“จ่าสลัดฟาร์ม”จากเด็กซนปลูกผัก เสิร์ฟคนรักสุขภาพ..!!
จากเด็กซนหัวโจกสร้างวีรกรรมในห้องเรียน กลายเป็นคนคิดนอกกรอบ ชอบทดลอง เรียนรู้ พัฒนาแบรนด์ผักจากตัวตน “จ่าสลัดฟาร์ม” ปันความรู้และเสิร์ฟผักปลอดภัยในชุมชน
คำว่าผักสลัด พืชผักเมืองหนาว ที่สายสุขภาพคนเมืองต้องมีติดตู้เย็น เช่น เรดโอ๊ค เรดคลอรอล เรดคอส มินิเรด แต่ในชนบทหรือต่างจังหวัดถือเป็นของใหม่ เพราะชาวบ้านต่างคุ้นเคยกับผักพื้นบ้านที่หาทานได้ตามรั้ว
แต่ “จ่าเอก-ศิริณคภักส์ ศิริมหาจันโท” หัวหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเทศบาล ตำบลวาริชภูมิ จ.สกลนคร ชาวบ้านผู้ที่รับความช่วยเหลือให้เข้าไปบรรเทาเหตุภัยมักเรียกเขาว่า “จ่ารุธ” อดีตเด็กมัธยมหัวโจกกลุ่ม ผู้มีนิสัยทะโมน มักสร้างวีรกรรมซนๆประจำห้องเรียน ผู้ต้องมาทำหน้าที่บำบัดทุกข์ ดับเหตุด่วน เหตุร้ายสารพัดภัยของชาวบ้าน จึงเข้าใจปัญหาชุมชนเป็นอย่างดีหนึ่งในนั้นคือปัญหาสุขภาพในชุมชน ซึ่งบางส่วนเกิดจากพฤติกรรมการทานผักปนเปื้อนสารเคมีจนสะสมในร่างกาย
นั่นคือผลผลิตของพืชผักเศรษฐกิจที่ต้องใช้สารเคมีมามีส่วนในผลิตเช่นเดียวกันกับการเติบโตมากับการเป็นลูกหลานเกษตรกรไทย ผู้ที่มีความหวังรายได้พึ่งพิงพืชเศรษฐกิจ พืชเชิงเดี่ยวเป็นหลัก แม้แต่อาชีพเสริมบนผืนดินมรดกกว่า50ไร่ ก็ถูกมาใช้ทำสวนยางพารา และสวนปาล์มตามกระแสโลกที่สำคัญจะต้องใช้เวลารอคอยยาวนานไม่ต่ำกว่า3-5ปีจึงสามารถแก็บเกี่ยวผลผลิตทำเงิน ขณะที่ค้นพบข้อมูลว่าพืชที่อายุสั้นจะสามารถสร้างกระแสเงินสดหมุนเวียนได้รวดเร็วกว่า
นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนความคิดหันมาพัฒนาพืชสวนผักที่มีอายุสั้น ประกอบกับการศึกษาอินเทอร์เน็ตและเห็นเทรนด์ของพืชผักปลอดสารพิษกำลังเป็นสิ่งที่สังคมไทยเริ่มตื่นตัวกับปัญหาสุขภาพ จึงแบ่งสวนหลังบ้านเนื้อที่1งานเพื่อทดลองปลูกผักปลอดสารทานเองในครอบครัว เพราะประหยัดและปลอดภัยกว่าการซื้อผักในตลาด จนผลผลิตเหลือล้นแบ่งปันเพื่อนบ้าน เมื่อเหลือก็แบ่งใส่ถุงละ10-20บาทแขวนขาอยู่หน้าบ้านจนหมดเกลี้ยง
“จากผักทั่วไปขยายการผลิตทดลองปลูกพืชสลัดเมืองหนาว เช่น เรดโอ๊ค เรดคลอรอล เรดคอส มินิเรด แม้แรกๆชาวบ้านไม่คุ้นแต่ด้วยทางการแนะนำให้ชุมชนหันมาทานผักปลอดสาร และคนปลูกก็สอดแทรกป้ายบรรยายคุณประโยชน์จากผักในถุง เช่น ต้านอนุมูลอิสระ หรือเรดโอ๊ค ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานดี จนปลุกกระแสตื่นตัวกินผัก รวมถึงคนเมืองหรือคนในตัวที่เข้ามาซื้อไม่อั้นและไม่เกี่ยงราคาทำให้คนในชุมชนซึมซับวิถีการบริโภคผักสลัด จนขายหมดทุกวัน”
