ค้าปลีกจีนฟื้นตัวดีสุดรอบ 8 เดือน สัญญาณบวกตอบรับมาตรการกระตุ้น
ตัวเลขค้าปลีกจีนเดือนต.ค. ขยายตัว 4.8% ฟื้นตัวดีสุดในรอบ 8 เดือน สัญญาณบวกตอบรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเริ่มเห็นผล แต่การลงทุนในอสังหาฯ ยังลดลงต่อเนื่อง
บลูมเบิร์กรายงานว่า เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณของเสถียรภาพในเดือนที่แล้ว หลังจากตัวเลขการค้าปลีกเดือนต.ค. ปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน บ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลปักกิ่งทยอยประกาศออกมานั้นเริ่มได้รับการตอบรับในบางภาคส่วนแล้ว
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า ตัวเลขค้าปลีกของจีนเดือนต.ค. ขยายตัว 4.8% เมื่อเทียบปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยนับเป็นการขยายตัวที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. ปีนี้ และยังขยายตัวมากกว่าที่ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กคาดการณ์ไว้ที่ 3.8%
ทางด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือนต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.3% จากปีก่อน ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.6%
"ด้วยการเร่งดำเนินการตามนโยบายที่มีอยู่ และการนำนโยบายเสริมต่างๆ มาใช้มากขึ้นในเดือนต.ค. เศรษฐกิจของประเทศจึงมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง โดยมีตัวชี้วัดหลักฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และมีปัจจัยบวกสะสม" สำนักงานสถิติฯ ระบุ
“อย่างไรก็ตาม เราควรตระหนักว่าสภาพแวดล้อมภายนอกมีความซับซ้อน และรุนแรงมากขึ้น ดีมานด์ที่มีประสิทธิผลยังคงอ่อนแอภายในประเทศ และยังจำเป็นต้องเสริมสร้างรากฐานสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง”
ตัวชี้วัดเหล่านี้สะท้อนถึงผลตอบรับที่ตามมาในทันทีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด เพื่อให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตประจำปีที่ประมาณ 5%
เมื่อไตรมาสที่แล้ว การขยายตัวของจีดีพีจีนชะลอตัวลงแตะระดับอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ทำให้รัฐบาลปักกิ่งต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยในจำนวนมาก และหลายครั้งเพื่อสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น นอกจากนี้ ยังได้ออกโครงการสวอปหนี้รัฐบาลท้องถิ่นวงเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านหนี้ที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนเผชิญอยู่ และเปิดพื้นที่ทางการคลังให้หน่วยงานเหล่านี้สามารถช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามเกิดขึ้นว่า "ปักกิ่งเต็มใจที่จะอัดฉีดไปอีกแค่ไหนเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ และแก้ปัญหาภาวะเงินฝืด" และการกระตุ้นการบริโภคอาจกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้นหลังจากที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง โดยเขาขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนส่วนใหญ่ถึง 60% ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของจีนอย่างหนัก
จากข้อมูลเศรษฐกิจหลายด้านในเดือนต.ค. นั้น เริ่มเห็นสัญญาณสะท้อนมุมมองฝั่งผู้ผลิต และผู้ให้บริการที่ดีขึ้น ท่ามกลางการส่งออกที่เติบโตสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของจีนยังคงอยู่ใกล้ 0% และการขยายตัวของสินเชื่อก็ชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ
หลัน ฝออัน รัฐมนตรีคลังของจีนให้คำมั่นว่าจะดำเนิน "นโยบายการคลังเชิงรุกมากขึ้น" ในปีหน้า โดยสะท้อนจากการขาดดุลงบประมาณของจีนที่เพิ่มขึ้น การขยายเพดานการออกพันธบัตรพิเศษในท้องถิ่น และการใช้เงินที่ระดมทุนมาได้อย่างเสรีมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังเสนอการขยายโครงการแลกซื้อรถใหม่ให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วย
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางของจีนได้เร่งการขายพันธบัตรมากขึ้นจนมียอดสุทธิเกิน 1 ล้านล้านหยวน (ราว 4.8 ล้านล้านบาท) เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกันจนถึงเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม สัญญาณบวกนี้ยังไม่แสดงผลต่อการลงทุน โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นเพียง 3.4% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2023 โดยยังคงรักษาระดับเดียวกันในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน
ส่วนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ลดลง 10.3% ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งแย่ลงหลังจากที่ลดลง 10.1% ในช่วง 9 เดือนแรก ซึ่งบ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้พัฒนาอสังหาฯ ยังคงซบเซาแม้ว่ายอดขายบ้านจะฟื้นตัวในช่วงแรก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์