แนวทาง 'ซ่อม' โลก

แนวทาง 'ซ่อม' โลก

เมื่อนักเศรษฐศาสตร์มองเห็นระบบโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดจุดอ่อนของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และมองไปไกลกว่านั้นถึงการล่มสลายของระบบนี้ในอนาคต แล้วทางออกของระบบโลกจะต้องเดินไปทางไหน อย่างไร

ในระยะหลัง ผู้เขียนได้เห็นงานของนักคิดนักเขียนระดับโลกในแวดวงเศรษฐศาสตร์และการเงิน พูดถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันมากขึ้น

โดยเฉพาะเรื่อง ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชนทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก โดยเหล่านักคิดมองว่าประเด็นนี้เป็น "จุดอ่อน" สำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในปัจจุบัน และอาจทำให้ระบบปัจจุบัน "ล่มสลาย" ได้ในไม่ช้า

โดยผู้เขียนขอยก 3 งานที่มองโลกแบบแง่ร้ายสุดโต่งดังกล่าว

งานแรกเป็นของ Ray Dalio นักการเงินระดับโลก ที่ได้ออกบทความชื่อว่า "โลกกำลังบ้าคลั่ง และระบบกำลังพัง" โดยมีเนื้อหาสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

1.นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่งนั้นไม่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้คนไม่ต้องการใช้จ่าย ผู้ที่ได้เงินจึงนำเงินไปลงทุนแทน โดยเฉพาะลงในบริษัท Start-up ด้านเทคโนโลยี ที่แม้จะมีรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจแต่ก็ยังไม่เคยกำไรเลย โดยในบางครั้งนักลงทุนเสนอเงินลงทุนมากกว่าที่ Start-up เหล่านั้นต้องการ แต่เหล่า Start-up จะไม่รับเงินก็ไม่ได้เพราะนักลงทุนขู่ว่าถ้าไม่รับเงินจะนำไปลงทุนในบริษัทคู่แข่งแทน จึงกลายเป็นว่าเศรษฐกิจไม่ได้ถูกกระตุ้น แต่เงินไปจมอยู่กับภาคธุรกิจที่ไม่ต้องการเงิน (จำนวนมาก) แทน

2.รัฐบาลทำนโยบายการคลังขาดดุลมากขึ้น ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องพิมพ์เงินมากขึ้นเพื่อมาอุดหนุนการขาดดุลดังกล่าว ขณะเดียวกัน กองทุนประกันสังคมและบำเหน็จบำนาญก็เสี่ยงที่จะขาดทุนมากขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุมีมากขึ้น ทำให้ต้องมีภาระการเงินเพื่ออุดหนุนในอนาคต แต่เงินลงทุนในปัจจุบันของกองทุนเหล่านั้นกลับไม่ได้ผลตอบแทนเพียงพอที่จะจ่ายภาระเหล่านั้นได้ (ซึ่งคำนวณว่าประมาณ 7% ต่อปี)

ฉะนั้นในอนาคต หนทางที่รัฐบาลจะทำได้มี 3 ทาง คือ 

  • ลดทอนผลประโยชน์ที่ผู้เกษียณอายุจะได้รับลง 
  • ขึ้นภาษี
  • พิมพ์เงินเพิ่มขึ้น 

 3.ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นจะยิ่งมากขึ้น ระหว่าง 1.ผู้ที่มีรายได้ดีอยู่แล้ว (ทำให้มีเครดิตดี) กับผู้ที่ไม่มีรายได้ และ 2.ผู้ที่มีความรู้และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้กับผู้ที่ไม่มีความรู้ เพราะผู้ที่มีเครดิตดี และ/หรือผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยี ก็จะยิ่งสามารถใช้เงินทุนและความรู้ต่อยอดความมั่งคั่งของตน ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น และอาจนำมาสู่การปะทะกันระหว่างชนชั้น

งานที่ 2 เป็นของ Branko Milanovic นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความเหลื่อมล้ำอันดับต้นๆ ของโลก โดย Milanovic ได้เขียนถึงระบบประชาธิปไตยในรูปแบบทุนนิยม-เสรีนิยมที่ยอมรับทั่วโลกในปัจจุบันว่าจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น

Milanovic มองว่าระบบปัจจุบันเน้นการแข่งขัน เน้นความเป็นหนึ่งของปัจเจกบุคคล ทำให้ผู้ที่ร่ำรวยพร้อมจะ "ลงทุน" อย่างมหาศาลกับบุตรหลานของตน ซึ่งทำให้บุคคลเหล่านั้นได้เปรียบด้านความรู้ จึงสามารถทำงานและได้รายได้สูงในอนาคต คนเหล่านี้จะสร้างสังคมของตนและนำไปสู่การมีอำนาจทางการเมืองในอนาคต โดยงานวิจัยพบว่าในสหรัฐ ผู้ที่มีรายได้สูงสุด 0.01% ของสังคม บริจาคเงินกว่า 40% ให้กับพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ทำให้นักการเมืองมีแนวโน้มที่จะทำนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเหล่านี้มากกว่า

