4 ธุรกิจไทย“หืดจับ”แก้เกม“กำลังซื้อจีน” ทรุด

4 ธุรกิจไทย“หืดจับ”แก้เกม“กำลังซื้อจีน” ทรุด

ฐานะการเงิน 6 เดือนแรก โดยเฉพาะไตรมาส 2 ธุรกิจเกี่ยวข้องกับแดนมังกร “ทรุด” หลังยอดขายฝากไว้บน “กำลังซื้อของคนจีน” เหล่า “ขาใหญ่” วิ่งแก้เกมพัลวัน หันซบตลาดอาเซียน วางเดิมพันรายได้-กำไร กลับมาเติบโตอีกครั้ง

ธุรกิจเคยเอ็นจอยกับ กำลังซื้อของคนจีน ที่นำพาความเฟื่องฟูสุดๆ หนึ่งในนั้นต้องมี “4 ธุรกิจไทย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ที่มี ยอดขาย พึ่งพิงกำลังซื้อจากคนจีนเป็นหลัก !! 

นั่นคือ บมจ.ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD , บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY ,บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN และ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW ที่โฟกัสกลุ่มลูกค้าจีนทั้งที่มาท่องเที่ยวในไทย และขยายตลาดไปปักหมุด ณ ดินแดนมังกร

ทว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะ ถดถอย จากหลากหลายปัจจัยลบรุมเร้า ตามที่หลายฝ่ายออกมาตั้งโต๊ะแถลงให้เฝ้าระวังและเตรียมรับมือ !! กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลทำให้กำลังซื้อทั่วโลกเริ่มชะลอตัว ยิ่งเฉพาะคนจีนที่เป็น ผู้ซื้อหลัก ของหลากหลายอุตสาหกรรมในไทย ซึ่งโดนผลกระทบจาก สงครามการค้า” (Trade War) ปะทะกันระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจจีนกับสหรัฐ ทำให้กำลังซื้อคนจีนหดหาย ประกอบกับประเทศไทยยังถูกซ้ำเติมด้วย เงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน

โดยค่าเงินบาท ทุบสถิติ แข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี หากเปรียบเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย พบว่าไทยแข็งค่า 5.12% เป็นอันดับ 3 รองจากอันดับ 1 คือ เกาหลีใต้ แข็งค่า 8.95% และไต้หวัน 6.21% กดดันให้ ฐานะการเงิน ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2562 ของ ธุรกิจที่พึ่งพิงกำลังซื้อของคนจีน” ปรับตัว ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างมีนัยยะสำคัญ 

คนจีน”!! ถือเป็นหนึ่งในกำลังซื้อที่สำคัญในหลากหลายอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการไทยในช่วงที่ผ่านมา จนกลายมาเป็น “ผู้ซื้อหลัก ไปแล้ว ทว่าตอนนี้ผู้ซื้อหลักดังกล่าวกำลังฉุดรั้งตัวเลข ยอดขาย”  ให้ผลการดำเนินงานให้ ทรุดหนัก! 

สอดคล้องกับ สถานการณ์ 6 เดือนแรกปี 2562 ตัวเลขผลประกอบการ 4 บริษัท DDD-BEAUTY-TKN-ERW ไม่สดใสลดลงถึงขั้นขาดทุน โดยเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2562 ที่สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2562 พบว่า DDD  ขาดทุนสุทธิ 15.52 ล้านบาท จากไตรมาส 2 ปี 2561 มี กำไรสุทธิ 62.87 ล้านบาท

BEAUTY  มีกำไรสุทธิ 46.76 ล้านบาท ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 256.35 ล้านบาท , TKN มีกำไรสุทธิ 98.41 ล้านบาท ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 153.97 ล้านบาท และ ERW  ขาดทุนสุทธิ 7.28 ล้านบาท ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 29.56 ล้านบาท

สอดคล้องกับความเห็นของ ปิยวัชร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน บมจ.ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD เล่าว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อยู่ในภาวะขาดทุน หนึ่งในสาเหตุหลักมาจากผลกระทบนักท่องเที่ยวลดลง โดยเฉพาะคนจีน โดยบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออก หลักๆ มาจากประเทศ จีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คิดเป็น 96% ของรายได้รวมจากตลาดส่งออกของบริษัทในปี 2561

ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทได้ ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยการขยายธุรกิจในตลาดประเทศฟิลิปปินส์เมื่อช่วงปลายปี 2561 ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ของสเนลไวท์ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้บริษัทคาดว่าปี 2562 จะมีรายได้จากประเทศฟิลิปปินส์มากกว่า 100 ล้านบาท !

