"ธนายง" สู่ “ยูซิตี้” สานฝัน "คีรี" ปั้นอาณาจักรอสังหาฯ
ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นธุรกิจแรกสุด ของ"คีรี กาญจนพาสน์" เจ้าสัวบีทีเอส ผู้ปลูกปั้น ธนายง กับโปรเจคแรก"ธนาซิตี้" แม้สุดท้ายต้องพับไปจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทว่าฝันของ"คีรี"ในการปั้นอาณาจักรอสังหาฯยังไม่หยุด ถูกส่งผ่านมาที่"ยูซิตี้"
บริษัทยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจพัฒนาและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็น 1 ใน 4 ขาธุรกิจของ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” นอกเหนือจาก ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (บริหารรถไฟฟ้าบีทีเอส) โดยมีบมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) เป็นแกนหลัก ธุรกิจสื่อโฆษณา ผ่านการดำเนินการโดยบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือวีจีไอ และธุรกิจบริการเพื่อส่งเสริมด้านกลยุทธ์ให้กับธุรกิจอื่นๆของบีทีเอสกรุ๊ป
ทั้ง 4 ขาธุรกิจ จึงถือเป็นการ “ต่อจิ๊กซอว์” ธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ให้กับ “คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
นอกจากการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจแล้ว “ยูซิตี้” (ชื่อเดิม แนเชอรัลพาร์ค) ซึ่งเข้ามาอยู่ใต้ร่มเงาของ “คีรี” เมื่อปี 2558 ผ่านการถือหุ้นใหญ่ 35.64% ของบีทีเอสกรุ๊ป (ถือหุ้น 36.17% ณ 3 เม.ย.2562) ยังเป็นเหมือนการ สานฝัน “คีรี” ในการรุกธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ซึ่งจะว่าไปแล้วถือเป็นธุรกิจแรกสุดของเขา ภายใต้บริษัท “ธนายง”ก่อตั้งเมื่อ 27 มี.ค.2511 ก่อนจะดำเนินธุรกิจบริหารรถไฟฟ้าตามมา หลังธนายง จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทบีทีเอสซี เป็นบริษัทย่อย เพื่อเข้าลงนามในสัญญาสัมปทานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการสร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้าแห่งแรกของกรุงเทพฯในปี 2535
โดยบิ๊กโปรเจคแรกในพัฒนาอสังหาฯของ “ธนายง” เกิดขึ้นเมื่อปี 2531 กับการสร้างเมืองใหม่ ในชื่อโครงการธนาซิตี้ บนที่ดินเกือบ 1,700 ไร่ ย่านบางนา-ตราด กม.14 ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนจะเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เดินสู่การปรับโครงสร้างหนี้ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ กระทั่งศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการในปลายปี 2549
ปิยพร พรรณเชษฐ์
โดยหลังจากเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในยูซิตี้ คีรี ได้โอนทรัพย์สินที่ดินเปล่า โรงแรมในธนาซิตี้ อาคารสำนักงาน (ตึกทีเอสที) และ คอนโดมิเนียม ที่พัฒนาในนามบีทีเอส-แสนสิริ ทั้งหมด ให้ “ยูซิตี้” บริหารจัดการ ซึ่งขับเคลื่อนแผนธุรกิจ ผ่าน “ปิยพร พรรณเชษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยูซิตี้
“ปิยพร" ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ถึงผลลัพธ์ในการดำเนินธุรกิจของยูซิตี้ ที่ผ่านมา โดยเชื่อมั่นว่า ปีนี้จะเริ่มมีกำไร “เป็นครั้งแรก” เพราะหลังจากบีทีเอสกรุ๊ปเข้าถือหุ้นใหญ่ในปี 2558 ได้นำเงินทุนไปขยายธุรกิจ ทั้งการซื้อสำนักงานให้เช่าในอังกฤษ โรงแรมในยุโรป ทำให้อสังหาฯในพอร์ตการลงทุนของยูซิตี้ ในปัจจุบันกระจายอยู่ทั่วทวีปยุโรปและเอเชีย โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรมที่พักและการบริการ
โดยมีโรงแรมที่เปิดดำเนินการ 116 แห่ง แบ่งเป็น 57 โรงแรม รวม 9,209 ห้องที่เป็นเจ้าของ หรือถือครองภายใต้สัญญาเช่าการเงินหรือสัญญาเช่าดำเนินงาน และอีก 59 โรงแรม รวม 21,006 ห้องภายใต้สัญญาการจัดการ
“ในแง่ของการบริหาร เราเน้นให้โรงแรมที่มีอยู่แข็งแรงอยู่ได้ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่จุดแข็งที่ทำให้ยูซิตี้ขยายธุรกิจได้รวดเร็วเพราะได้รับการสนับสนุนจากบีทีเอสกรุ๊ป ในแง่เครือข่ายพันธมิตร ที่ดิน โลเคชั่นรถไฟฟ้า สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ และความได้เปรียบในการแข่งขัน”
โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้ซื้อกิจการโรงแรม 19 แห่งที่เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ ซื้ออาคารโนเบิล เพลินจิต ส่วนโครงการอสังหาฯที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นคอนโดร่วมทุนกับบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการไปแล้ว 14 โครงการ ภายใต้แบรนด์ เดอะไลน์ , คุณ บาย ยู, เดอะ เบส และ เดอะ โมนูเมนต์ จากทั้งหมด 25 โครงการหลังจากลงนามสัญญาเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่วนโครงการที่เหลือ จะปรับตัวตามสภาพตลาดขึ้นอยู่กับโลเคชั่น
“กลยุทธ์ของยู ซิตี้ จะเป็นการลงทุนในอสังหาฯทั่วโลกโดยเฉพาะโรงแรม ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลัก 80% ซึ่งที่ผ่านมาทำรายได้ให้กับบริษัทแม้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะโรงแรมส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ถือเป็นข้อดี ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจและสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ที่เหลือมาจากอาคารสำนักงาน 4 แห่ง และคอนโดที่ร่วมทุนกับแสนสิริ”
สำหรับแนวทางการทำธุรกิจอสังหาฯ บีทีเอสกรุ๊ป จะเป็นผู้ลงทุนแต่จะไม่พัฒนาโครงการอสังหาฯ แต่ถ้าจะพัฒนาจะให้สิทธิ์ยูซิตี้เข้าไปพัฒนาก่อน โดยบีทีเอสมีที่ดินอยู่ในมือหลายแห่ง ทั้งในธนาซิตี้ และด้านนอก ขณะนี้บริษัทมี 3 โครงการที่อยู่ระหว่างกำลังพัฒนา ได้แก่ 1. โครงการเดอะ ยูนิคอร์น ติดบีทีเอส พญาไท เป็นมิกซ์ยูสสูง51ชั้น มูลค่ากว่า 9,300ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารให้เช่าเกรดเอ พื้นที่22,000 ตร.ม. โรงแรม5ดาว 500 ห้อง และมีรีเทลจะสร้างเสร็จในปี 2565
2.โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม ตึกเก่าริมน้ำเจ้าพระยา ย่านเจริญกรุง อยู่ระหว่างออกแบบพัฒนาเป็นเป็นรูปแบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) มีโรงแรมระดับลักชัวรี ร้านค้า และร้านอาหารพรีเมียม มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาทจะเปิดบริการในปี 2568 และ3.โครงการโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ (Verso)
ลงทุน 5,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 168 ไร่ เฟสแรกใช้พื้นที่70ไร่ โดยยูซิตี้และฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์กลุ่มทุนฮ่องกง ลงทุนฝ่ายละ 50 : 50 คาดว่า ส.ค. ปีหน้าจะเปิดให้บริการ และจะสามารถคืนทุนภายใน 10 ปี
“โครงการต่างๆเหล่านี้ถือจะเข้ามาต่อยอดและสร้างความแข็งแกร่งให้กับยูซิตี้ในอนาคต ยกตัวย่าง โรงเรียนนานาชาติ จะแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาในพื้นที่ ทั้งจากชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยในโซนอีอีซี (เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) รวมถึงการดึงลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านให้พาลูกเข้ามาเรียน ทำให้สามารถพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยออกมารองรับกลุ่มคนเหล่านี้ได้อีกจำนวนมาก รวมถึงคนไทยที่ต้องการให้ลูกเข้ามาเรียนในอนาคต ”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยูซิตี้ ยังระบุว่า ปัจจุบันบริษัทยังมีที่ดินผืนใหญ่อีก 3 แปลงที่รอจังหวะการพัฒนา ได้แก่ ราษฎร์บูรณะ 27 ไร่ สุขสวัสดิ์ 50 ไร่ และคูคต 57 ไร่
ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจในไตรมาส 2 ปีนี้ มีรายได้ 2,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.8% เทียบกับจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 393 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงแรมและการเข้าซื้อกิจการ ขณะที่โครงการร่วมกับแสนสิริมียอดรอการโอน(Backlog)มูลค่ารวม16,685ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-4 เมกะเทรนด์..อสังหาฯ ยุคเปลี่ยนโครงสร้างรับมือแข่งเดือด
-อสังหาฯมาเลย์-ไทยส้มหล่นจากเหตุประท้วงฮ่องกง
-อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน - CEO Blogs
-เดิมพันอสังหาฯแสนล้าน ลดยาแรง LTV