ไฟเขียวแก้สัญญาไฮสปีด เปิดทาง Subsidy 'ทำไปจ่ายไป' 25 ต.ค. จ่อลงนามซีพี
รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินจ่อฉลุย หลังบอร์ดอีอีซี อนุมัติแก้ไขสัญญา ตามข้อเสนอซีพี เผยปรับรูปแบบจ่ายเงิน "ทำไปจ่ายไป" แทนก่อสร้างเสร็จ คาดเซ็น 25 ต.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเช้าวันนี้ (16ต.ค.) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กับ กิจการร่วมค้าเครือเจริญโภคภัณฑ์(กลุ่มซีพี) มูลค่าการลงทุน 2.24 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุนได้ในวันที่ 25 ต.ค.นี้
“ที่ประชุมเห็นชอบแก้สัญญาตามข้อเสนอของเครือซีพี ในสัญญาจะให้ใช้ข้อความว่า "จะแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชน" ซีพี ขอ subsidy หรือ ทำไปจ่ายไป จากสัญญาเดิมที่จ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จ”แหล่งข่าวกล่าว
ตามเงื่อนไขการร่วมลงทุน รัฐบาล โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จะต้องจ่ายเงินค่าร่วมลงทุนจำนวน 117,227 ล้านบาท ให้แก่ซีพี ภายในระยะเวลา 10 ปี หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า กพอ.รับทราบเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาและแผนการส่งมอบพื้นที่แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.พญาไท-สุวรรณภูมิ 2.สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ส่งมอบภายใน 1 ปี 3 เดือน 3.พญาไท-ดอนเมือง ส่งมอบภายใน 2 ปี 3 เดือน
กรณีส่งมอบพื้นที่ไม่ทันจะหารือกับเอกชนพิจารณารายกรณี คือ 1.ขยายระยะเวลาก่อสร้าง แต่ไม่มีการจ่ายชดเชยให้เอกชน 2.กรณีเลวร้ายที่สุด ร.ฟ.ท. ไม่สามารถส่วมอบพื้นที่ได้เลยในช่วง 1 ปี 3 เดือน เอกชนมีสิทธิ์เจรจาและอาจขอ Exit ได้
หลังจากนี้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. จะพิจารณารายละเอียดการส่งมอบพื้นที่ และลงนามในวันที่ 25 ต.ค.นี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'ธนินท์' จี้รัฐร่วมเสี่ยงลงทุนไฮสปีด 3 สนามบิน
-ถกไฮสปีดนัดสุดท้าย ชง 'ซีพี' เซ็นสัญญา ก่อนส่งมอบ
-'มานะ' สงสัยไฮสปีดอืด 'พ่อค้าเกเร หรือ เล่ห์การเมือง'
-นับถอยหลัง 'ไฮสปีด เทรน'
-'อนุทิน' ย้ำไม่เลื่อนลงนามไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน