ผ่าอาณาจักร "เอ็มบีเค กรุ๊ป" พลิกเกมสู้ดิจิทัลป่วน "ศูนย์การค้า"

ผ่าอาณาจักร "เอ็มบีเค กรุ๊ป" พลิกเกมสู้ดิจิทัลป่วน "ศูนย์การค้า"

สิ่งหนึ่งที่องค์กรอายุยืนยาวต้องเผชิญคือ คลื่นการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุค เช่นเดียวกับ องค์กร 45 ปี เอ็มบีเค กรุ๊ป จากธุรกิจพืชไร่สู่ศูนย์การค้า เมื่อดิจิทัลดีสรัป ศูนย์การค้า อาณาจักร 5 หมื่นล้าน จะพลิกเกมสู้อย่างไร ไปติดตาม

45 ปี “เอ็มบีเค กรุ๊ป” เริ่มต้นในปี 2517 จากธุรกิจพืชไร่ ค้าข้าว (บริษัท มาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด) ก่อนรุกเข้าสู่ธุรกิจศูนย์การค้ามาบุญครอง (ชื่อบริษัทมาจากชื่อพ่อ“มา” และแม่“บุญครอง”ของศิริชัย บูลกุล ผู้ก่อตั้ง)ในปี 2526 หลังจากได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน 27 ไร่ บริเวณสี่แยกปทุมวันกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งนับเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น 

ทว่าในปี 2528  เกิดวิกฤตเศรษฐกิจนำไปสู่ การลดค่าเงินบาทเป็นครั้งแรกในไทย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเอ็มบีเค กรุ๊ปค่อนข้างรุนแรง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยมีบริษัททุนธนชาต จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญ โดยปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสอง รองจากบริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) จนมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี 2540  แต่ในขณะนั้นสถานะการเงินของเอ็มบีเค กรุ๊ป ค่อนข้างแข็งแกร่ง เนื่องจากธุรกิจศูนย์การค้ามาบุญครองกำลังเฟื่องฟู (เปลี่ยนชื่อเป็น MBK Center ในปี 2543) จึงไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ

ตอนนั้นคนอื่นไม่มีเงินแต่เรามีเงิน และแข็งแรงมาก คนอื่นมีปัญหาแต่เราไม่มี ทำให้มีเงินไปซื้อหนี้เสียจากเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ มาบริหารเป็นหนี้ดี กลายเป็นที่มาของการขยายไปสู่ธุรกิจหลากหลายตามมาในปัจจุบัน  สุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของอาณาจักรเอ็มบีเค กรุ๊ป สู่การเติบโต“ก้าวกระโดด”ในปัจุบัน ที่สยายปีกไปถึง 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจศูนย์การค้า, โรงแรม , สนามกอล์ฟ, อสังหาริมทรัพย์, อาหาร, การเงิน, ธุรกิจอื่น ๆและธุรกิจสนับสนุน 

S__23912477

สุเวทย์ยังประเมินว่า อีกจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจกำลังจะเกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ต่างจากหลายองค์กรที่ต้องเผชิญ คือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Disruptionกลายเป็น ความท้าทายรอบใหม่ ที่องค์กร 45 ปีต้องเผชิญ !!

โดยเขาเห็นว่า “คาถา”หรือทางรอดในการทำธุรกิจในยุคนี้ คือ การปรับตัว” ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แม้สไตล์การบริหารงานของเอ็มดีเค กรุ๊ป จะคอนเซอร์เวทีฟ (อนุรักษ์นิยม) แต่จริงๆแล้วไม่ได้หยุดนิ่ง ตรงกันข้ามกลับปรับตัวตลอดเวลาเพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง

โดยก้าวต่อไปของ เอ็มบีเค กรุ๊ป ใน 7 กลุ่มธุรกิจ ประธานกรรมการบริหาร ระบุว่า จะเพิ่มน้ำหนักในการผลักดันรายได้ “ธุรกิจการเงิน” ให้มากขึ้น เนื่องจากมาร์จิน(กำไร)สูง อีกทั้งทีมผู้บริหารมีประสบการณ์ ความถนัดด้านการเงินการลงทุนเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะธุรกิจลีสซิ่ง และการปล่อยสินเชื่อ ที่มีการเติบโตสูง

