจรจาต้องมีขั้นตอนเสนอรัฐสภาที่ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ครอบคลุมกรอบการเจรจา การทำข้อตกลงระหว่างประเทศและการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกรณี JDA ไทย-มาเลเซียมีการออก พ.ร.บ.องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย

ดังนั้น ขั้นตอนการเจรจาและขั้นตอนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ใช้เวลาประมาณ 10 ปี จึงควรเร่งเจรจาเพราะปริมาณก๊าซในประเทศกำลังจะหมด โดยปริมาณก๊าซที่เมียนมาขายให้ไทยจะลดลง ในขณะที่ปริมาณก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียลดลงเช่นกัน รวมถึงแหล่งบงกชและเอราวัณในอ่าวไทยที่ใน 10 ปี ข้างหน้า จะมีปริมาณก๊าซลดลง

"ด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์บ่งชี้ว่าควรเจรจา และถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีการค้าชายแดน 2 ประเทศก็สงบสุข ถามว่าเจรจาตอนนี้เหมาะไหม เหมาะมา 10 ปีแล้ว เพราะ 1.ไทยจะขาดแคลนก๊าซ 2.ความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชาค่อนข้างดี 3.รัฐบาลมั่นคงระดับหนึ่ง และที่สำคัญต้องเชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้เจรจาด้วย”นายคุรุจิต กล่าว