พร้อมกันนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาการขยายตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่ม อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา และกัมพูชา เพื่อเป็นการสนับสนุนแผนการขยายตลาดในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมผลการดำเนินงานในอนาคตให้มีการเติบโตอย่างมั่นคง

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากมีการปรับแผนการจำหน่ายโดยเน้นกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ประกอบกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วงสนับสนุนผลการดำเนินงานให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้บริษัทได้ปรับลดยอดขายในปี 2562 ลงอีกเหลือ พันล้านบาท จากเดิมเคยตั้งเป้าไว้ 1,400 ล้านบาท และภายหลังปรับลดลงมาเป็น 1.2 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งการปรับลดยอดขายในปีนี้ลดลงมาจากปัจจัยกดดันจากผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง และในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีการยกเลิกสัญญากับตัวแทนกระจายสินค้าในช่องทางการขายแบบดั้งเดิม ทำให้รายได้จากการขยายช่องทางการจำหน่ายดังกล่าวลดลง

นอกจากนี้ ยังได้ปรับกลยุทธ์การขายใหม่เป็นการขายให้กับร้านค้าปลีกแทน และให้ร้านค้าส่งกระจายไปที่ร้านค้าอื่นๆต่อ ซึ่งเข้ามาช่วยทดแทนตัวแทนกระจายสินค้ารายเดิม โดยบริษัทตั้งเป้าขยายการขายให้กับร้านค้าส่งราว 40 ราย

สำหรับแผนการเข้าซื้อกิจการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาและคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้ 1 ราย มูลค่าราว 700 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเงิน IPO ที่ยังมีเงินเหลืออยู่ 2,400 ล้านบาท เพียงพอรองรับการลงทุน และยังอยู่ระหว่างศึกษาการขยายตลาดในกลุ่มอาเซียน เพื่อส่งเสริมผลการดำเนินงานในอนาคตให้มีการเติบโตอย่างมั่นคง

เราวางแผนจะมีการซื้อกิจการเข้ามาอย่างน้อย 1 ดีลในแต่ละปี เพื่อทำให้บริษัทมีการเติบโตมากขึ้นและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 13% ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ 3%”

สุวิน ไกรภูเบศ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY คาดว่าผลประกอบการจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในครึ่งปีหลัง หลังจากโมเดลธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ขยายตลาดต่างประเทศอื่นนอกจากจีน 2. มุ่งสู่การเป็น Consumer Product 3. การเดินหน้า E-commerce 4. ทำการตลาดสินค้า 5. เฟ้นหา Product Champion ที่มียอดขาย 100 ล้านบาทขึ้นไป และ 6. ควบคุมการเปิดสาขามากขึ้น

“เรามาถึงจุดต่ำแล้ว และจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป และจะเห็นได้ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้โดยเฉพาะการกระจาย สินค้าไปต่างประเทศ รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าประเภทสุขภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันยอดขายและมาร์จินอย่างมีนัยสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม ยังได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของลูกค้าต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศ จากปัญหาด้านมาตรฐาน อย.(มาตรฐานอาหารและยา) ในสินค้าที่เกิดขึ้น และกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงความเข้มงวดการเก็บภาษี E-Commerce ของจีน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ของฐานรายได้ต่างประเทศ ทำให้ยอดขายลดลง

โดยสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% ต่างประเทศ 40% โดยการปรับกลยุทธ์โครงสร้างการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนรายได้โดยขยายธุรกิจช่องทาง Non Retail ในประเทศ เดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรักษาอัตรากำไรสุทธิที่ดีต่อเนื่อง เนื่องจากช่องทางดังกล่าวมีต้นทุนดำเนินการที่ต่ำ และเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงลดการพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไปโดยขยายสัดส่วนการขายช่องทางต่างๆ เพิ่มขึ้น

กันยะรัตน์ กฤษณเทวินทร์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW เล่าว่า บริษัทกำลังพิจารณาปรับเป้าหมายรายได้ปี 2562 ลดลงจากที่วางเป้าเติบโต 7% (หลังปิดงบไตรมาส 3 นี้) โดยจะมีการพิจารณาใน 3 ปัจจัย ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงใด , ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะกดดันต่อการเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนหรือไม่ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมได้มากขนาดไหน

