"พล.อ.ประยุทธ์" เป็นสักขีพยานลงนาม "รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน" ดีใจกับความก้าวหน้า ย้ำเมื่อเสร็จจะเกิดผลหลายอย่างต่อศก.
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62 เวลา 13.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) และบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายวราวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประไทย และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร) โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์
จากนั้นมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าฯ กลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สินรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด และ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตัวแทนกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินมีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ เริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองวิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อผ่านสถานีมักกะสันเลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมุ่งหน้าตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกผ่านแม่น้ำบางปะกง ก่อนเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชาสถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้ายรวมระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดยการลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาทโดยที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทานโดยมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท ปรากฏว่ากลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาทส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง2,200 ล้านบาทภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปีอีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ดีใจกับความก้าวหน้าของโครงการฯ เพราะเห็นว่าเราทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มากว่า 2 ปีแล้ว วันนี้ถือเป็นการนับหนึ่งลงนามสัญญาในการเริ่มก่อสร้าง โดยมีหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมทั้ง 3 สนามบิน ยังเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นด้วย สำหรับภาพรวมในการลงทุนขั้นต้นกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเราจำเป็นต้องพัฒนาประเทศไทย ทั้งในเรื่องทางบก รถไฟฟ้าความเร็วสูง ทางอากาศ รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด ทั้งหมดคือการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ และวางอนาคตที่เป็นความร่วมมือของ 3 ประเทศร่วมกัน โดยวันนี้ยังมีอิตาลีมาร่วมด้วยในส่วนของการเดินรถ ตามสัญญาการร่วมทุน Public Private Partnership หรือ PPP ซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ของเราที่มีกฎหมายกำกับควบคุมทุกตัว ขอให้เชื่อมั่นไว้วางใจว่าเราเดินหน้ามาถึงจุดนี้ได้ ถือว่าเดินมาก้าวหนึ่งแล้ว และขอให้ทุกคนสนับสนุนให้เดินไปสู่ก้าวที่สองให้ได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนการก่อสร้างคาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามสัญญา แต่ทั้งนี้ เราได้หาทางออกไว้แล้วในกรณีที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อย่างกรณีการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเดิมที่กีดขวางในเส้นทางการก่อสร้าง ก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ในฐานะความรับผิดชอบของรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นเจ้าภาพในการประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลงานนี้ถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลชุดที่แล้วที่ปัญหายังไม่จบ และรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้สานต่อในการเรื่องการลงนามสัญญาก่อสร้าง
“ความมุ่งหมายเราจะต้องมองไปยังอนาคตข้างหน้า เพราะถ้ามองปัจจุบันก็จะเห็นแต่ปัญหาของเรา เห็นถึงการที่จะต้องดูแลประชาชนของเรา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีรายได้เพิ่ม อาจไม่เร็วนัก เพราะจะต้องใช้เวลาก่อสร้าง แต่สิ่งสำคัญเมื่อสำเร็จ จะเกิดผลหลายอย่าง ทั้งผลต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน การขยายเมืองใหม่ การเพิ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องลดผลกระทบที่จะเกิดต่อประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยทุกสถานีที่รถไฟจอดล้วนมีโอกาสเติบโตทั้งสิ้น ทำให้เกิดการเชื่อมต่อเส้นทางและเปิดพื้นที่เชื่อมต่อพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศการขนส่งสินค้า เกี่ยวข้องการโลจิสติกส์ของไทย ตลอดจนรถไฟรางคู่ เครื่องบินก็จะมาจอดยังพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่ต้องห่วง เชื่อว่ารัฐบาลสามารถขับเคลื่อนได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว