'ไอพีโอ' ไม่พ้นวิกฤต ปี 62 เข้าเทรด 27 บริษัท ผลตอบแทน 'ติดลบ' เฉลี่ย 19%
หุ้นไอพีโอปีนี้โชว์ผลงานน่าผิดหวัง ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 19% โดยราคาหุ้นเหนือจองเพียงแค่ 4 ตัว จาก 27 ตัว กลุ่มอสังหาฯ หนักสุด เทรดต่ำกว่าจองทั้งหมด นักวิเคราะห์มองราคาแพงกว่าหุ้นในตลาด
ในอดีตหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO เป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีคืนกลับมา โดยเฉพาะในช่วงแรกหลังการเข้าซื้อขาย
แต่สำหรับปี 2562 ภาพของหุ้นไอพีโอที่คุ้นชินกันในอดีตกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตลอดทั้งปีนี้ มีหุ้นไอพีโอที่เข้ามาระดมและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) รวม 11 ราย ระดมทุนไป 6.87 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของหุ้นทั้งหมดนี้ ณ ราคาปัจจุบัน(19ธ.ค.) ‘ติดลบ’ ประมาณ 6.21% ในจำนวนนี้มีเพียง 3 ราย ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก
หุ้นที่ขึ้นมายืนเหนือราคาจองทั้ง 3 ราย ได้แก่ บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) เพิ่มขึ้น 27% บมจ.ดูโฮม (DOHOME) เพิ่มขึ้น 20.5% และบมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น (ZEN) เพิ่มขึ้น 10% โดยทั้ง 3 บริษัทมีธุรกิจอยู่ในกลุ่มเกษตร และการบริการ
ส่วนหุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ยิ่งแย่ไปกว่านั้น เพราะจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนทั้งสิ้น 16 ราย ระดมทุนไปรวม 4.65 พันล้านบาท แต่มีเพียงแค่ 1 รายเท่านั้น ที่ราคาหุ้นปัจจุบันยืนอยู่สูงกว่าราคาจอง คือ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) เพิ่มขึ้น 6.4% ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
ส่วนค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นทั้งหมดในตลาด MAI ติดลบไปถึง 27.7% โดยรวมแล้วทำให้หุ้นไอพีโอที่เข้ามาระดมทุนทั้งหมดแล้วในปีนี้ 27 บริษัท ให้ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้นติดลบเฉลี่ยถึง 18.9% ขณะที่ดัชนี SET ยังยืนอยู่ได้ในระดับเดียวกันกับปีก่อน ส่วนดัชนี MAI ติดลบไป 12.8%
จากสถิติเหล่านี้ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่าหุ้น IPO ที่เสนอขายในระยะหลัง แพงเกินไปหรือไม่ หรือเป็นเพราะภาวะตลาดไม่เอื้อ?
ประเด็นนี้ร้อนไปจนถึงผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์อย่าง 'ภากร ปีตธวัชชัย' กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเคยบอกกับทีมข่าว ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ว่า โดยส่วนตัวไม่เป็นห่วงเรื่องจำนวนหุ้นไอพีโอที่เข้ามาในปีหน้า แต่กังวลเรื่องการตั้งราคาไอพีโอด้วยค่า P/E ที่สูง ซึ่งตอนนี้ก็กำลังพิจารณาอยู่ว่าควรจะมีการให้ข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มเติมแก่นักลงทุนได้อย่างไรบ้าง
ขณะที่ 'วิชัย วชิรพงศ์' หรือ 'เสี่ยยักษ์' มองว่า นอกจากเรื่องความแพงของราคาหุ้นไอพีโอแล้ว ปัญหาหนึ่งที่สำคัญในตลาดหลักทรัพย์ตอนนี้คือ ดีมานด์ที่หดหายไปจากตลาด
“ในอดีตหุ้นไอพีโอมักจะมีความต้องการที่ค่อนข้างสูง ทำให้นักลงทุนบางส่วนจำเป็นจะต้องรอซื้อหุ้นเหล่านั้นภายหลังจากเข้าตลาดไปแล้ว แต่ในปัจจุบันความต้องการในส่วนนี้หายไปมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะราคาสูง แต่อีกส่วนก็เพราะนักลงทุนส่วนมากทำผลตอบแทนจากตลาดได้ไม่ดี ซึ่งโดยส่วนตัวก็แทบจะไม่ได้ใช้สิทธิ์จองหุ้นไอพีโอในปีนี้เลย”
นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของหุ้นไอพีโอที่เข้าระดมทุนในปีนี้ จะเห็นว่าหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนดูเหมือนจะไม่เชื่อมั่น คือ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเข้ามาระดมทุนถึง 7 บริษัท แต่ราคาหุ้นกลับต่ำกว่าราคาจองทั้งหมด โดยเฉพาะในตลาด MAI ที่ผลตอบแทนติดลบถึง 33.5% และไม่เว้นแม้แต่หุ้นใหญ่ของ ‘เจ้าสัวเจริญ’ อย่าง บมจ.แอสเสท เวิรด์ (AWC) ที่ยังคงมีราคาต่ำกว่าราคาไอพีโอประมาณ 3.3%
'ณภัทร วรจรรยาวงศ์' นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ มองว่า หุ้นไอพีโอของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนติดลบค่อนข้างมาก น่าจะเป็นผลมาจากทั้งสองปัจจัย คือ ความแพง (เมื่อเทียบกับหุ้นที่จดทะเบียนอยู่แล้ว) และภาวะอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยดีนัก
สำหรับหุ้นไอพีโอของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ ค่าเฉลี่ย P/E น่าจะอยู่ที่ราว 8-9 เท่า เทียบกับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ที่ประมาณ 6-7 เท่า และเมื่อพิจารณาผลตอบแทนจาก 'เงินปันผล' ประกอบแล้ว ก็มักจะต่ำกว่าหุ้นขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นนักลงทุนที่สนใจหุ้นอสังหาริมทรัพย์ก็น่าจะเลือกซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดมากกว่า ด้วย P/E ที่ต่ำกว่า เงินปันผลที่สูงกว่า พร้อมความแข็งแรงของฐานทุนด้วย
หากมองไปในอนาคต จะเห็นว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ดูจะไม่ค่อยสดใสนัก ด้วยความต้องการซื้อในตลาดปีหน้าที่น่าจะหดตัว 5-7% เพราะปัจจัยลบต่างๆ ในปีนี้ที่จะยังคงอยู่ต่อไป ทั้งมาตรการ LTV และการคุมเข้มของธนาคารพาณิชย์
“แม้ความน่าสนใจของหุ้นไอพีโออสังหาฯ จะลดลงไปมาก แต่เชื่อว่าจะยังคงมีบริษัทที่ต้องการเข้าระดมทุนอยู่อีก แม้อาจจะไม่สามารถขายด้วยมูลค่าที่ดีนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนอยู่เริ่มขาดสภาพคล่องในบางจุด ประกอบกับการเข้าจดทะเบียนจะช่วยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์เองก็สามารถติดตามฐานะการเงินได้ง่ายขึ้นด้วย”
ขณะที่กลุ่มบริการเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เข้าระดมทุนถึง 7 บริษัท ในปีที่ผ่านมา ยกเว้น DOHOME ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกแล้ว อีก 6 รายที่เหลือ ราคาหุ้นปัจจุบันติดลบจากราคาขายในกรอบ 14 - 53%