ทว่า บริษัทคาดแผนการดำเนินงานในครึ่งหลังน่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก จากทิศทางจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเห็นการกลับมามากขึ้น ซึ่งคาดทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 39-39.8 ล้านคน เติบโต 2% จากปีก่อน

ขณะที่ก็คาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPar) ในไตรมาส 3 ปี 2562 ก็น่าจะดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2562 และไตรมาส 4 ปี 2562 ก็น่าจะดีกว่าไตรมาส 3 เป็นไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว

ทั้งนี้บริษัทเตรียมเปิดโรงแรมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ โรงแรมฮอป อินน์ 7 แห่ง และ โรงแรม 2 แห่งในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงแรมเมอร์เคียว และ ไอบิส สุขุมวิท 24 ซึ่งจะส่งผลให้ปลายปีนี้ บริษัทจะมีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 9,559 ห้อง และคาดว่าอัตราการเข้าพัก (OCC) ทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 80%

----------------------

2 หุ้นความงามขอยืดเวลาฟื้น!!

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า คงคำแนะนำ ขาย หุ้น DDD ปรับราคาเป้าหมายปี 2563 เป็น 18.50 บาท (เดิม 23.40 บาท) อิง PER 30.3x แม้ราคาหุ้นใน 3 เดือนที่ผ่านมา จะปรับตัวลง 26% แต่มองว่ายังไม่สะท้อนผลประกอบการในปี 2562 ที่หดตัวลง อีกทั้งยังได้รับผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักปรับ ตัวลดลง

ทั้งนี้ รายได้ที่หดตัวแรง และค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูง เนื่องจากมีการบุ๊คค่าพรีเซ็นเตอร์และค่าสื่อสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่บางส่วนในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2562-2563 ลง 46% และ 21% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมาต่ำกว่าคาดการณ์ อีกทั้ง

ยังมองว่าการฟื้นตัวของรายได้จากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน และรายได้Traditional trade ยังคงต้องใช้เวลา และ โอกาส Upside gain มีจำกัด

โดยประเมินว่าผลประกอบการของ DDD จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ซึ่งเราคาดว่ารายได้ Traditional trade ในประเทศจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง โดย DDD ได้เริ่มกลับมาทำตลาดเองแทนการใช้ Sino Pacific ซึ่งเพิ่งหมดสัญญาไป และรายได้จากจีนปรับตัวดีขึ้น คาดเห็นรายได้จาก Distributors ทั้ง 2 รายเริ่มเข้ามาอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้

บล.ทิสโก้ ระบุว่า คำแนะนำเป็น ขาย หุ้น BEAUTY ราคาเป้าหมาย 1.82 บาท หลังยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว และใช้เวลามากกว่าคาด ในการพลิกฟื้น รวมทั้งยังมีปัจจัยลบกระทบบริษัทหลายประเด็น ทั้ง 1.สภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว กระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง กระทบต่อรายได้จากสัดส่วนนี้ที่เดิมมีสูงถึง 35% 2.ตลาดส่งออก โดยเฉพาะจีน ยังได้รับผลกระทบจากมาตรการ E-Commerce จีน และค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงกระทบต่อทั้งนักท่องเที่ยวจีนและการสั่งซื้อสินค้าสำหรับคู่ค้า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังไม่สามารถมาทดแทนรายได้ที่หายไปได้

3.การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจเครื่องสำอาง ทั้งจากคู่แข่งรายเดิมและรายใหม่ที่เข้ามาต่อเนื่อง และ 4.ระดับซื้อขายในปัจจุบันไม่ถูก โดย BEAUTY ซื้อขายอยู่ที่ PER 33.9 เท่า และ PBV 9.1 เท่าปี 2020F ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มค้าปลีกที่ 21.3 เท่าและ 4.4 เท่าตามลำดับ ในขณะที่ผลประกอบการยังคงอ่อนตัว

ทั้งนี้ BEAUTY รายงานกำไรสุทธิต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 47 ล้านบาท ลดลง 81% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 32.8% ไตรมาสก่อน ซึ่งระดับกำไรที่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อไตรมาส เทียบเคียงกับกำไรของบริษัทในปี 2013-2014 ซึ่งเป็นปีที่ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์และบริษัทยังไม่มีรายได้จากการส่งออก

