สอวช.ดัน“แซนด์บอกซ์” พัฒนาคนป้อน “อีอีซี”
สอวช.เตรียมทำ "แซนด์บอกซ์" พัฒนากำลังคนตามความต้องการตลาด ดึงเอกชนพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัย ผู้อบรมสามารถสะสมหน่วยกิตขอรับปริญญาได้
การผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะทำให้ความต้องการแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องมาร่วมกันพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนความต้องที่จะเกิดขึ้น ทั้งบุคลากรในระบบการศึกษาและการเพิ่มทักษะใหม่ให้ผู้ที่ทำงานแล้ว โดยเฉพาะการจัดรูปแบบการศึกษาใหม่ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างทำงานกับการสะสมหน่วยกิตเพื่อรับปริญญาได้
นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการประเทศ โดยเฉพาะการตอบโจทย์ให้ทันความต้องการเร่งด่วนเพื่อรองรับการลงทุน ซึ่งการรอกำลังคนที่จบวุฒิปริญญาจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตลอดจนทักษะที่ได้จากวุฒิการศึกษาอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและพัฒนากำลังคน จึงมีนโยบายพัฒนากำลังคนกลุ่ม Non-Degree เพื่อเป็นการ Upskill, Reskill รองรับการลงทุน โดยมีเป้าหมายสร้างบุคลากรคุณภาพสูง 1 แสนคน ที่พร้อมสำหรับความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งในและนอกอีอีซี เช่น อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงรองรับ Bioeconomy ,Circular Economy และ Green Economy (BCG)
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 3 มอบหมายให้กระทรวงการอุดมฯ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำหนดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมาย เพื่อให้ภาคเอกชนขอสิทธิประโยชน์ทางภาษี 2.5 เท่า
โดยต้องเป็นหลักสูตรที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และ สกพอ.รับรอง และต้องไม่ซ้ำกับมาตรการสิทธิประโยชน์ภาษี 2 เท่าที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ มาตรการนี้จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 31 ธ.ค.2563 แต่ไม่จำเป็นต้องฝึกอบรมให้เสร็จภายในปี 2563
“หลังจากที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้รับมอบหมายให้กำหนดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมาย เพื่อให้ภาคเอกชนขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น ทาง สอวช.เร่งทำรายละเอียดทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Future Skill List) ทั้งตำแหน่งงาน สมรรถนะและคุณลักษณะที่จำเป็น (Competency) ของตำแหน่งงาน"
เมื่อทำรายละเอียดเสร็จจะเปิดรับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่จัดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมายตามที่กำหนดมาลงทะเบียนยื่นคำขอ เพื่อให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงาน RTO (Registered Training Org.) และรับรองหลักสูตร
รวมทั้งเมื่อสถานประกอบการที่ส่งบุคลากรมาอบรมหลักสูตรตามที่ได้รับการรับรอง จะขอยกเว้นภาษีนิติบุคคลประเภทค่าใช้จ่ายฝึกอบรมได้ 2.5 เท่า จากกรมสรรพากร ส่วนสถานประกอบการที่ต้องการจ้างงานใหม่บุคลากรทักษะสูงด้านสะเต็ม ก็แจ้งตำแหน่งงาน และโปรไฟล์บุคลากรที่ต้องการจ้างมาที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อพิจารณารับรองแล้วสถานประกอบการจะขอยกเว้นภาษีนิติบุคคลประเภทค่าใช้จ่ายการจ้างงานใหม่บุคลากรทักษะสูงด้านสะเต็มได้ 1.5 เท่าจากกรมสรรพากร