'เพซ' แหล่งรวม 'เซียนหุ้น' ชื่อดัง ติดกับดักโครงการขายฝัน

'เพซ' แหล่งรวม 'เซียนหุ้น' ชื่อดัง ติดกับดักโครงการขายฝัน

หากย้อนกลับไป พลิกดูรายชื่อ "ผู้ถือหุ้นใหญ่" ของ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนเมื่อปี 2556 ต้องบอกว่า “เพซ” ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่เหล่าบรรดา “เซียนหุ้น” ถือลงทุนกันมากมาย

หรือจะเรียกว่าเป็นแหล่งรวมพลของเซียนหุ้นก็ว่าได้ ...จึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่หุ้นเพซจะดำดิ่งลงมาได้ขนาดนี้

แรกเริ่มเดิมที บล.เอเซียพลัส เป็นผู้ปลุกปั้น "เพซ" มากับมือ และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนได้สำเร็จด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคปเป็นรายแรก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ณ เวลานั้น เพซยังคงมีผลประกอบการ "ติดลบ" แต่ด้วยมูลค่าโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ในมือ ทำให้บริษัทมีมูลค่าหลักทรัพย์สูงกว่า 7,500 ล้านบาท ตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้

จากรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ ชุดแรก หุ้นกว่า 50% ยังคงอยู่ในมือของ "ตระกูลเตชะไกรศรี" และได้นักลงทุนรายใหญ่อย่าง "ณฤทธิ์ เจียอาภา" หัวเรือใหญ่ของ ซีเฟรชอินดัสตรี (CFRESH) เข้ามาร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 1.8% ด้วยการซื้อหุ้นไอพีโอที่ราคา 3.50 บาท ก่อนจะทยอยเก็บเพิ่มอีกเล็กน้อยจนสัดส่วนการถือขยับขึ้นเป็น 1.97% ในช่วงที่ราคาหุ้นร่วงครั้งแรกไปเหลือเพียง 1 บาทกว่า

แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปเกือบ 4 ปี จนถึงปี 2560 รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ PACE ก็ไม่ปรากฎชื่อของ ณฤทธิ์ เจียอาภา อีกต่อไป ...นับว่า “ณฤทธิ์” หาจังหวะในการออกได้พอเหมาะพอเจาะ เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าว คือ ช่วงที่ดีที่สุด ซึ่งราคาหุ้นเพซวิ่งขึ้นไปแตะ 4 บาท ก่อนที่ทุกอย่างจะพังลงมา

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่เป็นจริง นักลงทุนที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกลับออกไปจากเข้ามาถือหุ้นเพซอย่าง ณฤทธิ์ ดูเหมือนจะไม่ได้มีมากนัก

157252672080

หลังจากที่ราคาหุ้นเพซวิ่งขึ้นมายืนเหนือไอพีโอได้สำเร็จ ในปี 2560 ทำให้นักลงทุนรายเล็กรายใหญ่ต่างตบเท้าก้าวเข้ามาถือหุ้นเพซกันมากมาย จนรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เดิมทีมีเพียง 14-15 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 23 ราย ในทันที

เซียนหุ้นที่คุ้นชื่อกันดีอย่าง ‘เสี่ยยักษ์’ วิชัย วชิรพงศ์ เข้าซื้อ 66.97 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.78% ‘เสี่ยป๋อง’ วัชระ แก้วสว่าง เข้าซื้อ 30 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.80% รวมไปถึงสถาบันต่างประเทศอย่าง Morgan Stanley, AIA และบล.ไทยพาณิชย์ ก็เข้ามาร่วมวงในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ผ่านไปไม่ถึงปีหุ้นเพซพลิกจากหน้ามือ เป็นหลังมือ ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ก่อนจะปิดปี 2560 ไปที่ระดับ 0.59 บาท ร่วงลงมากว่า 80% ถึงแม้ผลงานในปีนั้น เพซจะมีกำไรมาให้เห็น 171.12 ล้านบาท แต่ก็เกิดจากการตีมูลค่ารายได้ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงเข้ามาล่วงหน้าเท่านั้น หนำซ้ำผู้ตรวจสอบบัญชียังตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้อีกด้วย