โดยเป็นการลดลงในทุกรายการของบริษัททั้ง 1.รายได้ ลดลง 37% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 3% ไตรมาสก่อน ด้วย SSSG ที่หดตัวสูงถึง -45.95% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการชะลอตัวทั้งในประเทศและจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ E-Commerce ของจีน 2.อัตรากำไรสุทธิ ลดลงมาอยู่ที่ 8.9% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับอดีตของบริษัท เฉลี่ยอยู่ที่ 20-30% จาก GPM ที่ลงมาอยู่ที่ 60.2% ตามการจัดโปรโมชั่นและเคลียร์สต๊อก และค่าใช้จ่ายการขายและบริหารที่สูงขึ้น ตามการใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์

-------------------------------

กำลังซื้อจีนหด..! ทำไม SPA โต

ในส่วนของบริษัทสามารถเติบโตได้มากกว่า เพราะว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยสัดส่วนเปลี่ยนไปจากในอดีต เดิมนักท่องเที่ยวมาจากกรุ๊ปทัวร์ 60% คนที่เดินทางมาเอง 40% แต่หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก กลายเป็นว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเอง 60% และกรุ๊ปทัวร์ 40% ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่เดินทางมากันเองจะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท

วิบูลย์ อุตสาหจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป หรือ SPA ยอมรับว่าจำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งปีแรก 2562 เติบโตแค่ 1.48% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ตลาดหลักอย่างคนจีนลดลง ราว 5%” เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สัดส่วนลูกค้าเป็นต่างชาติ 75% (จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น) คนไทย 25% ธุรกิจของบริษัทถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก ซึ่งที่ได้รับผลกระทบจะเป็นเฉพาะในสาขาที่จังหวัดภูเก็ต แต่บริษัทมีการเพิ่มสาขาที่ภูเก็ตทำให้ตัวเลขโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง

สะท้อนผ่านผลประกอบการ SPA มีกำไรสุทธิไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 47.21 ล้านบาท ลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 48.38 ล้านบาท (ไตรมาส 1 ที่ผ่านมากำไรสุทธิ 59.07 ล้านบาท) งวด 6 เดือน 106.28 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 104.53 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยครึ่งปีแรกโตเล็กน้อย ทว่าในส่วนของบริษัทสามารถเติบโตได้มากกว่า เพราะว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยสัดส่วนเปลี่ยนไปจากในอดีต เดิมนักท่องเที่ยวมาจากกรุ๊ปทัวร์ 60% คนที่เดินทางมาเอง 40% แต่หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก กลายเป็นว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเอง 60% และกรุ๊ปทัวร์ 40% ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่เดินทางมากันเองจะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท

ล่าสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเดือน ก.ค. ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวกลับมาเป็น บวก เดือนแรกนับตั้งแต่เหตุการณ์เรือล่ม “ราว5%”

เขา บอกต่อว่า คาดรายได้ปีนี้จะเติบโตได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 20% โดยในครึ่งปีแรกมีรายได้เติบโตอยู่ที่ 24% ในครึ่งปีหลังคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่น ที่เป็นช่วงท่องเที่ยวของลูกค้าต่างชาติ แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ได้มีการปรับเป้าหมายใหม่ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งเรื่องของสงครามทางการค้า ความไม่สงบในหลายพื้นที่ และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก

กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มลูกค้ารายหลัก (เดินทางมาเที่ยวเอง) มีสัดส่วนอยู่ที่ 55% เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้น และช่วยผลักดันรายได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ สาขาเดิมบริษัทจะมีการปรับเพิ่มราคาในการให้บริการอีกราว 5% หรือปรับแพ็คเกจเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนยอดขายสาขาเดิมให้เติบโตได้ 10% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนแผนการขยายสาขาใหม่ในปีนี้บริษัทมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 10 สาขา ช่วงครึ่งปีหลังนี้จะขยายเพิ่มอีก 5 สาขา ภายใต้แบรนด์เล็ทส์ รีแลกซ์ สปา (Let’s Relax Spa) จากครึ่งปีแรกที่มีสาขาทั้งหมด 62 สาขา

บริษัทคาดผลประกอบการช่วงครึ่งหลังปีนี้ จะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากเหตุความไม่สงบในฮ่องกง ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนหันมาท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามามากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวไทย