สิงคโปร์ต้องการเป็นฮับ 'ธนาคารเสมือน' แห่งเอเชีย

สิงคโปร์ต้องการเป็นฮับ 'ธนาคารเสมือน' แห่งเอเชีย

แม้ไทยมีความได้เปรียบที่มีผู้บริโภคสามารถเข้าถึงระบบดิจิทัลได้มากกว่าสิงคโปร์กว่า 10 เท่า แต่วันนี้กลับกลายเป็นสิงคโปร์ที่ประกาศว่าจะศูนย์กลาง Virtual Banks หรือธนาคารเสมือนของเอเชีย

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีบทความลงเว็บไซต์บลูมเบิร์ก โดยตั้งชื่อว่า "Singapore Wants to Become an Asian Hub for Virtual Banks" 

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราคงปฏิเสธไม่ได้ถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ในวงการธนาคาร อันสืบเนื่องมาจากการถูกดิสรัปชั่นด้วยเทคโนโลยีแห่งยุคดิจิทัล นั่นก็คือ การมาของธนาคารเสมือน (Virtual Banks) ซึ่งในยุคแรก ก็คือธนาคารที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น แอพ เว็บไซต์ หรือช่องทางอื่นๆ ที่สามารถทดแทนสาขาที่มีอยู่จริงของธนาคารแบบดั้งเดิม

ซึ่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กร การลดจำนวนสาขาของธนาคาร และกระทั่งการลดจำนวนพนักงาน เพราะผู้บริโภคในยุคดิจิทัล หันมาใช้ช่องทางของ Virtual Banks มากขึ้น

อย่างไรก็ดี บทความล่าสุดของบลูมเบิร์กได้รายงานว่า กรรมการผู้จัดการของธนาคารกลางแห่งชาติสิงคโปร์ ได้กำหนดเป้าหมายให้สิงค์โปร์เป็นศูนย์กลาง Virtual Banks ของภาคพื้นเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับหลากหลายธุรกิจที่ได้ถูกดิสรัปชั่นด้วยเทคโนโลยีแห่งยุคดิจิทัล เช่น ธุรกิจสื่อ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกต คือ ธุรกิจดิจิทัลที่เข้ามาแทนที่ ไม่จำเป็นต้องให้บริการจากในประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อ ธุรกิจโฆษณา หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซในยุคดิจิทัล สามารถให้บริการมาจากต่างประเทศได้ทั้งสิ้น โดยเกือบจะไม่ต้องมีตัวตนในประเทศไทย หรืออยู่ภายใต้กฎหมาย และภาษีของไทยเลย กรณีดังกล่าวจึงเกิดเป็นการขาดดุลการค้า และเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ และความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต

ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะธุรกิจดิจิทัลในประเทศยังขาดความแข่งแกร่งที่จะสามารถต่อสู้กับธุรกิจดิจิทัลข้ามชาติได้ ผู้บริโภคของไทยจึงได้เลือกใช้บริการของธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้ แทนที่จะเลือกใช้บริการของธุรกิจในประเทศ และก็ยังมีปัจจัยสำคัญที่กรรมการผู้จัดการของธนาคารกลางแห่งชาติสิงคโปร์ ได้กล่าวถึงที่จะเพิ่มความแข่งแกร่งให้กับธุรกิจธนาคารของประเทศสิงค์โปร์ นั่นก็คือ การพัฒนาสิงค์โปร์ ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับธุรกิจเทคโนโลยี ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการวิเคราะห์ข้อมูล

โดยกรรมการผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เช่น การอนุมัติเงินกู้ ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับธนาคารแบบดั้งเดิม

ดั้งนั้น สิ่งที่สิงค์โปร์ต้องการ คือ ฐานข้อมูลของลูกค้าที่ยิ่งใหญ่มหาศาล (Big Data) และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientists) ที่มีคุณภาพ ซึ่งทั้งสองสิ่ง สิงค์โปร์ มีอยู่เหนือประเทศไทยอย่างแน่นอน ดังนั้น สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการย่อมต้องรู้ดีว่าระบบคอมพิวเตอร์ในคลาวด์ และศูนย์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ ที่ธุรกิจของไทย ซึ่งรวมถึงธนาคารในประเทศ มีการใช้งานสูงสุด อาจหนีไม่พ้นที่มีอยู่ในสิงคโปร์ และมีความเป็นไปได้สูงที่ข้อมูลของคนไทยที่มีอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในคลาวด์ และศูนย์ข้อมูล ของสิงคโปร์ อาจมีมากกว่าที่อยู่ในประเทศก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี การที่ธุรกิจธนาคารของไทยจะถูกดิสรัปชั่นโดย Virtual Banks ข้ามชาติจากสิงคโปร์ อาจยังไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้ถูกดิสรัปชั่นไปแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะธุรกิจธนาคารอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวด จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

แต่สิ่งที่อดถามไม่ได้ คือ เมื่อไหร่ธุรกิจดิจิทัลของไทย จะสามารถอยู่ในฐานะของการบุกตลาดประเทศอื่น แทนที่จะเป็นการเล่นเกมส์ตั้งรับ ทั้งที่ๆ ประเทศไทยมีผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงระบบดิจิทัลได้มากกว่าสิงค์โปร์อย่างน้อยราว 10 เท่า