งานสุดท้าย ได้แก่ งานวิจัยของอาจารย์จาก UCLA และสถาบันวิจัยในชิลี ซึ่งศึกษารายได้ของแรงงานในสหรัฐตั้งแต่ปี 2523-2559 โดยงานวิจัยพบว่าผู้ที่จะมีรายได้เติบโตสูงนั้นจะต้อง 1.ทำงานในภาคอุตสาหกรรม 2.จบการศึกษาในระดับสูง 3.ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือราคาแพง และ 4.ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เนื่องจากงานต่างๆ เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางมากขึ้น ทำให้งานอุตสาหกรรมทั่วไปมีจำนวนลดลง

ดังนั้น ผู้ที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่าจึงต้องหันไปทำงานด้านบริการที่ให้รายได้ต่ำกว่าแทน ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะมีมากขึ้นเช่นเดียวกับช่วงปี 1800 ในอังกฤษ ที่ผู้ที่จะมีรายได้สูงได้แก่ผู้ที่มีที่ดินมาก (หรือยุคศักดินา) แต่ในปัจจุบันผู้ที่มีรายได้สูงจะเป็นผู้ที่มีความรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มากกว่า

งานทั้งสามบ่งชี้ว่าในมุมมองของเหล่านักคิด พบว่าระบบทุนนิยม-ประชาธิปไตย (ที่นำมาสู่กระแสโลกาภิวัตน์) ในปัจจุบันมีจุดอ่อนและกำลังถึงจุดแตกหักในไม่ช้า อันเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ

1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เน้นนโยบายการเงินไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่นโยบายการคลังก็มีความเสี่ยงจากภาวะสังคมสูงวัยที่จะทำให้รายจ่ายด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้น

2.ระบบทุนนิยมปัจจุบันเน้นการแข่งขันเน้นความเป็นหนึ่ง ทำให้ผู้ที่สามารถเข้าถึงทุน ความรู้ และเทคโนโลยีรวมกลุ่มกันและสร้างอำนาจต่อรองมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น และทำให้ผู้ที่ "ไม่มี" และ/หรือไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จดังกล่าวเสียประโยชน์และไม่พอใจ และอาจนำมาสู่การปะทะระหว่างชนชั้นได้

  • สำหรับผู้เขียนแล้วเชื่อว่ายังพอเห็นทางออกได้ ซึ่งผู้เขียนมองว่ามี 5 ประการด้วยกัน คือ

1.โลกต้องหันกลับมาสู่กระแสโลกาภิวัตน์อีกครั้ง โดยเมื่อผู้นำอย่างสหรัฐหันหลังให้กับโลกแล้ว สิ่งที่ประเทศอื่นจะทำได้คือต้องรวมกลุ่มในภูมิภาคมากขึ้น เพราะแม้ในระดับภูมิภาคเอง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็ไม่เท่ากัน การค้าขายและเปิดเสรีระหว่างกันภายในกลุ่มจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มดีขึ้น

2.ความร่วมมือระหว่างนโยบาย (โดยเฉพาะด้านการเงินและการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ในเมื่อภาคเอกชนไม่มีความต้องการบริโภคและจับจ่ายแล้ว ภาครัฐจำเป็นต้องใช้จ่ายแทน โดยเฉพาะในการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่จะเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาในอนาคต โดยนโยบายการเงินจะช่วยเป็นส่วนสนับสนุนด้านการเงินได้เป็นอย่างดี

3.ภาครัฐต้องสร้างความเข้าใจและสนับสนุนในเชิงสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าการลงทุนในภาคเหล่านี้ไม่ให้ผลกำไรหรือผลประโยชน์เชิงธุรกิจสูงสุด แต่ก็จะเป็นส่วนช่วยสังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืนได้

4.พัฒนาให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นสูง พัฒนาสถาบันส่งเสริมฝีมือแรงงาน ให้แรงงานได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากที่เคยเรียนจากสถานศึกษาและตอบโจทย์ของภาคธุรกิจ และ

5.เพิ่มอายุเกษียณ และ/หรือมีโครงการที่จะสนับสนุนให้ผู้เกษียณอายุได้ทำงานต่อไปได้ ตราบเท่าที่ยังทำงานไหว

ผู้เขียนเชื่อว่าแนวนโยบายเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกของปัญหาโลกาภิวัตน์กลับทิศในปัจจุบัน

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]