“มีวนา” ร่มเงากาแฟ ปลูกป่าในใจคนเมือง
กว่า 10 ปีที่เรื่องราวชุมชนคนต้นน้ำพลิกวิถีชีวิตลุกล้ำป่า หันมาปลูกกาแฟสร้างรายได้คู่กับปลูกป่า กำเนิดแบรนด์ "มีวนา" เรื่องราวน่าประทับใจ ถูกขยายร่มเงา "Mivana Community" เคลื่อนภาคธุรกิจและคนปลายน้ำ สานต่อพันธกิจคืนผืนป่า
ผืนป่าอันชุ่มชื้นเขียวขจีของประเทศไทยเคยมีจำนวนมากกว่าครึ่งประเทศ จากสถิติในปี 2554 มีพื้นที่ป่า 171.2 ล้านไร่ จากพื้นที่ประเทศทั้งสิ้น 321 ล้านไร่ ตัดภาพเพียง 50 ปีต่อมา ผืนป่าลดลงเหลือเพียง 73 ล้านไร่ สูญเสียพื้นที่ป่ามากถึง 98 ล้านไร่ในเวลาไม่นาน จากการรุกล้ำทำลายป่า จนส่งผลต่อระบบนิเวศ
จุดประกายให้มูลนิธิสายใยแผ่นดิน เข้าไปเรียนรู้ปัญหาป่ากับชุมชน ตั้งแต่ปี 2553 ที่หมู่บ้านขุนลาว บ้านห้วยคุณพระ และบ้านห้วยห้วยไคร้ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย หนึ่งในป่าต้นน้ำของประเทศ แต่กลับมีสภาพป่าเริ่มเสื่อมโทรมจากการทำเกษตรรุกล้ำผืนป่า ทั้งเผาเพื่อหาของป่าและยึดเป็นที่ดินทำกิน เลยเถิดไปถึงการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีบนป่าต้นน้ำของประเทศ
โมเดลพลิกฟื้นผืนป่า คู่กับพลิกชีวิต ในแบบเดียวกันกับที่สำเร็จในทวีปอเมริกาใต้ คือคำตอบการหารายได้จากการปลูกเมล็ดกาแฟอินทรีย์ขาย เลี้ยงปากท้อง คู่กับการปลูกไม้ใหญ่ให้ร่มเงา เติมความชุ่มชื่นให้กับหน้าดิน จนถึงปัจจุบันเกือบ 10 ปี มีการขยายพื้นที่ชุมชน 7 หมู่บ้าน สมาชิก 346 ครอบครัว มีพื้นที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์รักษาป่า 7,855 ไร่ เรื่องราวกำเนิด ธุรกิจกาแฟของชุมชนภายใต้แบรนด์”มีวนา”หมายถึงมีป่า ตั้งชื่อโดยความคิดจากชาวบ้านในพื้นที่
ธชา อุนนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการงานการตลาด บริษัท พีเอ็มเอสอี จำกัด บริษัทธุรกิจเพื่อสังคมผู้พัฒนาตลาดให้กับ “มีวนา” เล่าถึงเรื่องราวของกาแฟสร้างแบรนด์โดยไม่มีหน้าร้าน แต่ทำให้คนรู้จัก และกระจายสินค้าได้ในวงกว้างในระดับพรีเมี่ยม จากการหาเครือข่ายพันธมิตร ที่มีจิตวิญญาณหวงแหนผืนป่า มีความรักที่จะคืนผืนป่าให้กับประเทศ
หลังจากที่มีสร้างชุมชนต้นแบบของการบริหารจัดการคนอยู่ร่วมกับป่า จนได้กาแฟบริสุทธิ์รสชาติดี มีคุณภาพ สร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน และยังคืนความเขียวพื้นที่ป่าใน 7 หมู่บ้านแล้ว จึงมีชุมชนต้องการเข้าร่วมเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง
“เมื่อพัฒนาห่วงโซ่ชุมชนการผลิตกาแฟ และรักษ์ผืนป่า เป็นห่วงโซ่ต้นน้ำ ด้านบนที่หมุนเร็วแล้ว จึงต้องขยายด้านล่างยังหมุนช้า หมายถึง คนปลายน้ำ ช่องทางการจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะคนเมือง ผู้ที่ไม่ได้ดูแลแหล่งน้ำและผืนป่าโดยตรง แต่สามารถมีส่วนร่วมสร้างคุณค่าและคืนผืนป่าได้จากการเลือกบริโภค”เขากล่าว
