“พาณิชย์”เผยเจรจาอาเซ็ปคืบ เตรียม ประกาศความสำเร็จพ.ย.นี้

“พาณิชย์”เผยเจรจาอาเซ็ปคืบ เตรียม ประกาศความสำเร็จพ.ย.นี้

พาณิชย์ เผย เตรียมประกาศความสำเร็จเจรจา อาร์เซ็ป พ.ย.นี้หลังวงเจรจาที่ดานังเมื่อสัปดาห์ก่อนมีความคืบหน้า เตรียมชงที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ป 12 ต.ค.นี้ เคาะประเด็นคงค้าง 7 ข้อบท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ อาร์เซ็ป ที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 19-27 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ได้แจ้งผลการประชุมว่า สามารถสรุปได้แล้ว 13 บท จากทั้งหมด 20 บท

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เหลืออีก 7 บท ได้แก่ บทการเยียวยาทางการค้า บทการแข่งขัน บทการค้าบริการ บทกฎถิ่นกำเนิดสินค้า บทการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา บทการลงทุน และบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ยังติดเพียงไม่กี่ประเด็นเท่านั้น

ดังนั้น น่าจะสามารถได้ข้อสรุปในปีนี้ โดยไทยจะเปิดบ้านเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 9 ในวันที่ 12 ต.ค. เพื่อเสนอรัฐมนตรีให้นโยบายในเรื่องที่ยังค้างอยู่ และดำเนินการตามความตั้งใจของผู้นำสมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ ที่จะประกาศความสำเร็จการเจรจาอาร์เซ็ปในปีนี้”

รายงานข่าวแจ้งว่า อาร์เซ็ปเห็นชอบร่วมกันให้เร่งสรุปประเด็นสำคัญของทุกประเทศให้แล้วเสร็จภายในพ.ย.นี้ และเตรียมข้อบทให้พร้อมสำหรับขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายในเดือนก.พ. 2563เพื่อให้สามารถลงนามความตกลงฯโดยเร็วที่สุดภายในปี 2563

สำหรับ 13 ข้อบทที่ได้ข้อสรุปแล้วได้แก่ บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน บทพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า บทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช บทมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ บทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บทการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ บทการค้าสินค้า บททรัพย์สินทางปัญญา บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น บทการระงับข้อพิพาท และบทบัญญัติสุดท้าย รวมถึงภาคผนวกภายใต้บทการค้าบริการ คือ ภาคผนวกโทรคมนาคม ภาคผนวกการเงิน ภาคผนวกวิชาชีพ

โดม

นายรณรงค์ กล่าวว่า อาร์เซ็ปจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบรรเทาและลดการกีดกันทางการค้า รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค

“ไทยจะได้เข้าไปอยู่ในเครือข่ายภาคการผลิต และการกระจายสินค้าของภูมิภาค รวมถึงลดความซ้ำซ้อนกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับแผนการผลิต สามารถวางยุทธศาสตร์การลงทุนในประเทศที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อภาคการผลิตได้”

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เอกชนเห็นควรให้เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเอฟทีเอถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักและคู่ค้ารองกับไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น ไทย-อียู ไทย-สหราชอาณาจักร รวมถึงอาร์เซ็ป และ เอฟทีเอไทย-อินเดีย เป็นต้น

    หลังจากที่ การส่งออกเดือนส.ค.2562 มีมูลค่า 21,914 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.0 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 19,862.4 ล้านดอลลาร์ หดตัว 14.6% ส่งผลให้ ส.ค.ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,053 ล้านดอลลาร์

ส่งออกม.ค.- ส.ค. มูลค่า 166,091 ล้านดอลลาร์ หดตัว 2.2% การนำเข้ามีมูลค่า 159,984 ล้านดอลลาร์ หดตัว 3.6% ประเทศไทยเกินดุลการค้า 6,106 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกในปี 2562 หดตัว 1.5% บ และคาดการณ์การส่งออกปี 2563 เติบโต 0-1%