ทั้งนี้ปัจจุบัน 2 พอร์ตสินเชื่อ(ลิสซิ่ง -ปล่อยสินเชื่อ) รวมกันมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายใน 5 ปีจากนี้ (ตั้งแต่ปี 2562-2566) จะเติบโตขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 30% จาก 20% ไม่เกิน 5 ปีจากนี้ (ปี 2566) ขณะที่ผลการดำเนินงานของเอ็มบีเคกรุ๊ป ในช่วง 6 เดือนแรกของปี2562 พบว่ามีกำไรสุทธิ 1,040.10 ล้านบาท รายได้ 5,774.88 ล้านบาท โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวม 51,175.86 ล้านบาท 

S__23912479

“เรามองเห็นโอกาสและความต้องการในตลาด จากสมัยก่อนทุกคนต้องกู้เงินผ่านแบงก์ แต่ตอนนี้แหล่งเงินไม่ได้มีเฉพาะแบงก์แต่ยังมีนอนแบงก์ มาเป็นทางเลือก ธุรกิจของเราคล้ายๆนอนแบงก์ จะเน้นการปล่อยสินเชื่อใน Volume ใหญ่หน่อยเพื่อบริหารความเสี่ยง ไม่ปล่อยรายย่อยลูกค้าหลักของการจะเป็นธุรกิจขนาดกลาง ในรูปแบบของสินเชื่อระยะสั้น ประเภทสินเชื่อเงินสด (Bridging Loan) สำหรับธุรกรรมทางการค้า รวมถึงการบริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมในไทย เป็นต้น"

เขายังยกตัวอย่างว่า หลายๆตระกูลมีที่ดินมรดกตกทอดมาแต่ไม่ได้ทำธุรกิจอะไร คนกลุ่มนี้เมื่ออยากมีเงินใช้ เพื่อทำอะไรบางอย่างไปขอสินเชื่อสถาบันการเงินไม่ได้ ทั้งๆที่มีที่ดินราคาแพงมูลค่าเป็นพันล้านบาท แต่อยากจะใช้เงิน 1 ล้านบาท เพราะตามกฎธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถ้าขอสินเชื่อไปแล้วไม่ได้ทำธุรกิจ ไม่มีกระแสเงินสด ไม่มีแผนธุรกิจ สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อให้ไม่ได้ ทำให้บริษัทเห็นช่องว่างตรงนี้จึงเข้ามาทำธุรกิจนี้คล้ายกับโรงรับจำนำ แค่นำที่ดินมาจำนอง โดยปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 50% ของมูลค่าสินทรัพย์ ซึ่งธุรกิจนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆจนทำให้สัดส่วนรายได้ธุรกิจการเงินในปัจจุบัน เป็นอันดับสองรองจากศูนย์การค้าแล้ว

นอกจากนี้ ยังทำสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดย บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด ที่ซื้อต่อมาจากธนชาตกับสโกเทียแบงก์ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

เขายังระบุว่า แม้ในปัจจุบันสัดส่วนธุรกิจศูนย์การค้าจะมีสัดส่วนรายได้เป็นอันดับหนึ่งที่สัดส่วน 37% ในปี 2561 แต่อนาคตสัดส่วนรายได้ของศูนย์การค้ามีแนวโน้มทรงตัว หรือโตชะลอ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิต พฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่เข้ามาดิสรัป กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า

“ดีพาร์ทเมนต์สโตร์จะลำบากขึ้นเพราะเดี๋ยวนี้คนสั่งซื้อของผ่านออนไลน์ แต่ถ้าเป็นของแฟชั่นอาจจะมาศูนย์การค้า ฉะนั้นศูนย์การค้าต้องปรับตัวเองให้สามารถดึงดูดคนส่วนใหญ่จึงกลับไป โดยเราจะมาเน้นเรื่องธุรกิจบริการในศูนย์การค้า เช่น ธุรกิจร้านอาหาร เพราะยังสร้างความแตกต่างได้ชัดเจนระหว่างมารับประทานในร้านกับสั่งซื้อออนไลน์ ทั้งแง่ของรสชาติ ความสดใหม่ บรรยากาศ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก”