เพราะทำการบ้านอ่านเทคนิคการปลูกพืชผักปลอดสารเคมีมาสักระยะ พร้อมกับทดลองแปลงปลูกผักในแบบฉบับของตัวเอง และเฝ้าประคบประหงมดูแลเองทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการรดน้ำวันละ4รอบ จึงได้ผลผลิตที่ผักกรอบ มีรสชาติหวาน ไม่ขมเขาเล่าต่อว่าเมื่อผลผลิตเริ่มขายดีมีคนรู้จักในชุมชนก็ทำให้ผักขายหมดไม่เพียงพอจนต้องมีการขยายพื้นปลูกเป็นหนึ่งไร่ พร้อมกับมีตลาดประชารัฐ ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนนำปลูกผักในครัวหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมาขาย ยิ่งทำให้ผักรู้จักในวงกว้าง
ส่วนรายได้จากการขายผักสดอย่างเดียวก็พอเลี้ยงตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะราคาขายผักสลัดราคาสูงกว่าผักในตลาดอยู่ที่80บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) ส่วนผักทั่วไป10-30บาทต่อก.ก. ราคาที่ขายแม้จะสูงเทียบกับผักในตลาดแต่ยังถูกกว่าผักชนิดเดียวกันที่ขายในตัวจังหวัดหรือตัวเมือง อยู่ที่150บาท ต่อก.ก.”เขาเล่าถึงความต่างของผักสลัด ยิ่งในปี2560เริ่มมีตลาดประชารัฐ เริ่มมีคนรู้จักและเพิ่มช่องทางการขายกว้างขึ้นจากขายหน้าบ้าน
ทว่าการที่จะขายผักสดอย่างเดียว ทำให้เห็นทิศทางยอดขายผักเริ่มนิ่ง และลดลงในบางวัน จากที่เคยขายได้จำนวนมากและมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงหันกลับมาวิเคราะห์สินค้า การบริการและการตลาดใหม่ นำไปสู่การต่อยอดจากผักสดเพียงอย่างเดียว ก็มีการพัฒนาการทำสลัดโรล และสลัดผัก ใช้วิชาความรู้ของการเคยเป็นทหารเรือเดินทางเยือนพร้อมกันกับชิมอาหารต่างๆ รอบโลกมาปรับปรุงสูตรสลัดให้เป็นสไตล์ของตัวเอง โดยใช้แบรนด์ “จ่าสลัดฟาร์ม” ตามชื่อที่ทุกคนชอบเรียกฟาร์มผักของจ่า ผู้เคยเป็นทหารเรือ พร้อมกับโลโก้ตัวการ์ตูน มาสคอตหนูน้อยทหารเรือ
“พอขายไปช่วงหนึ่งตลาดนิ่งยอดขายไม่แอคทีฟ เพราะขายแต่ผักสด จึงมาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะสินค้าเราหรือบริการก็ไม่มีปัญหา แล้วจึงพบว่าขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้คนรู้จักเพิ่มกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยการขยายผลิตภัณฑ์เป็นสลัดแปรรูป พร้อมกับทำแบรนด์ให้คนรู้จัก” นี่คือกลยุทธ์การตลาดแบบบ้านๆ ของจ่าผู้จบรัฐศาสตร์วิเคราะห์สินค้าและปรับปรุงแก้ไข
เมื่อออกแบบแบรนด์ และโลโก้ ที่สอดคล้องตัวตนของเขาที่สุด จึงเพิ่มช่องทางการสื่อสารบนเฟซบุ๊ค ที่เขาเชื่อว่าเป็นช่องทางการสื่อสารไปยังลูกค้าที่เหมาะสมรวดเร็วที่สุด เพราะในยุคนี้ใครๆ ก็มีเฟซบุ๊ค เขาใช้เฟซบุ๊คในการอธิบายเล่าเรื่องราวองค์ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ ให้ความรู้สุขภาพแนะนำสินค้าและรับคำสั่งซื้อ รวมไปถึงคอมเมนท์ต่างๆ ที่นำมาใช้ปรับปรุงสินค้าให้ดียิ่งขึ้นไป
นอกจากช่องทางเฟซบุ๊ค เขาใช้เครือข่ายของการทำงานหน่วยบรรเทา และป้องกันสาธารณภัยประจำชุมชนทำให้มีสายสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาล และผู้นำในชุมชน ที่แนะนำสลัดของเขาและเมื่อจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพของโรงพยาบาลท้องถิ่น ถือเป็นพันธมิตรจะเชิญ “จ่าสลัดฟาร์ม” ไปเปิดบูทแนะนำสินค้าทุกครั้ง เพราะเป็นสินค้าสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนที่รักการวิ่งก็จะนิยมใส่ใจสุขภาพโดยการทานผัก
ปัจจุบันจ่าสลัด มีรายได้จากการขายผักสด และผักสลัดแปรรูปเฉลี่ยวันละ1,000-2,000บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ถือว่าเลี้ยงตัวเองและสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นอาชีพที่สองที่อนาคตหลังเกษียณ หรือเกษียณอายุการทำงานก่อนกำหนดเพื่อมาต่อยอดธุรกิจหากเติบโต
“บางคนรอให้60ปี แล้วหลังเกษียณค่อยมาเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งอาจจะช้าไปไม่มีแรง ประสบการณ์และเงินทุน แต่สำหรับผมไม่รอให้ถึงวัยเกษียณ เริ่มทันทีเพื่อเรียนรู้ปรับปรุง และหากเติบโตตามเป้าหมายก็เออรี่รีไทร์ก่อนกำหนดได้”
ขณะที่เป้าหมายต่อไปสำหรับเขาจากนี้พัฒนามาตรฐานด้านระบบการผลิตที่ถูกต้องในสินค้าเกษตร ได้รับการรับรองการผลิตที่ปลอดภัย(GAP-Good Agricultural Practice)รวมไปถึงการขยายไปสู่ได้รับเครื่องหมายฟาร์มเกษตรอินทรีย์ (Organic)ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้จะไปเป็นใบเบิกทางให้ส่งผักห้างสรรพสินค้า ทั้งในบิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส รวมถึงแมคโคร เพราะมีนโยบายรับซื้อผักจากชุมชน
รวมไปถึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาโฮมสเตย์ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ฟาร์มสเตย์” บริการห้องพัก นักท่องเที่ยวที่ต้องการดื่มด่ำธรรมชาติมาพักผ่อน ชมกระบวนการพัฒนาแปลงผักปลอดสาร รวมถึงการบริการอาหารท้องถิ่นจากแปลงผักปลอดสาร
เขาเล่าว่า การเติบโตของแปลงผักที่เหนือความคาดคิด แม้ไม่ได้เรียนด้านธุรกิจมาโดยตรง แต่ใช้วิชาจากรัฐศาสตร์บริหารด้วยหลักการเดียวกันคือวิเคราะห์ปัญหาและพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ ผสมผสานกับการเรียนรู้ทดลองด้วยตัวเองจนสั่งสมประสบการณ์เฉพาะตัว ด้วยความตั้งใจดูแลใส่ใจไม่ล้มเลิกความพยายาม จึงได้สินค้าและการส่งมอบบริการที่มีคุณค่าส่งต่อสุขภาพดี ทำให้ผู้บริโภคพอใจ
“การทำทุกอย่างต้องมีการรวางแผน ก็ต้องมีขั้นตอนมองหาผลดีผลเสีย เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น เช่นการรับออเดอร์รับสินค้าต้องคาดการณ์หาผลิตไม่ทัน หรือผักเสียหายจะทำอย่างไร คาดการณ์ปัญหาเยอะๆ แล้วปรับปรุง”
นี่คือธุรกิจที่เกิดจากการรากฐานของการเป็นคนซุกซน ชอบคิดนอกกรอบ จึงชอบลองทุกอย่างด้วยตัวเองทำให้เขาสร้างตลาดคนบริโภคสลัดในชุมชนขึ้นมาเองด้วยการให้ความรู้คุณประโยชน์ จนชาวบ้านหันมาทานสลัดผักเช่นเดียวกันกับคนเมือง
.............
Key to success
ปั้นตลาดสลัดผัก
ในวิถีชนบท
-ทดลองเรียนรู้ด้วยตัวเองทุกขั้นตอน
-ปรับพฤติกรรมการกินจากการทดลอง
-สอดแทรกความรู้ในการขาย
-มีเฟซบุ๊คเป็นช่องทางการสื่อสาร
-มีแบรนด์ให้สอดคล้องกับตัวตน
-มีพันธมิตรจัดกิจกรรมโปรโมทสินค้า