เมื่อการลงทุนไม่เป็นไปอย่างที่คิด บางครั้งการยอมตัดใจขายขาดทุนก็อาจจะเป็นทางเลือกที่สบายใจมากกว่า ซึ่ง ‘เสี่ยป๋อง’ ก็ดูเหมือนจะเลือกแนวทางนี้ เพราะผ่านไปเพียง 8 เดือน ก็ไม่ปรากฎรายชื่อ วัชระ แก้วสว่าง ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่อีกแล้ว

‘เสี่ยป๋อง’ วัชระ แก้วสว่าง เปิดเผยว่า การเข้าลงทุนในหุ้นเพซเวลานั้นเป็นการตัดสินใจจากเชิงเทคนิค เมื่อราคาไม่ได้เคลื่อนไปอย่างที่คาดไว้ และหลุดลงมาต่ำกว่า 3 บาท ก็ตัดสินใจรักษาวินัยและตัดขาดทุนออกไป หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้เข้าไปลงทุนอีกเลย

ขณะเดียวกัน เราก็ยังได้เห็นนักลงทุนขาใหญ่และผู้คร่ำหวอดในแวดวงตลาดทุนอีกหลายราย ที่ยังน่าจะเชื่อมั่นว่าเพซกำลังเดินไปสู่อนาคตที่สดใส และตัดสินใจเข้ามาถือหุ้นหลังจากที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาอย่างรุนแรง

"ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" ประธานกรรมการบริหาร ซีพีออลล์ (CPALL) เป็นอีกหนึ่งรายที่ยอมควักเงินเข้าถือหุ้น 100 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.66% 

"วิทูร เลิศพนมวรรณ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอเอฟซีจี บริษัทที่ปรึกษาการเงินอิสระ เข้าถือ 37 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.98% 

รวมไปถึง "สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์" อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็เข้ามาร่วมแจม ถือหุ้น 27 ล้านหุ้น หรือ 0.72%

แม้เพซจะได้ผู้ที่คร่ำหวอดเหล่านี้เข้ามาเรียกความเชื่อมั่น แต่ฐานะการเงินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อสภาพคล่องยังมีปัญหา ทำให้บริษัทจำเป็นต้องประกาศเพิ่มทุนอีก 2 ครั้ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2560 ในราคา 0.50 บาทต่อหุ้น สัดส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นใหม่ และครั้งถัดมาเมื่อเดือน ก.ค. 2562 ในราคา 0.25 บาทต่อหุ้น สัดส่วน 3 หุ้นเดิม ต่อ 2 หุ้นใหม่

หกปีผ่านไป เราได้เห็นนักลงทุนมากหน้าหลายตาผลัดเวียนกันเข้ามาและออกไป 

ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ล่าสุด ณ วันที่ 8 พ.ค. 2562 ปรากฎชื่อนักลงทุนบิ๊กเนมรายใหม่ อย่าง "จิรวุฒิ คุวานันท์" ประธานใหญ่แห่งโค้วยู่ฮะ ดีลเลอร์รถกระบะอีซูซุ รายใหญ่ของไทย เข้าถือหุ้น 302.4 ล้านหุ้น หรือ 2.51% ชนะชัย ลีนะบรรจง ถือหุ้น 88.44 ล้านหุ้น หรือ 0.73%

รวมไปถึงเจ้าหนี้ของเพซ อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ของตระกูลบูลกุล ก็เข้ามาถือหุ้นด้วยในสัดส่วน 3.07% และ 0.76% ตามลำดับ

หุ้นเพซ จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญของเหล่าเซียนหุ้น ที่ต้องวางเดิมพันกับโครงการในอนาคต ซึ่งนับเป็นหนึ่งบทเรียนที่มีราคาแพง!