กาแฟ “มีวนา” จึงแสวงหาพันธมิตรคนปลายน้ำ ผู้ที่นำผลผลิตไปกระจายต่อไปถึงผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา ในปี 2555 บริษัทกรีนเนท เอสอี เป็นผู้รับซื้อผลผลิตไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ในปีนี้ขยายร่มเงา “Mivana Community” พัฒนามีวนาให้เป็นชุมชนที่แสวงหาแนวร่วม ขับเคลื่อนแบรนด์ร่วมพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ส่งต่อให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน
โดยเป็นพันธมิตรผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งภาครัฐ คือเจ้าหน้าที่รัฐอุทยานแห่งชาติ, ชุมชน เกษตรกรในพื้นที่, ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค
พันธมิตรภาคใหม่ที่เข้ามาอยู่ใน “Mivana Community” เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนแบรนด์ และสร้างการตระหนักรู้ในกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งในปีนี้มีปรากฎการณ์ภาคธุรกิจเข้ามารับซื้อกาแฟ “มีวนา” พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวไปยังผู้บริโภคขยายวงกว้างมากขึ้น ประกอบด้วย เกรฮาวด์ คาเฟ่, บีนส์แอนด์บราวน์ ร้านกาแฟแบรนด์ “Casa Lapin”, เกรทเอิร์ธ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้จัดจำหน่ายและกระจายกาแฟพรีเมี่ยมไปยังกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร หรือ โฮเรก้า (Horeca) ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว และ สยามแม็คโคร ค้าส่งรายใหญ่ ตลอดจนร้านสินค้าออแกนิก อาทิ ใบเมี่ยง เลม่อนฟาร์ม และเอสแอนด์พี
“เราเป็นตัวกลางเชื่อมคนที่มีจริต แนวคิด ความเชื่อ พลิกฟื้นผืนป่า เพราะคนที่มีใจตรงกันก่อนจะคุยกันง่าย มาร่วมส่งต่อกาแฟที่มีเรื่องราว (Story) ของมีวนาไปยังคนทั่วไป จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายการรับรู้มากขึ้น”
อภิรุณ คาปิ่น หรือพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) และประธานกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่า บ้านขุนลาว มองว่า ชุมชนต้นน้ำตกเป็นผู้ร้ายในการทำลายผืนป่ามาโดยตลอด แต่ก็ฝ่าฟันอุปสรรค สร้างแนวร่วม จนพัฒนาชุมชนปลูกกาแฟ ที่มีแบรนด์กาแฟอินทรีย์ กระจายสินค้าไปยังกลุ่มผู้ดื่มกาแฟระดับพรีเมี่ยม เป็นผลสัมฤทธิ์ชุมชนภูมิใจว่าคนปลายน้ำ เริ่มเข้าใจและหันมาใส่ใจความเป็นอยู่ของคนต้นน้ำ ที่จะต้องเกื้อกูลและมีส่วนร่วมในการพลิกฟื้นผืนป่าไม่ใช่เพียงหน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง
“มูลนิธิส่งเสริมชุมชนปลูกป่า รักษาป่าต้นน้ำ โดยเริ่มต้นจากใส่ใจในวิถีชีวิตชุมชน มีการรับซื้อในราคาที่เป็นธรรม จึงช่วยแก้ไขปัญหากาแฟถูกกดราคา เพราะกาแฟอินทรีย์อยู่ในตลาดพรีเมี่ยมที่ราคาสูงกว่าตลาดทั่วในปีที่ผ่านมากาแฟเมล็ดสดจำหน่าย 30 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) ขณะที่กาแฟปลูกโดยเคมีอยู่ที่ 18 บาทต่อก.ก.”
