“นิวนอร์มอล”ท่องเที่ยวไทย ตลาดต่างชาติโตไม่หวือหวา
“ททท.” ชี้ท่องเที่ยวไทยก้าวสู่ยุคใหม่ “นิวนอร์มอล” เทรนด์ตลาดต่างชาติขยายตัวไม่หวือหวา ปีละ 5-6% เท่านั้น หลังแนวโน้มปีนี้โตอืด รายได้ปี 62 อาจไม่ถึงเป้า จากพิษเศรษฐกิจ-บาทแข็งฉุดการใช้จ่ายของทัวริสต์ ต้องอาศัยตลาดไทยเที่ยวไทยช่วยดันยอดอีกแรง
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันโตค่อนข้างชะลอ จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและในประเทศ รวมถึงภาวะเงินบาทแข็งค่าที่แม้จะไม่ได้มีนัยยะสำคัญต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ส่งผลต่อรายได้โดยตรง จากการใช้จ่ายน้อยลงและพักน้อยวันลง
นอกจากนี้สถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานยังส่งผลต่อแหล่งท่องเที่ยวหลายจุด เพราะถนนหลายสายขาด เบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงาน ททท.ในพื้นที่สำรวจผลกระทบ โดยได้รับรายงานว่าเนื่องจากยังอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ทำให้กิจกรรมท่องเที่ยวในภาคอีสานซึ่งส่วนใหญ่จัดในไฮซีซั่นหรือหลังออกพรรษา เช่น งานบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย ยังไม่ได้รับผลกระทบ และประเมินว่าคนไทยน่าจะยังเดินทางไปร่วมงาน ส่วนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศรัทธาและความเชื่อ เช่น ป่าคำชะโนด จ.อุดรธานี พบว่ายิ่งเศรษฐกิจไทยเป็นแบบนี้ คนไทยก็ยิ่งเดินทางไปเที่ยวและขอพรมากยิ่งขึ้น
“จากปัจจัยลบทั้งหมดอาจทำให้รายได้ท่องเที่ยวไทยปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้า เพราะตลาดค่อนข้างนิ่ง ททท.จึงได้เตรียมแผนและมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว เร่งเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อมาช่วยดันรายได้ให้ถึงเป้าหมายมากที่สุด ผ่านกลยุทธ์เพิ่มความถี่การเดินทางเป็นหลัก โดยเฉพาะจากตลาดจีนและอาเซียน”
หลังประเมินว่าสถานการณ์ตลาดต่างประเทศน่าหนักใจมากกว่าตลาดในประเทศ เพราะนอกจากเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวและบาทแข็งแล้ว ไทยยังมีคู่แข่งอีกมาก โดยเฉพาะจุดหมายใหม่ๆ ที่มีทั้งความสดและพร้อมทุ่มงบประมาณมหาศาลในการโปรโมทเพื่อดึงนักท่องเที่ยว ขณะที่ ททท.ถูกตัดงบประมาณปี 2563 ลง 1,000 ล้านบาท
“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก้าวสู่ยุคนิวนอร์มอล (New Normal) หรือความปกติในรูปแบบใหม่ จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดต่างประเทศน่าจะขยายตัวที่ระดับ 5-6% ต่อปี ไม่หวือหวาถึง 10% ต่อปีเหมือนในอดีต โดย ททท.จะเร่งกระตุ้นตลาดในประเทศมาช่วยสร้างการเติบโตด้านรายได้ เพราะมองว่าคนไทยยังคงท่องเที่ยวอยู่”
ทั้งนี้ ททท.ได้ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวรวมทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2562 ที่ 3.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยแบ่งเป็นรายได้ตลาดต่างประเทศ 2.21 ล้านล้านบาท จากคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน และรายได้ตลาดในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท จากคาดการณ์นักท่องเที่ยวไทย 170 ล้านคน-ครั้ง
สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยช่วง 8 เดือนแรก ตั้งแต่ ม.ค.-ส.ค.2562 ที่ผ่านมา มีรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศแล้ว 2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.27% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.29 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.04% มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 26.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.61% โดย 5 อันดับแรกที่มาเที่ยวไทยสูงสุดคือตลาดจีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และ สปป.ลาว ส่วนรายได้จากตลาดไทยเที่ยวไทย 8 เดือนแรกอยู่ที่ 7.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.71% มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 103.53 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 1.29%
นายยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการเสริมอื่นๆ เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องการเสริมมาตรการหลัก “ชิม ช้อป ใช้” ของกระทรวงการคลัง กำลังผลักดัน 2 โครงการเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก่ โครงการ “ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย” ให้คนไทยสามารถซื้อสินค้าท่องเที่ยวไทยได้ในราคา 100 บาท บนแพลตฟอร์มของ ททท. ครอบคลุมตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ค่าโดยสาร อาหาร และของที่ระลึก จัดขึ้น 4 ครั้ง ครั้งละ 1 หมื่นรายการ รวม 4 หมื่นรายการ
ขณะนี้มีความคืบหน้าจากสำนักงบประมาณว่า ไม่ติดใจข้อมูลและงบประมาณที่ ททท.ขอไปประมาณ 100 กว่าล้านบาท แต่สำนักงบฯอยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ในวันที่ 24 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ ททท.ได้ประสานผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายรายให้มาร่วมโครงการแล้ว เพราะอย่างสายการบินต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) เฉลี่ยที่ 70-80% มีที่นั่งเหลือจากการขาย 20-30% ต่อเที่ยวบิน ททท.จึงได้ขอให้ผู้ประกอบการสายการบินนำที่นั่งเหลือส่วนนี้มาขายในราคา 100 บาทเพื่อร่วมกระตุ้นตลาด ส่งผลให้คนที่ได้ซื้อในราคานี้ ชักชวนครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ออกเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่
ส่วนอีกโครงการของมาตรการเสริมคือ “วันธรรมดาราคาช็อกโลก” มุ่งกระตุ้นท่องเที่ยววันธรรมดา เสนอโปรโมชั่นสินค้าท่องเที่ยว ลดราคาสูงสุด 70%