ถกด่วน รับมือศก.ชะลอ ส่งออกหด4.5%

ถกด่วน รับมือศก.ชะลอ ส่งออกหด4.5%

พาณิชย์ประเมิน ส่งออกไทย ปีนี้ส่อติดลบ 1.5-2% หลังเดือน ต.ค. ยังหดตัวต่ออีก 4.5% ส่งผล 10 เดือนปี 62 หดตัวแล้ว 2.4% ยอมรับเดือนพ.ย. แนวโน้มติดลบต่อเนื่อง แต่มั่นใจธ.ค.ดีขึ้น เผยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออกไทยเดือนต.ค.2562 ปรับลดลง 4.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกในเดือนต.ค. 2.08 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกที่ปรับลดลงเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงมากกว่า 25% และสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งสินค้าเกษตรที่ยังส่งออกลดลงหลายรายการ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง 

ส่วนการส่งออกข้าว ลดลง 26.6% ซึ่งการส่งออกข้าวถือว่าหดตัวทั้งในแง่ของปริมาณและราคา จึงต้องส่งไปยังฝ่ายนโยบายให้ดำเนินการแก้ไขต่อไป

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การส่งออกสินค้าในเดือนต.ค. ถือว่ามีสัญญาณดีขึ้นจากการที่สินค้าบางรายการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมาก เช่นสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบสามารถกลับมาขยายตัวได้เป็นบวกในรอบ 13 เดือน สะท้อนให้เห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการต่อผลกระทบจากสงครามการค้า และการหาตลาดทดแทนได้ในระดับหนึ่ง 

ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกยังคงทรงตัวในระดับสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ได้ รวมทั้งข้อมูลการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักของไทยที่ในภาพรวมหดตัวเพียง 0.6% ถือว่าการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบน้อยกว่าอีกหลายประเทศ และมีบางตลาดที่ไทยยังรักษาการส่งออกไว้ได้ดีเช่นการส่งออกไปสหรัฐฯยังขยายตัวได้ 4.8% ญี่ปุ่นขยายตัวได้ 0.5% และตลาดตะวันออกกลางการส่งออกขยายตัวได้ 3.7% ส่วนตลาดการส่งออกสำคัญที่หดตัวได้แก่ อินเดียที่หดตัว 17.2% จากนโยบายการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง ตลาด CLMV หดตัว 9.9%ตลาดจีนหดตัว 4.2% เป็นต้น

ส่งออก10เดือนหดตัว2.4%

สำหรับข้อมูลการส่งออกและนำเข้า 10 เดือนของปี 2562 พบว่ามีการส่งออกรวม 2.07 แสนล้านดอลลาร์ลดลงจากปีก่อน 2.4% การนำเข้าอยู่ที่ 1.99 แสนล้านดอลลาร์ลดลง 4.1% โดยการนำเข้าที่ลดลงในเดือน ต.ค.กว่า 7.5% กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามการนำเข้าสินค้าเครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงในบางรายการที่อาจส่งผลให้การส่งออกระยะต่อไปลดลงได้

“ระยะที่ผ่านมาการส่งออกของไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ สะท้อนพื้นฐานการส่งออกที่ดีมีการกระจายตลาด สินค้า และมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวและกระจายการส่งออกในสินค้ากลุ่มใหม่ๆเช่น เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน เป็นต้น”

แนวโน้มพ.ย.ติดลบต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ สนค.คาดว่าในเดือน พ.ย.การส่งออกจะยังคงหดตัวต่อไปอีก 1 เดือน และจะขยายตัวได้อีกครั้งในเดือน ธ.ค.โดยการส่งออกทั้งปี 2562 คาดว่าจะติดลบประมาณ 1.5 - 2% ใกล้เคียงกับตัวเลขที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้แต่อาจไม่ได้ติดลบมากถึง 2% หากค่าเงินบาทไม่แข็งค่ามากกว่าระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก และราคาน้ำมันไม่ได้ปรับลดลงจากในระดับนี้มากนัก 

ส่วนการส่งออกในปีหน้า สนค.คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้โดยคาดว่าจะขยายตัวอย่างน้อย 2% โดยปัจจัยบวกที่สนับสนุนการส่งออกในปี 2563 ได้แก่  การปรับตัวต่อภาวะสงครามการค้าของผู้ประกอบการส่งออกที่ทำได้ดีขึ้น การหาตลาดและสินค้าใหม่ในการส่งออก ความมั่นใจของภาคเอกชนทั่วโลกมากขึ้นสะท้อนผ่านดัชนีฝ่ายจัดซื้อที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และหากมีข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างสหรัฐฯกับจีนในเรื่องสงครามการค้าในช่วงต้นปีหน้าก็จะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนการส่งออกได้มากขึ้นโดยเร็วๆนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป้าส่งออกอย่างเป็นทางการอีกครั้ง 

“กระทรวงพาณิชย์คาดว่าทั้งปีการส่งออกของไทยน่าจะติดลบ 1.5 -2 % จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 0% และในปี 2563 การส่งออกของไทยจะกลับมาบวกได้ต่อเนื่องจากเดือน ธ.ค.ที่คาดว่าจะเห็นการส่งออกกลับมาบวก จากปัจจัยสนับสนุน การปรับตัวของผู้ประกอบการต่อภาวะสงครามการค้า การทำตลาดใหม่ และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับทรงตัว” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว 

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ ได้แก่ความคืบหน้าในการจัดทำข้อตกลงเสรีทางการค้า (FTA)กับประเทศต่างๆ ได้แก่ FTA ไทย-สหภาพยุโรปซึ่งต้องมีการผลักดันให้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเจรจราหุ่นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกในอนาคต 

‘สมคิด’ถกด่วน‘อุตตม’รับมือศก.ชะลอ

การส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง และเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่มากขึ้นผ่านภาคการผลิตและการจ้างงาน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยวานนี้(21พ.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังกระทรวงการคลังเพื่อหารือเร่งด่วนกับ นายอุตตม สาวนายก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งยังได้เชิญ นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เข้าหารือถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวด้วย

โดย นายสมคิด กล่าวภายหลังการหารือในครั้งนี้ว่า ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้ คือ เรื่องความเชื่อมั่น ซึ่งเศรษฐกิจปีนี้เป็นปีที่สำคัญต้องไม่ให้แรงส่งในการสนับสนุนขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไป เพื่อที่จะได้เพียงพอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าและระยะต่อไปได้

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลัง ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการประกาศออกมาเร็ว ๆ นี้

“เศรษฐกิจช่วงเวลานี้สำคัญ ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของปีนี้ดีขึ้น เพื่อเป็นแรงส่งต่อให้เศรษฐกิจปีหน้า เพราะตอนนี้คนไม่รู้ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงต้องดูแลเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้แข็งแรง” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวถึงการส่งออกไทยในเดือนต.ค. 62 ที่ยังติดลบมากว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผลมาจากสงครามการค้าที่กระทบการส่งออกทุกประเทศในโลก ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหา

“ต้องยอมรับว่าการส่งออกที่ชะลอตัวมากโทษใครไม่ได้...ต้องไปถามกระทรวงพาณิชย์ว่าจะแก้ไขอย่างไร”