ส่วนพันธมิตรที่นำกาแฟไปกระจายสินค้า โดยประสบสุข ถวิลเวชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรทเอิร์ธ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เริ่มต้นธุรกิจจากนำเข้าแบรนด์ชั้นนำที่เน้นการปลูกกาแฟและคืนสู่สังคม เช่น กาแฟ ลาวาซซา (Lavazza) จากอิตาลี ต้องการเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายเมล็ดกาแฟ ที่มาจากภายในประเทศ (Local) รวมถึงมีความเป็นอินทรีย์ เพราะเป็นเมล็ดกาแฟบริสุทธิ์ คุณภาพดี มีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคในเซ็คเม้นท์ระดับพรีเมี่ยม ถามหา ซึ่ง “มีวนา” มีเรื่องราวของการพัฒนาชุมชน และพลิกฟื้นผืนป่า ที่สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์โรงแรมที่ใช้เมล็ดกาแฟ
“เมื่อก่อนผู้ประกอบการทำธุรกิจนึกถึงกำไรมาก่อน แต่เมื่อปัจจุบันลูกค้าในกลุ่มพรีเมี่ยมเริ่มตระหนักรู้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงทำให้เชนโรงแรมระดับโลกนำเข้ากาแฟที่สร้างความยั่งยืน ซึ่งเกรทเอิร์ธ จำหน่ายกาแฟออแกนิคในสัดส่วน 30% เป้าหมายสูงสุดของกลุ่มธุรกิจต้องการเพิ่มเป็น 100% ในอนาคตเมื่อตลาดและผู้บริโภคร่วมกันขับเคลื่อน”
ด้านเติมพงศ์ อยู่วิทยา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ คาซ่า ลาแปง “Casa Lapin” มองว่า จุดยืนของธุรกิจต้องการพัฒนาแบรนด์กาแฟจากวัตถุดิบไทยแท้ ระดับพรีเมี่ยมที่จะไปสู่ระดับโลก โดยมุ่งเน้นกาแฟออแกนิก จึงมีการรับซื้อจากเกษตรกรในเครือข่าย 800 ไร่ และขยายมาเพิ่มแบรนด์มีวนา
แม้ลูกค้าหลักของคาซ่า ลาแปง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจด้านแฟชั่น เป็นหลัก ดังนั้นจุดขายของกาแฟที่ร้านจึงอยู่ที่กลิ่น รสชาติ กระบวนการมากกว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่กลุ่มธุรกิจก็เน้นที่การคืนผืนป่าและสิ่งแวดล้อม เพราะรู้ว่ากาแฟที่ดี มาจากดินที่ดี บริสุทธิ์ และกระบวนการคั่วตลอดจนการชงที่ดี ดังนั้นการอนุรักษ์ผืนป่าจึงเป็นทางอ้อมที่จะทำให้คนตะหนักรู้ว่าเมื่อทานกาแฟมีวนา ภายใต้คาซ่า ลาแปงแล้วยังได้มีส่วนเพิ่มผืนป่า
“กลุ่มลูกค้าเป็นสายแฟชั่นจึงไม่บอกตรงๆ สิ่งแวดล้อมเป็นจุดขาย เป็นทางอ้อมทำให้คนตระหนักรู้เข้าใจ และรู้สึกมีส่วนร่วมในคุณค่าเมื่อดื่มกาแฟแก้วนี้ เราไม่ได้มโนรักผืนป่า แต่มีโอกาสเห็นผืนป่าต้นน้ำที่สวยงาม ชุ่มชื้นจึงต้องร่วมกันรักษา”
ขณะที่ทัศนีย์ ทิมสถิต Senior Manager- Commercial Dry food บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรนำกาแฟมีวนากระจายไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ทำร้านกาแฟ มีวัตดิบที่เป็นออแกนิกจะช่วยเป็นจุดขาย สร้างอัตลักษณ์(Signature) ให้กับร้านกาแฟ ควบคู่กับกาแฟระดับแมส
ปิดท้ายที่แนวคิดจากพันธมิตรร้านอาหาร วรุณทิพย์ โตวรรณสูตร ผู้จัดการอาวุโสการตลาด บริษัท เกรย์ฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด มองว่า ผู้บริโภคต้องการมีส่วนร่วมในการทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม เมื่อนำกาแฟมีวนามาเสิร์ฟในร้านได้รับเสียงตอบรับดี เพราะมีเรื่องราว บวกกับคุณภาพกาแฟ ที่ได้รับการันตีสินค้าออแกนิก เกรย์ฮาวจึงคิดค้นกาแฟสูตร “Greyhound Blend by Mivana Organic Forest Coffee” เป็น Signature ที่ทำคู่กับมีวนา
“การรักษาผืนป่านั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพราะปัญหาเริ่มขยายวงใกล้ตัวมากขึ้น เช่นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อคนทุกคนล้วนมาจากการสูญเสียผืนป่า จนขาดสมดุล”