ถอดบทเรียนพัฒนา ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ มุมมองคณะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ “อีอีซี”
หากย้อนดูปูมประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจะพบว่าในช่วงปี 2530 – 2539 เป็นทศวรรษที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เฉลี่ยกว่า 9% ต่อปี ส่วนหนึ่งจากความสำเร็จเกิดจากโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด”ซึ่งริเริ่มสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ
อีสเทิร์นซีบอร์ดช่วยให้เศรษฐกิจไทยในขณะนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดด การลงทุนของภาคเอกชนในขณะนั้นเฉลี่ย ขยายอยู่ที่ 8 – 11% ถือเป็นการขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค โดยขยายตัวสูงกว่าทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในขณะนั้นสูงถึงระดับ 43% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และการลงทุนที่ต่อเนื่องของภาคเอกชนก็ช่วยให้การขยายตัวของการส่งออกเฉลี่ยสูงถึง 14.5%
อย่างไรก็ตามหลังวิกฤต 2540 กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับเดิมได้อีกเลยทั้งในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการลงทุนของภาคเอกชนโดยในช่วงปี 2541 – 2560 จีดีพีของไทยขยายตัวได้เฉลี่ยเพียง 3.5% ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวได้เพียง 1.7% เท่านั้นซึ่งการลงทุนในระดับต่ำของภาคเอกชนถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
หลังจากการลงทุนครั้งใหญ่ในอีสเทิร์นซีบอร์ดในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาก็มาถึงการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ “อีอีซี” ซึ่งถือเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหม่ นอกจากเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรืออุตสาหกรรม สนามบินและเมืองการบิน รวมทั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน การพัฒนาอีอีซียังรวมถึงการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติให้เกิดผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งเร่งรัดการพัฒนาคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ในแง่หนึ่งอีอีซีถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศในรอบหลายทศวรรษ โดยใช้ความพร้อมและจุดเด่นของพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยซึ่งนักลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชียอย่างญี่ปุ่น และจีน รู้จัก “อีสเทิร์นซีบอร์ด” แนวคิดของภาครัฐในตอนริเริ่มโครงการอีอีซีก็คือสร้างคลื่นของการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ (New-S Curve) เพื่อเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนที่ในระยะหลังขยายตัวในระดับต่ำให้เพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 โดยเน้นในการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทั้งนี้เมื่ออีอีซีคือการต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ด “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จึงได้มีการนำเอาแนวคิดการพัฒนาอีอีซีไปหารือกับผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายอีสเทิร์นซีบอร์ดรวมทั้งผู้ที่มีประสบการณ์ทางเศรษฐกิจในเวทีนานาชาติ
รายชื่อของคณะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์อีอีซีได้แก่ 1.ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2 สมัยโดยในช่วงการดำรงตำแหน่งเป็น “เลขาสภาพัฒน์” สมัยที่ 2 ระหว่างปี 2523 – 2532 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดให้สำเร็จ 2.ดร.อาณัติ อาภาภิรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีตผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยระหว่างปี 2530 – 2534 ในช่วงยุคสมัยใกล้เคียงกับยุคโชติช่วงชัชวาลจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
3.ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทยมาหลายวาระ และ4.ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ “อังก์ถัด” และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
ดร.คณิศกล่าวว่าบทเรียนจากการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่คณะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ได้ให้แนวคิดในการพัฒนาโครงการอีอีซีในปัจจุบันว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้อีอีซีพัฒนาและแก้ปัญหาความผิดพลาดจากการพัฒนาภาคตะวันออกในอดีตได้แก่ 1.ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยทำควบคู่กับการวางผังเมืองให้เป็นระบบเอื้อต่อทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
2.พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงและสร้างการขนส่งระบบรางในพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อให้ต้นทุนโลจิสติกส์และการขนส่งลดลง และ 3.พัฒนาสนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภาให้สำเร็จ โดยเริ่มจากการนำเอาสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งพัฒนาทั้งสนามบินและเมืองสนามบินควบคู่กันไปเพื่อสนับสนุนการเป็นฮับรองรับอุตสาหกรรมการบินที่จะขยายตัวในภูมิภาค และการขยายตัวของเมืองในพื้นที่อีอีซีในอนาคต
...ก้าวแรกของการพัฒนาโครงการอีอีซีได้เริ่มต้นขึ้นแล้วแต่ความท้าทายยังรออยู่อีกมาก มุมมองจากที่ปรึกษากิตติมศักดิ์อีอีซีจึงสะท้อนถึงก้าวย่างต่อไปของอีอีซี รวมถึงประเด็นที่อีอีซีจะต้องให้ความสนใจเพื่อให้โครงการนี้เป็นอนาคตในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างที่ทุกฝ่ายคาดหวัง