ธ.ก.ส.เปิดสินเชื่อ‘ปลูกป่า’5พันล้าน ช่วยเกษตรกรเพิ่มรายได้

ธ.ก.ส.เปิดสินเชื่อ‘ปลูกป่า’5พันล้าน ช่วยเกษตรกรเพิ่มรายได้

“ธ.ก.ส.”คลอดสินเชื่อหนุนปลูกป่าเป็นครั้งแรก หวังลดการบุกรุกป่า5 แสนไร่ ช่วยสร้างรายได้ยั่งยืน เน้นช่วยเกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว กำหนดวงเงิน 5 พันล้าน ตั้งเป้าลูกค้า 5 หมื่นราย วงเงินรายละไม่เกิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3-4% ปลอดดอกเบี้ย 5 ปีแรก 

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการสินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน วงเงิน 5 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรลดการบุกรุกป่า 5 แสนไร่ วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 1 แสนบาท  ระยะแรกจะปล่อยให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำ11 จังหวัด

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายเกษตรกรจำนวน 5 หมื่นราย  ในพื้นที่เป้าหมายที่ป่าไม้ถูกบุกรุกมากที่สุดและเป็นป่าต้นน้ำใน 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พะเยา ล าปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ตาก และ เลย

 “เป็นครั้งแรกที่ธ.ก.ส.ออกโครงการสินเชื่อเพื่อปลูกป่า ซึ่งเดิมเราจะสนับสนุนเงินทุนแบบให้เปล่ากับชุมชนเพื่อสนับสนุนการปลูกป่าเท่านั้น แต่ครั้งนี้ปล่อยสินเชื่อเป็นรายบุคคล ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สิน หนุนการปรับเปลี่ยนอาชีพ เพิ่มรายได้ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สร้างความยั่งยืนสู่เศรษฐกิจฐานราก”  

เขากล่าวต่อว่า โครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่า ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด อ้อย ที่มีความเสี่ยงด้านการผลิต ด้านราคาและมาตรการกีดกันทางการค้า พร้อมส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่การปลูกพืชที่หลากหลาย ควบคู่กับการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่ารักษาสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เช่น ปลูกไม้กิน ได้ ไม้ใช้สอย และไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียน สามารถลดต้นทุนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง

ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรลูกค้าที่มีหนี้สินเป็นภาระหนักหรือมีหนี้สินเดิม และต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ผ่านการประเมินความสามารถในการประกอบอาชีพตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร ปลอดชำระต้นเงินไม่เกิน 5 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 MRR -3 ,ส่วนปีที่ 4 -6 MRR -2, ปีที่ 7 -9 MRR -1 และปีที่ 10 เป็นต้นไป MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.875% ต่อปี) ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ก.ค. 2564 กำหนดชำระคืนเงินกู้ตามที่มาของรายได้ แต่ไม่เกิน 15 ปี 

โดยประเภทที่ดินที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ ได้แก่ โฉนดที่ดิน น.ส.3 ,น.ส.3 ก, น.ส.3 ข และ ส.ป.ก. 4-01 รวมถึง ที่ดินที่รัฐอนุญาตให้ทำประโยชน์ได้แก่สทก.1 ก, สทก.2 ก, สทก.1 ข, น.ค3 ก, สน.5 และที่ดินที่ทางการอนุญาตอื่นๆ

ด้านนายธัชพงศ์ กุลเทพรวม เกษตรกร อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน กล่าวว่า ตนได้รับสินเชื่อ 1 แสนบาท จะนำมาลงทุนต่อยอดผลผลิตที่ปลูกพืชผสมผสาน เช่น เงาะ ยางพารา ต้นยางนา เกาลัด ช่วยสร้างรายได้ต่อเดือนมั่นคงมากขึ้น เฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อเดือน จากเดิมจะปลูกพืชข้าวโพดอย่างเดียว

“ผมมองว่า โครงการนี้จะช่วยลดความขัดแย้งกับกรมป่าไม้ เพราะต้องเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ปากไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการรักษาป่า เพราะการจะได้รับสินเชื่อเกษตรกรขยายการเพาะปลูกในพื้นที่ควบคู่กับการักษ์ป่าเพิ่มขึ้น เช่น การปลูกต้นไม้ใหญ่ เพื่อขายคาร์บอน นอกเหนือจากการทำฝาย จะช่วยรักษาป่าต้นน้ำ และเพิ่มจำนวนป่าในพื้นที่”