“ซีบีอาร์อี” ชี้จับตา ตลาดสำนักงานมีแนวโน้มโอเวอร์ซัพพลาย 3 ปีข้างหน้า ตามรอยคอนโดบางทำเล แม้ดีมานด์ช่วง 5 ปีหลังขยายตัวปีละ 2 แสนตารางเมตร แต่ตลาดจะโตจากบริษัทเล็ก-สตาร์ทอัพ ชิงลูกค้าแข่งโค-เวิร์คกิ้งสเปซ
นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ตลาดอาคารสำนักงานในไทยจะเติบโตของดีมานด์เฉลี่ยปีละ 2 แสนตารางเมตร ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และในอีก 2 ปีนับจากนี้ซัพพลายอาคารสำนักงานจะยังโตต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มองว่า เป็นเรื่องดีในภาวะที่ตลาดคอนโดมิเนียมไม่ดี แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้าซีบีอาร์อีมองว่า ตลาดอาคารสำนักงานจะตามรอยคอนโดมิเนียมไปติดๆ นั่นคือการเข้าสู่ภาวะโอเวอร์ซัพพลายในบางทำเล
“ต่อไปดีมานด์ตลาดเช่าอาคารสำนักงานจะเติบโตได้จากบริษัทขนาดเล็ก เช่น สตาร์ทอัพ แต่ก็จะเผชิญการแข่งขันจากโค-เวิร์คกิ้งสเปซ เพราะการคิดเงินไม่ได้คิดเป็นค่าเช่า แต่คิดเป็นรายหัว นี่คือจุดที่เปลี่ยนไปในตลาดอาคารสำนักงาน”
ส่วนตลาดอสังหาฯที่ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้างคือโรงแรม แม้ในครึ่งแรกของปีนี้นักท่องเที่ยวจีนชะลอตัวลง หลักๆ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนมากกว่าปัจจัยค่าเงิน ทำให้จำนวนอยู่ที่ 5.65 ล้านคน ติดลบเกือบ 5% แต่ตลาดอื่นๆ อย่างมาเลเซีย อินเดีย และญี่ปุ่นก็ยังเติบโตดี ภาพรวมไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 19.77 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.48%
“มองว่าสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมยังมีอัตราเข้าพักที่ดีอยู่ แม้ราคาห้องพักจะไม่ค่อยดีก็ตาม แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเซ็กเตอร์ที่ผู้ประกอบการอสังหาฯส่วนหนึ่งสนใจเข้าไปลงทุนทำโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์เพื่อกระจายความเสี่ยงได้ระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่บริษัทด้านอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์กว่า 90% ยังทำคอนโดและบ้านขายอยู่”
นางสาวอลิวัสสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดโรงแรมและที่อยู่อาศัยมีส่วนเกี่ยวข้องกัน เพราะตอนนี้มีโปรดักท์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น การนำแบรนด์โรงแรมมาบริหารเรสซิเดนส์ แล้วขายเรสซิเดนส์เพื่อการลงทุน รูปแบบการขายของตลาดนี้เกิดมานานแล้วในภูเก็ต โดยให้ทางบริษัทรับบริหารจัดการโรงแรมมาดูแลการปล่อยเช่า แล้วลูกค้าจะได้ผลตอบแทนการลงทุนและสิทธิประโยชน์ในการเข้าพักด้วย
“ถ้าภาคท่องเที่ยวไทยดี จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโดฯในไทย ถ้านักท่องเที่ยวต่างชาติมาแล้วชื่นชอบ ก็จะนึกถึงการมีบ้านหลังที่ 2 ในไทย สามารถพักได้ 30-60 วันต่อปีตามเงื่อนไข แถมยังได้ผลตอบแทนการลงทุนกลับไป นับเป็นอีกตลาดน่าสนใจว่า นอกจากที่ภูเก็ตแล้ว สามารถทำที่กรุงเทพฯได้ด้วยหรือไม่ ขณะนี้พบว่ากำลังมีการพัฒนาตลาดรูปแบบนี้ในกรุงเทพฯเพื่อขายแก่ลูกค้าชาวต่างชาติ”
อย่างไรก็ตาม ดีมานด์จากกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ทำงานในบริษัทข้ามชาติต่างๆ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะกฎข้อระเบียบที่ทำให้ชาวต่างชาติรู้สึกว่าไม่ได้รับการต้อนรับจากไทย อย่างเรื่องการกรอกรายละเอียดแบบฟอร์ม ตม.30 โดยเจ้าของที่พักมีหน้าที่แจ้งแก่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ว่ามีคนต่างด้าวเข้ามาพำนักอาศัยทั้งแบบเป็นครั้งแรกและย้ายที่พักมาที่ใหม่ กับ ตม.28 ซึ่งให้คนต่างด้าวไปแจ้งย้ายที่อยู่ ภายใน 24 ชั่วโมงทั้งสองแบบฟอร์ม ทั้งที่หน่วยงานภาครัฐบอกว่าต้องการส่งเสริมภาคท่องเที่ยวและกระตุ้นชาวต่างชาติมาซื้อคอนโดฯ จึงเป็นจุดที่น่ากังวล เพราะอาจส่งผลลบมากกว่าผลดี