สุเวทย์ ยังบอกด้วยว่า ศูนย์การค้าเอ็มบีเคกำลังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเช่นกัน สังเกตได้จากจำนวนคนไทยเดินศูนย์การค้าลดลง เมื่อเทียบกับต่างชาติที่เข้ามา เป็นสัญญาณให้เตรียมตัว แม้ว่าจะไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจนแต่ในอนาคต คงหนีไม่พ้นการถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี ส่งผลให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ไม่ได้นิยมเดินเที่ยวในศูนย์การค้า จะมาเมื่อมีจุดมุ่งหมาย ยกเว้นนักท่องเที่ยว ดังนั้นศูนย์การค้าต้องทำให้ลูกค้าสามารถเข้ามาอยู่ในศูนย์ฯได้นานขึ้น เช่น การมีโค เวิร์คกิ้ง สเปซ ,ร้านกาแฟ เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ และเชื่อมโยงกับธุรกิจอาหารที่มีอยู่

“ศูนย์การค้าจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้มีชีวิตชีวา อยู่เฉยๆไม่ได้ไม่อย่างนั้นจะอยู่ต่อไม่ได้ ศูนย์การค้าต้องเปลี่ยนมาเน้นบริการมากกว่าการขายของ เช่น การรับซ่อมมือถือ ฯล ที่ทำให้คนต้องมาศูนย์การค้า”

ส่วนในธุรกิจโรงแรม นำทัพโดยโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส และอีกหลายโรงแรม มีส่วนรายได้รวมกันอยู่ที่ 13% ของรายได้รวมเครือ ได้ปรับตัวด้วยการรับจองผ่านทางออนไลน์เกือบหมด เพื่อเข้าถึงลูกค้าโดยตรง ขณะที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังต้องรอจังหวะ เวลาและโอกาส ที่เหมาะสมในการลงทุน “ไม่เร่งรีบ” เพราะมีแลนด์แบงก์ต้นทุนเดิมจำนวนมากเฉพาะ จ.ปทุมธานี มี 2,000ไร่ จ.ภูเก็ต อีก 2,000 ไร่ ในกรุงเทพฯ ตามแนวรถไฟฟ้า4-5 ไร่ 

เรามีแลนด์แบงก์อยู่อีกมากแต่ต้องรอจังหวะเวลาและโอกาส เมื่อไรพร้อมทำ ถ้าไม่พร้อมไม่ทำ เราไม่ได้กู้เงินมาซื้อที่ดิน เลยไม่รีบสร้างเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ เศรษฐกิจช่วงนี้คงยังทำอะไรได้ไม่มากนัก

ขณะที่ธุรกิจกอล์ฟ กำไรไม่เยอะเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นแต่สนามกอล์ฟเป็นแม่เหล็กที่ทำให้ธุรกิจอสังหาฯมีจุดขายที่โดดเด่นและมีมูลค่าเพิ่มได้เป็นการเสริมให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น ในส่วนของธุรกิจข้าว ยังคงดำเนินการอยู่แม้ว่าจะไม่ได้เติบโตหวือหวา เนื่องจากมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างเวียดนามและอินเดีย ประกอบกับคนไทยกินข้าวน้อยลง เพราะขนาดครอบครัวเล็กลง ต้องการดูแลสุขภาพ บางส่วนก็หันมาบริโภคขนมปังเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจข้าวทำได้แค่“ยืนระยะ”

เขายังบอกว่า ภายใต้สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป นอกจากจะทำให้เอ็มบีเค กรุ๊ป ต้องปรับแผนธุรกิจแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญตามมาไม่แพ้กัน คือ บุคลากร” 

“เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไป การทำธุรกิจก็ต้องเปลี่ยน ในแง่ของโครงสร้างการทำงานต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับคลื่นความเปลี่ยนแปลง เพราะต้องยอมรับว่าบริษัทมีอายุ45ปีธุรกิจหลักเป็นบริการ หัวใจสำคัญคือคน ฉะนั้นจึงต้องพัฒนาคน 3 เจนเนอเรชั่น ทั้งเบบี้บูมเมอร์ เจเนอเรชั่นเอ็กซ์และวายให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปตามไดเรทชั่นที่วางไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเร่งดำเนินการอยู่” สุเวทย์ ทิ้งท้าย

----------------

อ่านซีรีส์..ผ่าอาณาจักรเซ็นทรัลกรุ๊ป 6.7 แสนล้าน รับมือโลกเปลี่ยน !! ได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/848507