'โลจิสติกส์' อีอีซีร้องบอร์ดแข่งขัน ปมสิทธิประโยชน์ลงทุน
ตั้งคณะทำงานสอบการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ในพื้นที่อีอีซี หลังพบธุรกิจท้องถิ่นเสียขีดความสามารถการแข่งขันปมเป็นรายเล็กซ้ำทุนนอกได้สิทธิประโยชน์การลงทุนเป็นแต้มต่อ เอกชนชี้ธุรกิจต่างประเทศพร้อมทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีร้องรัฐเร่งเสริมแกร่งธุรกิจไทย
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ บอร์ดแข่งขันฯได้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบการเข้ามาประกอบกิจการด้านโลจิสติกส์ในประเทศไทยของบริษัทต่างชาติ
เนื่องจากมีบริษัทที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยมาร้องเรียนกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เนื่องจากธุรกิจจากต่างประเทศได้รับเงื่อนไขพิเศษด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ทั้งด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-commerce, การค้าข้ามแดนหรือ Border Trade และการพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น หรือDomestic trade
ขณะที่บริษัทของไทยกลับไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการลงทุนในอีอีซี และไม่มีการกำหนดพื้นที่กลาง(แพลตฟอร์ม)ในการแข่งขันระหว่างธุรกิจท้องถิ่นกับเอกชนต่างชาติ ทำให้บริษัทเอกชนไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้
สำหรับประเด็นที่คณะทำใานจะเข้าไปศึกษาจะแยกเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1.การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ และ 2.การเข้ามาประกอบกิจการในไทยของต่างชาตินั้นมีพฤติกรรมที่ขัดต่อต่อพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าหรือไม่ เช่น การตั้งราคา การร่วมมือด้านธุรกิจ การกำหนดเงื่อนไขของการเป็นเครือข่ายหรือไม่ รวมไปถึงการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
ยันเปล่ากีดกันลงทุนตปท.
“ขณะนี้คณะทำงานได้มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลต่างๆ บ้างแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ลงพื้นที่เฉพาะในอีอีซี แต่ได้ลงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จากนั้นก็จะนำข้อมูลมาพิจารณา คงต้องใช้เวลาพิจารณาศึกษาให้รอบคอบก่อน และขอยืนยันว่า ไม่ได้มีการห้ามธุรกิจโลจิสติกส์ต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือขยายธุรกิจในประเทศไทย”
นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (EBCI)และที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ในเขตอีอีซี กล่าวว่า การเข้ามาของบริษัท โลจิสติกส์ต่างชาตินั้นเป็นเพราะเราได้เชิญชวนให้มาลงทุนในพื้นที่อีอีซี
โดยบริษัทเหล่านี้ก็นำเงินมาลงทุน พร้อมกับนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาด้วย เช่น การสร้างศูนย์กระจายสินค้าที่จ.ฉะเชิงเทา มีเงินลงทุนเป็นหมื่นล้านบาท มีการตั้งบริษัทลูกเพื่อรองรับธุรกิจ และเชิญชวนบริษัทคนไทยร่วมเป็นเครือข่ายหรือเป็นบริษัทในกลุ่มเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ เช่น การขนส่ง คลังสินค้า
แม้ประเทศไทยก็ได้ประโยชน์ แต่ตนก็มีความเป็นห่วงบริษัทโลจิสติกส์ของไทย โดยเฉพาะโลจิสติกส์ที่เป็นเอสเอ็มอีจะไม่สามารถแข่งขันได้ทั้งเรื่องของเงินทุนและเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งบริษัทโลจิสติกส์ในไทยกว่า 97% เป็นบริษัทขนาดเล็กแต่สร้างรายได้จำนวนครึ่งหนึ่งของรายได้ด้านโลจิสติกส์ ส่วนอีก 3% เป็นบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนบริษัทน้อยแต่มีสัดส่วนรายได้สูงเป็นอีกครึ่งของรายได้จากโลจิสติกส์
ห่วงทุนนอกคุมกลไกตลาด
“เนื่องจากการบริษัทด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนสูงก็อาจดำเนินการควบคุมกลไกตลาดของประเทศไทย ผูกขาดระบบโลจิสติกส์ ในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก สุดท้ายบริษัทด้านโลจิสติกส์ขนาดเล็กของไทยก็ล้มหายไป”
ที่ผ่านมาตนพยายามเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ตั้งสำนักงานโลจิสติส์ และสภาโลจิสติสก์ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยรัฐบาลให้ความสนใจกับบริษัทด้านโลจิสติกส์ขนาดเล็กของไทยค่อนข้างน้อย ดูจากการลงทุนในอีอีซี ที่บีโอไอมีเงื่อนไขพิเศษในการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย เช่น เรื่องภาษี แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่มีการส่งเสริมบริษัทของคนไทยให้มาลงทุนในอีอีซี
ดังนั้นภาครัฐก็ต้องกลับมามองคนไทยด้วย ควรมีข้อเสนอหรือเงื่อนไขที่ให้กับบริษัทด้านโลจิสติกส์ขนาดเล็กสามารถไปลงทุนได้บ้าง และหากในอนาคตมีการเปิดเสรีทางการค้าหรือเอฟทีเอไทย-อียู ก็อาจจะมีบริษัทโลจิสติกส์ขนาดบิ๊กโฟร์ของยุโรปเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพิ่มขึ้นอีกนอกเหนือจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน
เร่งเสริมแกร่งโลจิสติกส์ท้องถิ่น
“เพื่อให้มีอำนาจในการต่อรองหรือแข่งขันกับบริษัทด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่จากต่างชาติได้ควร ส่งเสริมด้านการเงิน การลงทุน และเทคโนโลยี เพื่อให้บริษัทด้านโลจิสติกส์ขนาดเล็กสามารถดำเนินการต่อไปได้ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงในปัจจุบันขณะเดียวกันบริษัทขนาดเล็กเองก็ควรจะจับมือหรือร่วมมือกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง"
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ อีอีซี ด้วยการใช้เทคโนโลยี โดยจัดการสร้างองค์ความรู้ ระดมความคิดเห็น สร้างเครือข่ายธุรกิจโลจิสติกส์ในพื้นที่ต้นแบบเศรษฐกิจอนาคต มุ่งเน้นให้ความรู้ การปรับตัวยุคดิจิทัลและนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของธุรกิจ
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.2562) มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย จำนวน 26,365 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางถนน จำนวน 17,741 ราย คิดเป็น 67.29% ของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ทั้งหมด และมีผู้ประกอบการให้บริการโลจิสติกส์อยู่ในเขตพื้นที่อีอีซี จำนวน 3,336 ราย คิดเป็น 88.62% ของภาคตะวันออก และ 12.65% ของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ทั้งหมด
ล่าสุดธนาคารโลก (World Bank) ได้เผยแพร่รายงานการจัดอันดับด้านโลจิสติกส์ (TheLogisticsPerformanceIndex : LPI)ประจำปี 2018 โดยจากการสำรวจ 160 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 32 ดีขึ้นจากการจัดอันดับครั้งก่อนในปี 2016 ที่อยู่ที่อันดับ 45 หรือดีขึ้นถึง 13 อันดับ
ทั้งนี้การจัดอันดับด้านโลจิสติกส์ในครั้งนี้อันดับของไทยยังปรับดีขึ้นแซงหน้าประเทศมาเลเซียที่ตกไปอยู่ในอันดับที่ 41 จากเดิมอยู่อันดับที่ 32 และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีคุณภาพของโลจิสติกส์ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์